Skip to main content

 

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการไม่มีงานทำ โดยเฉพาะคนที่เรียนจบใหม่ ขณะที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาท้าทายและเริ่มแทนที่ตำแหน่งงานหลายอย่าง สร้างความกังวลต่อการสร้างงานเพิ่ม และความมั่นคงในชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น  

สภาพการว่างงานและการจ้างงานค่าแรงต่ำในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นความท้าทายที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะกับคนที่เรียนจบปริญญา แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ AI ที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ด้วยตัวเอง หรือ  Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับตำแหน่งงานหลายอย่าง โดยเฉพาะงานนั่งโต๊ะที่ใช้ทักษะสูง และมีค่าแรงสูง

บทความ “Will Generative AI make good jobs harder to find?” บนเว็บไซต์ของ ธนาคารโลก ระบุว่า นับจากปี 1990 จำนวนคนที่เข้าเรียนต่อระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 42 ในปี 2022 แต่ในปี 2023 มีคนหนุ่มสาวทั่วโลกถึงร้อยละ 20 ที่ไม่มีงานทำ หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมด้านทักษะอาชีพ โดย 2 ใน 3 เป็นผู้หญิง ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา เกินครึ่งของคนที่จบมหาวิทยาลัยต้องทำงานในตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าวุฒิปริญญาตรี

สอดคล้องกับผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของ Hiring Lab ที่ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกามีคนที่เรียนจบระดับปริญญาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะสูงจำนวนมากพอรองรับ ทำให้คนที่จบปริญญาในสหรัฐต้องทำงานที่ใช้ทักษะต่ำ และได้รับค่าแรงต่ำ

ผลสำรวจพบทัศนคติของคนรุ่นใหม่พบว่า ร้อยละ 51 ของคนเจน Z มองว่า การเรียนระดับปริญญาของพวกเขาเป็นการใช้เงินไปแบบสูญเปล่า และก่อให้เกิดภาระหนี้สินติดตัวต่อเนื่องไปจนกระทั่งทำงาน โดยร้อยละ 58 ของคนวัยทำงานในสหรัฐต้องแบกภาระจ่ายหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ภาวะดังกล่าวเมื่อประกอบกับค่าจ้างที่หยุดนิ่ง สวนทางกับค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดจึงนำมาสู่คำถามของคนรุ่นใหม่ถึงประโยชน์และความจำเป็นของการเรียนระดับปริญญาในสภาวะที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่

คนรุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ตกอยู่สภาพที่ไม่ต่างกัน บทความบนเว็บไซต์ธนาคารโลก เผยว่า มีคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 มีการศึกษาสูงกว่าชั้นมัธยมและไม่ถูกจ้างงาน ขณะที่คนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากในประเทศเหล่านี้มีการศึกษาเพียงระดับพื้นฐาน

ในเขตซับซาฮาราของแอฟริกา ราว 3 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่อายุ 25 ถึง 29 ปี ประกอบอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง เช่น อาชีพอิสระ หรืองานชั่วคราว ในกลุ่มประเทศอาหรับและแอฟริกาเหนือ 1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่ไม่มีงานทำ ขณะที่ประเทศจีน ข้อมูลทางการเผยว่า เมื่อกลางปี 2023 มีชาวจีนรุ่นใหม่มากกว่าร้อยละ 20 ที่ว่างงาน

ในท่ามกลางวิกฤตคนรุ่นใหม่กับความมั่นคงด้านการทำงาน การปรากฏตัวของผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง GenAI ได้เข้ามามีบทบาทแข่งขันในตลาดงาน นำมาสู่คำถามว่า เทคโนโลยี AI จะเป็นทางออกของปัญหา หรือจะยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่เดิมซ้ำร้ายลงอีก

บทความของธนาคารโลกระบุว่า GenAI จะเติบโตมากขึ้น และจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมและรูปแบบการผลิต โดยเฉพาะกับภาคบริการที่มีตำแหน่งงานใช้ทักษะสูง เนื่องจาก GenAI ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำงานแทนอาชีพเหล่านี้ซึ่งเดิมใช้คนที่เรียนจบปริญญา เช่น การเงินและประกันภัย บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยอุตสาหกรรมบริการที่ใช้ทักษะสูง ค่าตอบแทนสูง และมีความเป็นดิจิทัลสูง มีความเปราะบางมากที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจาก  GenAI

ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางต่างตั้งความหวังไว้กับภาคบริการที่ใช้ทักษะสูง แต่ก็ต้องอยู่ในสภาพดิ้นรนในการสร้างงานเพิ่มให้กับประชากรรุ่นใหม่ บทความระบุว่า มีหลายประเทศสามารถสร้างงานในภาคบริการที่ใช้ทักษะสูงเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อยในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งการเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ประเทศรายได้สูง มีแรงงานราวร้อยละ 13 ถึง 20 ที่ทำงานในภาคส่วนนี้ ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มีแรงงานที่เข้ามามีส่วนร่วมสัดส่วนที่ร้อยละ 6 ถึง 10 และในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ สัดส่วนของแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคนี้อยู่ที่ 0 ถึงร้อยละ 4  

คำถามที่ท้าทายสำหรับอนาคตการจ้างงานของคนรุ่นใหม่ คือ AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร ในบทความวิเคราะห์ว่า ถ้า AI ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วน และไม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคในระยะยาว ผลประโยชน์ระยะสั้นจากการเติบโตของ AI อาจจะไม่มากอย่างที่คาดหวัง

สัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการที่ใช้ทักษะสูง อาจหยุดนิ่งหรือลดลงในที่สุด ในขณะที่รายได้ที่สูงขึ้นจะเพิ่มความต้องการบริการที่ใช้ทักษะสูง แต่ความก้าวหน้าของ AI จะเข้ามาแทนที่พนักงานซึ่งทำงานในสำนักงาน  ทำให้ตำแหน่งงานมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มภาคบริการที่ใช้ทักษะต่ำมากขึ้น

บทความระบุด้วยว่า AI อาจเป็นตัวจำกัดโอกาสในการสร้างงานที่มีคุณภาพในภาคบริการที่ต้องใช้ทักษะสูง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และอาจนำไปสู่ภาวะ “premature de-professionalization” หรือการลดบทบาทของงานวิชาชีพก่อนถึงเวลาอันควร

บทความชี้ว่า ประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำ AI มาใช้ หากไม่ยอมรับหรือดำเนินการล่าช้าในการนำ AI มาใช้ อาจทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันในภาคบริการที่ใช้ทักษะสูง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่เคยได้เปรียบอยู่แล้ว หรือยากที่จะพัฒนาความได้เปรียบใหม่ ๆ ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้อาจติดอยู่ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนต่างๆ และการจ้างงานกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรมและบริการที่ใช้ทักษะต่ำ ในทางกลับกัน หากนำ AI มาใช้ให้เกิดผลสำเร็จและทันเวลา อาจช่วยกระตุ้นการพัฒนาความได้เปรียบใหม่ในภาคการผลิตหรือภาคบริการที่ใช้ทักษะสูง

ท้ายบทความ ระบุว่า หากประเทศกำลังพัฒนานำ AI มาใช้ไม่ทันเวลา อาจทำให้ต้องประสบปัญหาการสร้างงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้เกิดภาวะว่างงาน หรือการทำงานที่ไม่ตรงกับความสามารถ ซึ่งกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีคนรุ่นใหม่มากกว่า 1.2 พันล้านคนในประเทศซีกโลกใต้เข้าสู่วัยทำงาน ขณะที่คาดว่าจะมีการสร้างงานใหม่ได้เพียง 420 ล้านตำแหน่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่อีกหลายร้อยล้านคนไม่มีความแน่นอนในเรื่องอนาคตของการทำงาน


อ้างอิง
Will Generative AI make good jobs harder to find?
Report: 51% of Gen Z Views Their College Degree as a Waste of Money