Skip to main content

สรุป

  • ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำฉบับปรับปรุงของ UN ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ต้องขัง
  • อย่างไรก็ตาม การละเมิดทางจิตใจและร่างกาย การเลือกปฏิบัติ และดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำและในกระบวนการยุติธรรมหลายแห่งทั่วโลก
  • องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากลระบุว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงจำนวนมาก ไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องขัง เน้นการลงโทษ แต่ละเลยเป้าหมาย “ลดการกระทำผิดซ้ำ”
  • UNODC สนับสนุนให้ปฎิรูประบบเรือนจำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินคดีและปัญหาสังคมอื่นๆ ที่จะตามมา เพราะการคุมขังกระทบทั้งทรัพยากรบุคคลและงบประมาณสาธารณะ

กรมราชทัณฑ์ของไทยถูกกดดันจากกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี ‘อานนท์ นำภา’ หรือ ‘ทนายอานนท์’ แกนนำกลุ่มราษฎร เปิดเผยว่ามีความพยายามนำตัว ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘ไมค์’ ภานุพงศ์ จาดนอก ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ไปยังส่วนอื่นของเรือนจำพิเศษกรุงเทพกลางดึก 15 มี.ค.2564 ขณะที่ ‘กฤช กระแสร์ทิพย์’ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แจงว่า เป็นการนำตัวไปตรวจ ‘โควิด-19’ ซึ่งอานนท์มองว่าเป็นเรื่อง ‘ผิดวิสัย’

ขณะที่ทนายของ ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ หรือเพนกวิน หนึ่งในกลุ่มราษฎร ระบุก่อนหน้านี้ว่า พรืษฐ์ถูกนำตัวไปอยู่ ‘แดน 5’ ซึ่งเป็นแดนของนักโทษเด็ดขาด ทั้งที่เขายังเป็นเพียงผู้ต้องหาที่รอการพิจารณาคดี ทำให้กฤชชี้แจงว่าพื้นที่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพค่อนข้างจำกัด จึงต้องบริหารจัดการสัดส่วนพื้นที่ที่เหมาะสม และย้ำอีกว่าผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรได้แยกขังไปยังแดนต่างๆ ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวทำให้ The Opener สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) ที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ (Mandela Rules) ในฐานะที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำและกระบวนการยุติธรรมของประเทศภาคีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติทั่วโลก รวมถึงไทย เพื่อเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำของไทย สอดคล้องกับแนวทางในข้อกำหนดสากลหรือไม่

::: มีอะไรใน ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ :::

ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ถูกเรียกว่า ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ เนื่องจากการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องดังกล่าวสำเร็จลุล่วงที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศเซาท์แอฟริกา จึงนำชื่อ ‘เนลสัน แมนเดลา’ อดีตผู้นำเซาท์แอฟริกามาตั้งเป็นชื่อข้อกำหนดนี้ เนื่องจากแมนเดลาถูกจำคุกนานราว 27 ปี จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและเหยียดผิว 

ข้อกำหนดมีผลครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) และมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในเดือน ธ.ค.2015 (พ.ศ.2558) เพื่อให้เนื้อหาทันสมัยขึ้น และข้อกำหนดฯ ฉบับปรับปรุงถูกตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแนวทางบริหารจัดการเรือนจำที่ดี และต้องรับประกันว่า “สิทธิของผู้ต้องขังต้องได้รับความเคารพ”


อย่างไรก็ตาม องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล Penal Reform International (PRI) จัดทำรายงาน Balancing security and dignity in prisons: a framework for preventive monitoring ระบุว่า หลายประเทศยังมีปัญหาละเมิด คุกคาม ทำร้ายและเลือกปฏิบัติ รวมถึงดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง จึงเรียกร้องให้ทุกๆ ประเทศพิจารณาปฏิรูประบบเรือนจำ

PRI ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในเรือนจำมีวิธีการต่างๆ ที่จะละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง ทั้งการแบ่งประเภทผู้ต้องขังแบบที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เช่น ผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่มีบทลงโทษสูง ถูกเพ่งเล็งและจับตามากกว่าผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ, การแยกขังเดี่ยว, การค้นตัวแบบเปิดเผยทำให้ผู้ต้องขังได้รับความอับอาย, การใช้ตรวน โซ่ หรืออุปกรณ์ตีตรา ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ระบบเรือนจำไม่สามารถลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังได้ แต่กลับกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจาก PRI แล้ว สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สนับสนุนให้รัฐบาลทั่วโลกปฏิรูประบบเรือนจำ โดยให้เหตุผลว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจนติดคุกมากกว่าคนที่มีฐานะ เพราะไม่มีเงินประกันตัว แม้บางคดีจะไม่มีบทลงโทษร้ายแรง รวมถึงคดียาเสพติดที่คนติดคุกส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ค้ารายย่อย แต่การติดคุกส่งผลผลกระทบเรื้อรังด้านสุขภาพกายและใจ ตลอดจนสูญเสียโอกาสในชีวิต ทำให้ประเทศชาติสูญเสียทั้งทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ 

นอกจากนี้ UNODC ยังย้ำด้วยว่า สิทธิที่ผู้ต้องขังถูกลิดรอน มีเพียงสิทธิในการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี แต่สิทธิในด้านอื่นๆ ต้องได้รับการคุ้มครองอยู่เช่นเดิม

::: มาตรฐานสากล VS มาตรฐานแบบไทยๆ :::

หากพิจารณากรณีอานนท์ ไผ่ ไมค์ และเพนกวิน โดยเทียบกับแนวทางปฏิบัติในเรือนจำที่อ้างอิงกับข้อกำหนดแมนเดลา ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นได้ว่า ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานไทยปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เกี่ยวพันกับคดีการเมืองทั้งหมดนี้อย่างสอดคล้องกับแนวทางสากลที่ควรจะต้องยึดเป็นแบบอย่างหรือไม่ เช่น

การคัดกรองด้านสุขภาพ (ข้อกำหนดที่ 30, 34) ระบุว่า “บุคลากรทางการแพทย์ต้องตรวจร่างกายผู้ต้องขังทุกคนโดยไม่ชักช้า นับตั้งแต่แรกรับตัวไว้ในเรือนจำ ข้อกำหนดนี้ระบุว่าการตรวจร่างกายเบื้องต้นไม่ควรเป็นเพียงการประเมินความต้องการด้านสุขภาพ และการให้การรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ควรรวมถึงการระบุสภาวะความเครียดทางจิตใจ และร่องรอยใดๆ จากการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย ซึ่งจะต้องมีการบันทึกข้อมูลและรายงานกรณีดังกล่าวให้แก่หน่วยงานที่มีอำนาจต่อไป” จึงไม่แปลกที่สังคมไทยบางส่วนจะตั้งคำถามว่า การนำตัวไผ่และไมค์ไปตรวจโควิด-19 ตอนกลางคืน เป็นการปฏิบัติที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ 

การแยกประเภทผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดที่ 11) ระบุว่า “ผู้ต้องขังต่างประเภทกันต้องได้รับการคุมขังที่แยกจากกัน เพื่อเป็นการคุ้มครองและจัดให้มีการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ผู้ต้องขังรายนั้น หลักการนี้ใช้ในกรณีแยกผู้ต้องขังชายและหญิง ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีและผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด ผู้ต้องขังที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่” ซึ่งข้อนี้เทียบได้กับกรณีของเพนกวินที่ถูกนำไปขังที่ ‘แดน 5’

การนอน (ข้อกำหนดที่ 12-14, 42, 113) ระบุว่า “...ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีควรได้นอนในห้องนอนเดี่ยว...และในกรณีที่เป็นระบบเรือนนอนรวมจะต้องใช้ความระมัดระวังในการคัดเลือกผู้ต้องขังที่จะต้องนอนห้องเดียวกัน...” แต่ข้อมูลส่วนนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ

การติดต่อกับโลกภายนอก/ ครอบครัวและเพื่อน (ข้อกำหนดที่ 43, 58-60, 68, 70) ระบุว่า “ผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนของตนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรศัพท์หรือจดหมาย ห้ามมิให้ลงโทษทางวินัยโดยการห้ามเยี่ยม โดยเฉพาะกับผู้ต้องขังหญิงและบุตร นอกจากนี้ ผู้ต้องขังมีสิทธิในการแจ้งครอบครัวหรือเพื่อนของตนเพื่อให้ทราบถึงการคุมขัง การโอนตัวไปยังสถานที่คุมขังอื่น และอาการเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บร้ายแรงใดๆ...” 

ที่มา:

Why promote prison reform?

Handbook: Prison Reform and Alternatives to Imprisonment

Thailand seeks more prison space for new political prisoners

Balancing security and dignity in prisons: a framework for preventive monitoring

คู่มือฉบับย่อ (PRI) ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังฉบับปรับปรุง

• การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังไทยตามแนวทางสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (กรมราชทัณฑ์)