Skip to main content

 

การศึกษาชิ้นใหม่ของทีมวิจัยชาวจีน พบความเกี่ยวข้องระหว่าง “ความโดดเดี่ยว” กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการ “สูญเสียการได้ยิน” โดยพบว่า มีผลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

การศึกษานำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทียนจิน, วิทยาลัยแพทย์เสิ่นหยาง, วิทยาลัยการแพทย์โรงพยาบาลเซิงจิง และมหาวิทยาลัยฮ่องกง ตีพิมพ์ใน Health Data Science เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบหลักฐานที่แน่ชัดถึงความโดดเดี่ยวว่าเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน

ในการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาราว 5 แสนคน เป็นเวลานานกว่า 12 ปี และพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนว่า “ความโดดเดี่ยว” ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการสูญเสียการได้ยิน แม้จะทีมวิจัยจะมีการปรับเรื่องความเสี่ยงจากพันธุกรรม สภาพร่างกาย และปัจจัยเรื่องไลฟ์สไตล์แล้วก็ตาม แต่ยังพบว่า คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมีความเสี่ยงสูงขึ้นร้อยละ 24 ที่จะมีโอกาสสูญเสียการได้ยิน โดยเฉพาะอาการประสาทหูเสื่อม

การสูญเสียการได้ยิน เป็นหนึ่งในปัญหาทางด้านสุขภาพที่พบบ่อย ซึ่งทั่วโลกมีผู้ที่สูญเสียการได้ยินราว 1.5 พันล้านคน และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมและเรื่องสุขภาพ แต่ปัจจัยทางด้านสุขภาพจิตอย่างเช่น ความเหงาและความโดดเดี่ยว เป็นสิ่งที่เพิ่งมีการศึกษา โดยการศึกษานี้เป็นการทดสอบว่า ความเหงาไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยข้างเคียงที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน แต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าว

นักวิจัยใช้ข้อมูลของผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 490,865 คน จากการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ยต่อคนที่ 12.3ปี โดยวัดความเหงาจากการรายงานตัวเองของผู้ที่ร่วมการวิจัย ร่วมกับบันทึกสุขภาพที่ระบุถึงการสูญเสียการได้ยิน

นักวิจัยระบุว่า ความสัมพันธ์นี้มีความชัดเจนเป็นพิเศษกับการสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ซึ่งเป็นผลจากความเสียหายของหูชั้นใน หรือความเสียหายของเส้นประสาทรับเสียง และพบว่ามีผลกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

นักวิจัยระบุว่า มีหลายกลไกที่อาจอธิบายความสัมพันธ์นี้โดยสาเหตุมาจากความโดดเดี่ยว เช่น การอักเสบที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวจากความโดดเดี่ยว ความเครียดและความดันโลหิตสูง โรคเรื้อรัง และพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ การนอนน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลโดยรวมที่ทำให้ระบบประสาท รวมถึงประสาทหู ค่อยๆ เสื่อมลง

ทีมวิจัยยืนยันว่า ผลการวิจัยยังคงมีความแม่นยำ แม้จะลองเปลี่ยนวิธีวิเคราะห์ หรือนำกลุ่มตัวอย่างบางส่วนออกไป แต่ผลที่ออกมายังคงเป็นไปในแบบเดียวกัน


ที่มา
Loneliness Linked to 24% Higher Risk of Hearing Loss