Skip to main content

งานวิจัยใหม่ เผยข้อค้นพบที่น่าทึ่งว่า 'น้ำตา' ของผู้หญิง มีสารเคมีที่ 'ลดความก้าวร้าว' ในผู้ชายได้อย่างชัดเจน โดยทีมนักวิจัยต่อยอดจากผลงานวิจัยที่พบในสัตว์ฟันแทะนำมาทดลองกับคน

ผลการทดลอง พบว่า เมื่อผู้ชายสูดกลิ่นน้ำตาของผู้หญิง ทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวลดลงถึงร้อยละ 40 เช่นเดียวกับการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวก็ลดลงด้วยเช่นกัน การวิจัยนี้พบหลักฐานของการสื่อสารทางเคมีสังคมระหว่างกันที่ส่งผลต่อความก้าวร้าวของมนุษย์ ในแบบเดียวกับที่พบในสัตว์

งานวิจัยชิ้นใหม่นี้เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ PLOS Biology เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยซึ่งนำโดยชานี อากรอน จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ ของอิสราเอล พบว่า การสูดกลิ่นน้ำตาส่งผลให้กิจกรรมของสมองที่เกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวลดลง และส่งผลให้พฤติกรรมก้าวร้าวลดลงด้วยเช่นกัน

การศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่าน้ำตาของสัตว์ฟันแทะตัวเมียสามารถลดความก้าวร้าวของตัวผู้ได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสื่อสารผ่านสารเคมีทางสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการที่พบได้ทั่วไปในสัตว์

เพื่อตรวจสอบว่าน้ำตาส่งผลกับมนุษย์เช่นเดียวกันหรือไม่ นักวิจัยออกแบบเกมเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้เล่น โดยหลอกให้ผู้ชายเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งโกง เมื่อมีโอกาสผู้ชายสามารถเอาคืนได้ด้วยการทำให้อีกฝ่ายเสียเงิน ขณะเล่นเกม นักวิจัยให้ผู้ชายสูดกลิ่นโดยไม่ให้ทราบว่ากำลังสูดกลิ่นอะไร ระหว่างน้ำตาผู้หญิงและน้ำเกลือ

การทดลองพบว่า หลังจากผู้ชายสูดกลิ่นน้ำตาที่มาจากอารมณ์สะเทือนใจของผู้หญิง พฤติกรรมความก้าวร้าวของผู้ชายที่ต้องการล้างแค้นระหว่างเกมลดลงมากกว่าร้อยละ 40

การทดลองซ้ำโดยใช้เครื่อง MRI แสดงให้เห็นบริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวกับความก้าวร้าว ได้แก่ เยื่อสมองส่วนหน้า และ anterior insula ซึ่งตอบสนองต่อความรู้สึกทางอารมณ์ ซึ่งจะทำงานมากขึ้นเมื่อผู้ชายถูกยั่วยุระหว่างการเล่นเกม แต่กลับทำงานน้อยลงในสถานการณ์เดียวกันเมื่อสูดกลิ่นน้ำตาของผู้หญิง ยิ่งความแตกต่างของกิจกรรมสมองในส่วนนี้มีมากเท่าไหร่ ความรู้สึกอยากล้างแค้นก็จะน้อยลงเท่านั้น

การค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างน้ำตา กิจกรรมสมอง และพฤติกรรมก้าวร้าว แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารผ่านสารเคมีทางสังคมมีบทบาทต่อความก้าวร้าวของมนุษย์ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะในสัตว์