Skip to main content

 

Libertus Machinus
 


สำหรับคนที่เดินทางไปอเมริกา อเมริกา คือ "ดินแดนแห่งโอกาส" ที่เต็มไปด้วยโอกาสทำงาน โอกาสรวย มีแต่คนขี้เกียจเท่านั้นที่จะไม่มีกินในสหรัฐอเมริกา และที่เห็นเป็นคนจน จริงๆ คือคนขี้เกียจ

คนอเมริกันที่โตมาในอเมริกาคิดแบบนั้นจริงๆ และบางทีคนอเมริกันก็จะรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติระดับที่ส่งวิธีคิดแบบนี้ออกไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง นี่ไม่ใช่ความคิดที่ปกติของคนในโลก และสำหรับคนอเมริกัน การต้อง "ใช้ชีวิต" ท่ามกลางคนมีทัศนคติด้านการมีชีวิตและการทำงานที่ต่าง สุดท้ายก็ทำให้คนเริ่มเห็นความเป็นอเมริกันของตัวเอง

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเจอคนที่ "สโลว์ไลฟ์" จัดๆ เราจะตั้งคำถามว่า เราทำ "ผลิต" หรือ "ทำงาน" อะไรกันไปเยอะแยะเอง

เรื่องนี้มาจากสาวอเมริกันวัย 40 ปี ที่ไปเกษียณที่อิตาลีเมื่อ 11 ปีก่อนกับครอบครัว ตอนเธออายุ 29 ปี

เธอคล้ายครอบครัวอเมริกันที่ "รวยเร็ว" จำนวนมาก เธอและสามีทำเงินได้รวดเร็วช่วงแรกของการทำงาน และเนื่องจากสมัยนี้ อุดมคติของชีวิตคือ การได้ "เกษียณเร็ว" เงินทุนของเธอกับสามีไม่เพียงพอจะเกษียณที่อเมริกา เธอลองตรวจสอบว่าจะไปเกษียณที่ไหนได้ และเธอก็พบว่าในยุคโน้น พื้นที่บ้านและที่ดินถูกจัดๆ คืออิตาลีทางใต้ ซึ่งก็เรียกว่า เธอเป็นผู้บุกเบิกเลย เพราะหลังจากนั้นบ้าน และที่ดินในโซนนี้คือราคาตกสุดๆ คนอยู่น้อย รัฐบาลท้องถิ่นเอาบ้านมาขาย 1 ยูโรเพื่อกระตุ้นให้คนไปอยู่

ครอบครัวเลือกจะย้ายจากชีวิตในเมืองใหญ่ที่อเมริกา มายังเมืองเล็กๆ ทางใต้ของอิตาลีอยู่กลางหุบเขาที่ชื่อ "เมืองมอร์มันโน"

แน่นอน เธออยู่ที่นี่เพราะค่าครองชีพถูก เงินทุนที่เธอสะสมจากอเมริกาไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตในชนบทอเมริกาด้วยซ้ำ แต่เพียงพอจะใช้ชีวิตที่นี่ เธอไม่ได้เล่าว่าเธอมีเงินทุนเท่าไร แต่ถ้าใครศึกษาเรื่องอเมริกาก็รู้ว่า แม้แต่ในชนบทค่าครองชีพมันก็โหดกว่าในเมืองใหญ่ๆ ยุโรปหลายๆ เมือง และสำหรับเธอ การย้ายมาอยู่ชนบทที่อิตาลี ซึ่งเงินพอใช้แบบสบายๆ

แต่สิ่งที่เธอช็อคไม่ใช่ค่าครองชีพที่ถูก แต่เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังค่าครองชีพที่ถูก

ชนบทอิตาลีทุกคนชิล ไม่มีใครรีบทำการทำงาน การนั่งคุยกันตามร้านกาแฟตอน 10 โมงเช้าไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารอะไร การเดินๆ อยู่เจอคนรู้จักแล้วคุยกันยาวๆ เป็นชั่วโมงก็ไม่แปลก

สาวอเมริกันช็อค เพราะเธอไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต เพราะในจารีตอเมริกา "ดินแดนแห่งโอกาส" มันสอนเธอมาตลอดชีวิตว่า "ทุกคนต้องทำงาน ไม่งั้นก็ไม่มีค่า" ถึงเวลาทำงาน ทุกคนต้องทำ และก้มหน้าก้มตากับงาน ห้ามสนใจอย่างอื่น แต่สิ่งที่เธอเจอในอิตาลีเป็นคนละโลก ทุกคนมีสิทธิ์จะนั่งเฉยๆ ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน

ในอิตาลีมีคำเรียกความชิลแบบนี้เลยว่า "dolce far niente” ซึ่งแปลตรงๆ น่าจะแปลได้ว่า "การไม่ทำอะไรเลยอันแสนหวาน" ซึ่งความหมายก็คือ คนมันไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ไม่เห็นเป็นอะไร

คนอเมริกันไม่คิดแบบนี้ "ผลิตภาพ" คือ ทุกอย่าง มนุษย์ที่ไร้ผลิตภาพ คือ มนุษย์ที่ไม่ควรจะอยู่บนโลก ดังนั้นคนอเมริกันจะบ้าฝึกฝนตัวเองให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และทำหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ คือ ดี เช่น เวลาออกกำลังกายก็ควรจะฟัง Podcast เสริมความรู้ไปด้วย

สาวอเมริกันรายนี้บอกว่า เธอใช้เวลานานหลายปีมากในการยอมรับว่า การ "ไม่ทำอะไรเลย" คือเรื่องปกติของชีวิตได้ ซึ่งตอนแรกเธอรับไม่ได้เลยว่า ใน "เวลาทำงาน" ชาวเมืองถึงนั่งชิลกันทั่วเมืองได้แบบนั้น ซึ่งชาวเมืองก็เป็นมิตรพอที่จะเชิญเธอไปทำโน่นนี่ แต่ตอนแรกเธอลังเลมาก เพราะเธอไม่เข้าใจว่าอะไรคือการนั่งกินกาแฟกันในเวลา 10 โมงในวันธรรมดาของคนวัยทำงาน? แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็เริ่มยอมรับมากขึ้น ไปนั่งคุยกับชาวเมือง และเธอก็เห็นความเป็นอเมริกันของตนในที่สุด

ก่อนหน้านี้ เธอจะตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า "ทำไมคนพวกนี้ถึงขี้เกียจ?” แต่พออยู่ไปนานๆ เห็นว่าการ "ไม่ทำอะไร" ก็ไม่ได้ทำให้ใครตาย และทำให้ชีวิตทุกคนชิล เธอเลยเริ่มตั้งคำถามว่า "ทำไมเราถึงบ้าผลิตภาพขนาดนั้น?”

ลองคิดดีๆ "มาตรฐานอเมริกัน" ทุกอย่างของชีวิตที่ดีต้องใช้เงิน การไม่มีงานก็ไม่มีเงินมาสร้างชีวิตที่ดี ซึ่งผลก็คือทุกคนบ้าทำงานหาเงิน เพราะนั่นคือวิถีของชีวิตที่ดีในสไตล์อเมริกัน

แต่สำหรับคนอิตาลีบ้านนอก ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ไม่เร่งรีบ ไม่ต้องบริโภคอะไรมากมาย แต่แค่สามารถนั่งทอดหุ่ยไม่ต้องทำอะไรที่จตุรัสกลางเมืองได้ยาวเป็นชั่วโมงเพื่อคิดอะไรไปเรื่อย อันนี้คือชีวิตที่ดีแล้ว และพอชีวิตที่ดีมัน "นั่งเฉยๆ ก็มีได้" คนอิตาลีเลยไม่ได้มองว่า การเร่งทำงานหาเงินเยอะๆ จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีได้

ประเด็นของเรื่องราวนี้ คงไม่ใช่ว่าชีวิตที่ดีคืออะไร? แต่เป็นเรื่องของการที่ "ประสบการณ์ต้องเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมที่ต่างออกไป" มันสามารถ "เปลี่ยน" ตัวเราได้จริงๆ หรืออย่างน้อยมันทำให้เราได้ทบทวนว่า สิ่งที่เราเป็น มันไม่ใช่สัจธรรม แต่แค่เป็นความเชื่อของกลุ่มคนหนึ่งในพื้นที่และเวลาหนึ่ง ซึ่งกลุ่มคนในพื้่นที่และ/หรือเวลาอื่นๆ เค้าก็อาจไม่ได้คิดแบบเดียวกัน แต่ชีวิตพวกเค้าก็ดำเนินไปได้ ชุมชนและสังคมก็อยู่ได้ ผลิตซ้ำตัวเองได้ไม่ได้ต่างจากเรา

ประเด็นก็ไม่ใช่จบแค่ว่า คนคิดต่างกัน ก็จบ แต่ถ้าเราคิดต่อในคำถามว่า "แล้วมันนำไปสู่อะไร?” เราก็จะเห็นเลยว่าสังคมอเมริกันถือว่าดูแล "คนเลยวัยทำงาน" ได้แย่มากในทุกมิติ เพราะสังคมไม่เคยเชื่อว่าคนที่ "ไม่ทำงาน" ควรจะอยู่บนโลกได้ กลับกัน สังคมแบบบ้านนอกอิตาลีหรือยูโรปไม่ได้คิดแบบนี้ คนไม่ทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ได้ไร้ค่าอะไร เค้าแค่อยู่อีกขั้นของชีวิต ไม่ได้ผิดบาปอะไรที่จะดำรงอยู่ และก็ไม่แปลกที่รัฐยุโรปมีมาตรการดีกว่าฝั่งอเมริกันเยอะ

ซึ่งตลกร้ายก็คือ ใน "ดินแดนแห่งโอกาส" อย่างอเมริกา สุดท้ายคนแก่ๆ มีคำถามเดียวกันหมดว่า "จะไปเกษียณที่ไหนดี" เพราะสุดท้าย "โอกาส" ของ "ไม้ใกล้ฝั่ง" คือ โอกาสตายเพราะขาดการช่วยเหนือจากครอบครัวหรือรัฐ หรือคือโอกาสล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล ไม่ใช่แค่โอกาสที่จะร่ำรวยแต่อย่างใด


อ้างอิง
I'm an American who moved to Italy 11 years ago. It's completely changed my definition of success.
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน