นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ บนเกาะอังกฤษ กำลังศึกษาถึงความลับของการมีชีวิตที่ยืนยาวและการมีสุขภาพดี ว่าแท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับการนอนหลับอย่างเพียงพอและสภาพดีเอ็นเอของเราหรือไม่
โดยทั่วไป คนที่สูงอายุจะนอนหลับได้น้อยลง และหลับๆ ตื่นๆ บ่อยขึ้น รวมทั้งมีช่วงเวลาหลับลึกที่สั้นลง หรือฝันขณะที่หลับมากกว่าคนหนุ่มสาว การศึกษาจำนวนมากเผยว่า การนอนหลับที่ไม่เป็นปกตินี้มีความเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ
ศาสตราจารย์อีมอน มัลลอน หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะพันธุกรรมศาสตร์และชีววิทยาจีโนม มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ เผยว่า กำลังศึกษา epigenetic clock ซึ่งเป็นการทดสอบทางชีววิทยาที่ใช้วัดอายุหรือการชราภาพ มาเป็นเครื่องมือในการวัดความชราของตัวต่อนางงามที่เกิดจากถูกรบกวนไม่ให้นอนหลับตอนกลางคืน
epigenetic clock จะวัดปริมาณสารเคมีที่เกาะติดกับดีเอ็นเอ ซึ่งเรียกว่า ดีเอ็นเอเมธิลเลชัน (DNA methylation) ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ และอาจบ่งชี้ถึงกระบวนการชราภาพที่ควบคุมโดยพันธุกรรม
ในการวิจัยนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า epigenetic clock สามารถคาดการณ์อายุขัยของตัวต่อนางงามได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำให้ตัวต่อเหล่านี้เป็นสัตว์จำลองที่เหมาะสำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอเมธิลเลชัน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการชราภาพที่เป็นผลจากการนอนหลับที่ไม่ปกติหรือไม่
โดยธรรมชาติ ตัวต่อนางงามจะหลับเวลากลางคืนเช่นเดียวกับมนุษย์ ในการทดลองนักวิจัยจะรบกวนไม่ให้ตัวต่อนางงามนอนหลับในตอนกลางคืน เพื่อดูว่าส่งผลต่ออายุขัย คุณภาพชีวิต และ epigenetic clock อย่างไร หากการทดลองนี้สำเร็จ ก็อาจบ่งชี้ได้ว่า การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้แก่เร็วและเสียชีวิตเร็วขึ้น
ศาสตราจารย์มัลลอนกล่าวว่า ตัวต่อนางงามเป็นสัตว์ทดลองที่ดีในการศึกษาการแก่ชรา เพราะเป็นแมลงชนิดแรกที่มีการยืนยันว่ามีกระบวนการดีเอ็นเอเมธิลเลชัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก่ชรา นอกจากนี้ ตัวต่อนางงามยังมีอายุขัยสั้น ทำให้สามารถศึกษาผลกระทบของการแก่ชราได้อย่างรวดเร็ว และเปรียบว่า มันคือมนุษย์ในเวอร์ชั่นขนาดจิ๋ว
ทั้งนี้ การแก่ชราเป็นกระบวนการทางชีววิทยาที่ซับซ้อนเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม ซึ่งยากที่จะศึกษาโดยเฉพาะในมนุษย์ ศาสตราจารย์มัลลอนกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุด คือต้องการช่วยให้คนนอนหลับได้ดีขึ้นในขณะที่กำลังแก่ชรา และสิ่งนี้อาจช่วยยืดอายุขัยของคนเหล่านี้ออกไปได้