Skip to main content

กองบังคับการปราบปรามรับเรื่องจากอดีตประธานศาลฎีกา 2 ราย อดีตผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ 1 ราย และ  ผจก.สำนักงานกฎหมาย 1 ราย ซึ่งเข้าแจ้งความเอาผิดเว็บไซต์สื่อด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา หลังถูกกล่าวพาดพิงในการรายงานข่าว ‘คดีสินบนโตโยต้า’ โดย จนท.จะตรวจสอบว่ารับทำคดีได้หรือไม่ เพราะอาจเข้าข่าย ‘คดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร’

จากกรณีที่เว็บไซต์ Law 360 เผยแพร่บทความพาดพิงอดีตผู้พิพากษาไทย 3 ราย ทำให้ ‘ดิเรก อิงคนินันท์’ อดีตประธานศาลฎีกา และ ‘ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม’ อดีตผู้พากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ นำภาพและเนื้อหาของเว็บไซต์ พร้อมด้วยลิงก์และไอพีแอดเดรสไปยื่นให้แก่กองบังคับการปราบปรามเมื่อวันที่ 31 พ.ค. เพื่อให้ดำเนินคดีข้อหา ‘หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา’ แก่เว็บไซต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้โพสต์ข่าวดังกล่าว ขณะที่ ‘ไสลเกษ วัฒนพันธุ์’ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและอดีตประธานศาลฎีกาอีกรายหนึ่งซึ่งถูกพาดพิง มอบอำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบและดำเนินคดีข้อหา ‘เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ’ 

ส่วนบทความที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้พิพากษาไทยนั้น เป็นการรายงานของผู้ใช้ชื่อว่า Frank G. Runyeon อ้างอิงกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ว่าบริษัทในเครือโตโยต้าอาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (Foreign Corrupt Practices Act: FCPA) พร้อมระบุว่า ‘บริษัทโตโยต้าในประเทศไทย’ เกี่ยวพันการติดสินบนผู้พิพากษาระดับสูง เพื่อให้กลับคำตัดสินคดีภาษีรถยนต์โตโยต้าพรีอุส และอ้างอิง ‘สำนักงานทนายความ A.’ ว่าเป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานและจ่ายสินบนแก่อดีตผู้พิพากษาระดับสูงของไทย

อดีตผู้พิพากษาทั้งสองคนให้การกับพนักงานสอบสวนนานเกือบ 3 ชั่วโมง โดย ‘ดิเรก’ บอกกับผู้สื่อข่าวที่มารอสัมภาษณ์ว่าตนเองนั้น “ไม่รู้เรื่องอะไรเลย” เมื่อมีข่าวเเละได้รับความเสียหายจึงมาเเจ้งความ พร้อมย้ำว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีดังกล่าวจะมีคำพิพากษาทั้งสองศาล ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และไม่ได้พิจารณาหรือเกี่ยวข้องกับคดีหรือวิ่งเต้นต่างๆ แต่ข่าวดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะไม่ได้ทำผิด และรับสินบนแต่อย่างใด

ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม จะพิจารณาว่าคดีนี้เข้าข่ายกองบังคับการปราบปรามจะสามารถรับทำคดีได้หรือไม่ เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร และคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาพยานหลักฐานและคำให้การของผู้แจ้งอีกสักระยะหนึ่ง 

สินบนโตโยต้า เปิดเรื่องมาจากฝั่งสหรัฐฯ 

เว็บไซต์ www.law360.com เป็นสื่อที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและคดีความในสหรัฐอเมริกา และเมื่อวันที่ 26-27 พ.ค.ที่ผ่านมา Frank G. Runyeon รายงานว่าอัยการในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ใกล้เคียงกับสำนักงานใหญ่ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ในสหรัฐฯ ดำเนินการแต่งตั้งคณะลูกขุน เพื่อพิจารณาแบบปิดลับเกี่ยวกับ ‘คดีสินบนโตโยต้า’ ที่เกี่ยวพันกับอดีตผู้พิพากษา 3 รายและตัวแทนสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบสวนคดีดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 ซึ่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป แจ้งเบาะแสการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย FCPA โดยระบุว่า มีการสอบสวนเป็นการภายในมาแล้วระยะหนึ่ง จึงยื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ให้ไต่สวนข้อเท็จจริง เพราะการทุจริตในต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อบริษัทโตโยต้าในสหรัฐฯ เช่นกัน

ข้อมูลของ บ.โตโยต้า ในสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทเครือโตโยต้าในประเทศไทย ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังเรื่องการนำเข้าอะไหล่รถยนต์โตโยต้ารุ่นพรีอุส ช่วงปี 2553-2555 เนื่องจากโตโยต้าแจ้งเรื่องว่าเป็นการนำเข้าอะไหล่รถยนต์ตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งจะได้ชำระอากรภาษีเพียง 30% แต่ทางสรรพากรตรวจพบว่าที่จริงแล้วเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์แบบแยกชิ้นส่วนในลักษณะชิ้นส่วนสมบูรณ์ หรือ (Complete Knock-Down) ที่สามารถนำมาประกอบเป็นรถยนต์ได้ทั้งคัน ซึ่งจะต้องชำระอากรภาษี 80% และตัดสินใจเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากโตโยต้าในไทย เป็นเงินกว่า 11,000 ล้านบาท

บริษัทโตโยต้าในไทยไม่เห็นด้วยและพยายามขอชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง จึงตัดสินใจยื่นฟ้องกรมศุลกากรและคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรในปี 2558 และศาลชั้นต้นตัดสินให้โตโยต้าชนะคดีเมื่อเดือน ก.ย. 2560 แต่กรมศุลกากรยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และโตโยต้ายื่นขออนุญาตฎีกา

ในขณะที่คดีความยังไม่สิ้นสุด บริษัทโตโยต้าฯ ในสหรัฐฯ ก็ได้นำผลการสอบสวนข้อมูลภายในองค์กรเกี่ยวกับการติดสินบนผู้พิพากษาไทยไปมอบให้แก่ทางการสหรัฐฯ เมื่อเดือน เม.ย.2563 และมีการรายงานข่าวผ่านสื่อต่างประเทศและสื่อไทยอีกครั้งตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 เป็นต้นมา

ขณะที่ ‘สุริยัณห์ หงษ์วิไล’ โฆษกศาลยุติธรรม ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ย้ำว่ากรณีโตโยต้าและข้อกล่าวหาว่ามีการติดสินบนผู้พิพากษาเป็นเรื่องที่ “ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ” ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ หรือในไทย และยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำตัดสินอันเป็นที่ยุติว่าเกิดการกระทำตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่อย่างไร “จึงขอให้สาธารณชนได้สดับตรับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และรอผลการดำเนินการทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยให้เป็นที่ยุติเสียก่อน”

ผจก.สำนักงานกฎหมายร่วมแจ้งความเอาผิด Law 360 ด้วย

นอกจากอดีตผู้พิพากษาทั้ง 3 รายที่ถูกพาดพิงและเข้าแจ้งความ ยังมีผู้ถูกกล่าวถึงในเว็บไซต์ Law 360 อีกหนึ่งรายเข้าแจ้งความด้วยเช่นกัน คือ ‘ทรงพล อันนานนท์’ ผู้จัดการสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ซึ่งระบุว่าขอใช้สิทธิดำเนินคดี เพราะถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการติดสินบนให้กับผู้พิพากษาระดังสูงของศาลฎีกาให้ช่วยพลิกคดีภาษี 1.1 หมื่นล้านบาทของโตโยต้า ประเทศไทย

ทรงพลชี้แจงว่าสำนักงานกฎหมายของตนเคยทำคดีดังกล่าวในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ในชั้นศาลฎีกา สำนักงานไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำคดีแล้ว ทั้งยังได้ยื่นคำร้องถอนตัวจากการทำคดีนี้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2564 รับฎีกาในคดีดังกล่าว 

นอกจากนี้ ทางสำนักงานก็ไม่ได้ติดต่อไปยังผู้พิพากษาระดับสูงทั้ง 3 ราย และยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว  ส่วนเรื่องของการดำเนินคดีกับ Frank G. Runyeon ผู้เขียนบทความ ซึ่งอาจจะอยู่ในต่างประเทศนั้น ตามหลักกฎหมายสามารถดำเนินการได้ในประเทศ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบตอชื่อเสียงของสำนักงานอย่างมาก และที่สำคัญยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยด้วย

ส่วนแถลงการณ์ที่ออกในนาม สนง.กฎหมายอันนานนท์ ได้ถูกเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนไทย โดยมีรายละเอียดว่า  "ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักได้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ จนสร้างความเสียหายให้กับสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ แถลงการณ์ฉบับนี้ สำนักงานขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า สำนักงานได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความต่อศาลภาษีอากรกลางและหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 

รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความที่แนบท้ายคำแถลงการณ์นี้ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 อนุญาตให้รับฎีกาของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไว้พิจารณา

ดังนั้น สำนักงานจึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในคดีตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เป็นต้นมาสำนักงานขอยืนยันความบริสุทธิ์และขอใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จทั้งในและต่างประเทศมา ณ ที่นี้"