สรุป
-
สื่อต่างประเทศรายงานข่าว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหารประท้วงเกือบ 1 เดือน หลังถูกจับกุมจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบัน
-
ประเทศอื่นๆ ก็มีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำและเป็นข่าวดังในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ‘อเล็กเซ นาวัลนี’ แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย และ ‘อิหมัด อัล-บาทรัน’ ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอลจับกุมโดยไม่มีการตั้งข้อหา
-
ผู้อดอาหารประท้วงยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แก่ ‘อิรอม ชาร์มิลา’ นักกิจกรรมต่อต้านกฎหมายความมั่นคงในอินเดีย อดอาหารนานเกือบ 16 ปี และถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้อาหารทางสายยาง
-
ส่วนผู้ที่ใช้วิธีอดอาหารประท้วงมากที่สุด รวม 18 ครั้ง คือ ‘มหาตมะ คานธี’ ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดีย
-
รายงานของ ICRC ระบุการอดอาหารประท้วงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเรือนจำหรือในกลุ่มนักโทษที่ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม แต่ไม่มีวิธีอื่นใดนอกจากอดอาหารประท้วงเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจรัฐเกิดความละอาย
องค์กรไม่แสวงผลกำไร ‘Scholars At Risk’ ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยเมื่อ 2 เม.ย.2564 ให้พิจารณาปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มราษฎรทั้งหมด พร้อมกล่าวถึง รุ้ง ‘ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ - ไมค์ ‘ภาณุพงศ์ จาดนอก’ และเพนกวิน ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ผู้ซึ่งอดอาหารประท้วงเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้ว
ท่าทีดังกล่าวสะท้อนว่าเครือข่ายนักวิชาการและองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยยังคงจับตาสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และกังวลต่อการอดอาหารประท้วงที่พริษฐ์ยืนยันเดินหน้าต่อ ทั้งยังมีข่าวว่ารุ้ง ปนัสยา และฟ้า ‘พรหมศร วีระธรรมจารี’ แกนนำราษฎรอีกคนหนึ่งซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำจากข้อหาละเมิดกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ก็มีข่าวว่าร่วมอดอาหารประท้วงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยระบุผ่านสื่อมวลชนไทยว่ารุ้งและฟ้าไม่ได้ปฏิเสธอาหารเช่นเดียวกับเพนกวิน แต่ในทวิตเตอร์ก็มีความเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนการปฏิรูปที่ติดแฮชแท็ก #ปล่อยเพื่อนเรา จนกลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมอยู่หลายครั้ง
ขณะที่การอดอาหารประท้วงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นวิธีการต่อสู้เชิงสันติวิธีที่ใช้กันมานานแล้ว ในไทยก็เคยมี ‘ฉลาด วรฉัตร’ ที่อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐบาลประชาธิปไตย ทั้งยังมี ‘นักโทษการเมือง’ ในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้วิธีนี้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นหนทางสุดท้ายในการแสดงจุดยืนทางการเมืองเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจในยามที่ถูกจำกัดอิสรภาพ
อดอาหารเพื่อ ‘ทวงถามความละอาย’ จากผู้ใช้อำนาจรัฐ
การศึกษาและนิยามความหมายของการอดอาหารประท้วงเป็นสิ่งที่องค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้ความสนใจ โดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) หรือ ‘กาชาดสากล’ เผยแพร่ข้อมูลว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์หรือการรักษาแก่ผู้ที่อดอาหารประท้วง โดยอ้างอิงคู่มือของแพทยสมาคมโลก (WMA) ระบุว่า การบังคับให้อาหารแก่ผู้ที่ประกาศอดอาหารประท้วงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้ประท้วง แต่ให้ยกเว้นได้ในกรณีที่ผู้ประท้วงได้รับการวินิจฉัยว่าไม่อยู่ในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
รายงานของกาชาดสากลระบุด้วยว่า การปฏิเสธอาหาร อาจไม่ใช่การอดอาหารประท้วงเสมอไป โดยยกตัวอย่างการถือศีลอดของผู้นับถือในบางศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่า การอดอาหารประท้วงส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเรือนจำหรือในกลุ่มนักโทษที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีวิธีการอื่นใดนอกจากอดอาหารประท้วงเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจรัฐเกิดความละอาย และเรียกร้องให้สาธารณชนสนใจประเด็นปัญหาหรือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น
แต่ก็มีผู้ที่อดอาหารประท้วงนอกเรือนจำเช่นกัน และผู้ที่ได้รับการยกย่องจากการอดอาหารประท้วงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือ ‘มหาตมะ คานธี’ หรือ ‘โมหันทาส กรัมจันท์ คานธี’ ผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้แก่อินเดีย
คานธีใช้วิธีอดอาหารประท้วงรวม 18 ครั้งตลอดชีวิตที่เขารณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และระยะเวลาที่คานธีอดอาหารนานที่สุด คือ 21 วัน ขณะที่ระยะเวลาสั้นที่สุด คือ 1 วัน โดยที่การอดอาหารประท้วงของเขาถูกยกย่องว่าเป็นการต่อสู้อย่างสันติวิธี
อย่างไรก็ตาม การอดอาหารประท้วงที่เกิดขึ้นอีกหลายครั้งทั่วโลก ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเสมอไป โดยกรณีของ ‘อิรอม ชาร์มิลา’ เป็นตัวอย่างที่น่าเศร้า เพราะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหญิงคนนี้เป็นผู้ที่อดอาหารประท้วงนานที่สุดในโลก รวมเป็นระยะเวลาเกือบ 16 ปี เพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคงซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเข้าควบคุมพื้นที่ในบางรัฐ (The Armed Forces (Special Powers) Act, 1958 หรือ AFSPA) รวมถึง ‘มานิปูร์’ รัฐบ้านเกิดของเธอ
ชาร์มิลาอดอาหารประท้วง กม.ดังกล่าวที่เธอมองว่าไม่เป็นธรรม และรัฐบาลกลางอินเดียตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีเธอด้วยข้อหา ‘พยายามฆ่าตัวตาย’ และบังคับให้อาหารทางสายยางเพื่อยื้อชีวิตของเธอมาเป็นเวลานานหลายปี และการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของชาร์มิลา ทำให้เธอได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กร ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘หญิงเหล็กแห่งมานิปูร์’ จนกระทั่งในปี 2559 ศาลอินเดียวินิจฉัยให้เธอได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขให้ยุติการอดอาหารประท้วง
สื่ออินเดียรายงานเหตุผลของชาร์มิลา โดยเธอระบุว่า สาเหตุที่ยอมรับเงื่อนไขหยุดอดอาหารประท้วง เป็นเพราะอดอาหารมาแล้ว 16 ปี แต่ไม่มีผลคืบหน้าอะไร จึงต้องการใช้วิธีที่ต่างไปจากเดิม และเธอระบุว่าจะมุ่งสู่เส้นทางการเมือง โดยหวังว่าถ้าได้เป็นมุขมนตรีรัฐมานิปูร์ น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและยกเลิกการบังคับใช้กฎหมาย AFSPA ได้
แต่ผู้สนับสนุนชาร์มิลาจำนวนมากไม่ยอมรับการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้เธอตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก และการลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2560 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดย Indian Express ระบุว่า เธอได้รับคะแนนเสียงเพียง 90 เสียงเท่านั้น และกฎหมาย AFSPA ก็ถูกขยายเวลาบังคับใช้โดยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนผู้ที่อดอาหารประท้วงจนตายก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเป็นเหตุการณ์น่าเศร้าไม่แพ้กัน ได้แก่ กรณีของ ‘บ็อบบี แซนด์ส’ ชาวไอริชที่เป็นแนวร่วมกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ‘กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์’ หรือ IRA ที่ต้องการแยกตัวจากสหราชอาณาจักร โดยเขาถูกจับกุมจากการครอบครองอาวุธปืน 4 กระบอก และถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในคดีลอบวางระเบิด ซึ่งแซนด์สปฏิเสธข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานชี้มูลความผิดของเขาได้ แต่เขาก็ถูกตัดสินลงโทษจำคุกนาน 14 ปีในฐานะที่เป็นสมาชิกกลุ่ม IRA ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
แซนด์สเริ่มอดอาหารประท้วงในปี 2524 หลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยกเลิกสถานะ ‘นักโทษการเมือง’ ของเขาและเพื่อนที่เป็นสมาชิก IRA เช่นกัน โดยการยกเลิกสถานะดังกล่าวทำให้เขาและเพื่อนๆ ถูกปฏิบัติในฐานะนักโทษคดีอาญา ซึ่งตามหลักกฎหมายสากลแล้ว การเป็นนักโทษการเมืองต้องได้รับการปฏิบัติเทียบเท่าเชลยสงคราม หรือ Prisoner of War เพราะการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับ ‘อุดมการณ์ทางการเมือง’ เป็นการกำหนดนิยามซึ่งเกิดจากผู้มีอำนาจ ต่างจากการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นการละเมิดหรือทำร้ายผู้อื่น
การอดอาหารประท้วงของแซนด์สเริ่มขึ้นพร้อมกับเพื่อนนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ในวันที่ 1 มี.ค.2524 และในวันที่ 66 แซนด์สก็เสียชีวิตที่เรือนจำเมซในไอร์แลนด์เหนือเมื่อ 5 พ.ค. ทั้งยังมีสมาชิก IRA เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงอีก 10 รายหลังจากนั้น แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี ‘มาร์กาเร็ต แทตเชอร์’ ในขณะนั้น ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งวันที่ 3 ต.ค.2524 ครอบครัวของผู้ประท้วงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้าช่วยเหลือและยุติการอดอาหารที่กินเวลานานกว่า 7 เดือน
มีใครอีกบ้างที่กำลังอดอาหารประท้วงช่วงเดียวกับ ‘เพนกวิน’
ก่อนหน้าเพนกวินจะประกาศอดอาหาร ‘อเล็กเซ นาวัลนี’ แกนนำฝ่ายค้านที่วิพากษ์วิจารณ์การยื้ออำนาจของผู้นำรัสเซียมาโดยตลอด ก็ประกาศอดอาหารประท้วงเช่นกัน โดยปัจจุบันเขาถูกคุมขังในเรือนจำเพราะละเมิดทัณฑ์บนในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล โดยเหตุผลในการอดอาหารประท้วงของนาวัลนีครั้งนี้ เป็นเพราะเขาเรียกร้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นธรรม
สำนักข่าว CNN รายงานว่านาวัลนีถูกปฏิเสธการรักษาอาการปวดหลัง และเจ้าตัวเล่าว่าเขาถูกรบกวนเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้เพียงพอ ทั้งยังมีอาการไข้สูง ขณะที่ Business insider อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาวัลนี ระบุว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามยั่วยุด้วยการทอดไก่ต่อหน้าเขาซึ่งกำลังอดอาหารประท้วง ซึ่งคดีของนาวัลนีถูกจับตามองโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ที่เห็นว่านาวัลนีถูกลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เพียงเพราะเขาวิจารณ์การยื้ออำนาจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
ส่วนการอดอาหารประท้วงที่เป็นข่าวใหญ่ในตะวันออกกลาง คือ กรณีของ ‘อิหมัด อัล-บาทรัม’ ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน โดยเขาถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลจับกุมมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีการตั้งข้อหาที่ชัดเจน ทำให้เขาอดอาหารประท้วงนาน 47 วัน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564
ขณะที่กรณีของเพนกวิน ได้มีการเผยแพร่เจตจำนง 3 ประการ ในเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลของคนในครอบครัว โดยข้อความดังกล่าวได้ตั้งคำถามถึงศาลและกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งยังย้ำด้วยว่า เขาจะไม่ยุติการอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับคำตอบ แต่ขณะเดียวกันก็ขอบคุณผู้ที่ห่วงใย
เนื้อหาตอนหนึ่งในเฟซบุ๊กของเพนกวินระบุดังนี้ :
“1. ศาลเคยกล่าวกับผมว่า “ศาลเป็นกลางและเป็นธรรม” หากศาลเป็นกลางและเป็นธรรมจริง เหตุใดท่านจึงปล่อยตัวแกนนำ กปปส. 8 คน ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วว่า มีความผิด แต่กลับคุมขังพวกผมไว้ทั้งที่ยังไม่มีศาลใดพิพากษาว่า พวกผมมีความผิดใดๆ เลย
2. ศาลเคยกล่าวกับผมว่า “ศาลให้สิทธิพวกผมต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่” แต่พวกผมจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ได้อย่างไร ในเมื่อท่านชิงคุมขังผมไปก่อนแล้ว ผมก็ไม่สามารถไปหาพยานหลักฐานมาสู้คดีได้แล้ว จะปรึกษาทนายความก็ทำได้อย่างจำกัดและต้องพูดผ่านโทรศัพท์ซึ่งอาจถูกดักฟัง แม้กระทั่ง การจะพูดคุยกับเพื่อนที่ถูกฟ้องร้องด้วยกันก็ทำได้ลำบาก เช่นนี้หรือคือสิทธิการสู้คดีอย่างเต็มที่ดังที่ศาลกล่าว
3. ศาลเคยกล่าวกับผมว่า “ศาลไม่มีอคติและไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง” แล้วเหตุใดท่านจึงเขียนในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผม ว่าผมเป็นผู้ที่เหยียบย่ำหัวใจของคนไทยผู้จงรักภักดีทั้งประเทศ และยังบอกด้วยว่าการปราศรัยของผมตามเวทีต่างๆ เป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก ทั้งที่ยังไม่มีศาลใดตัดสินว่าผมมีความผิดเลย ศาลได้ใช้อคติตัดสินโดยไม่ต้องไต่สวนไปแล้วว่าให้ผมมีความผิดใช่หรือไม่”
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอดอาหารของผมจะส่งผลให้ศาลลุกขึ้นมาตอบคำถามเหล่านี้ ไม่ใช่ต่อตัวผม แต่ต่อคนทั้งสังคมที่กำลังจับจ้องท่านอยู่”
"อนึ่ง ผมได้รับจดหมายจากพี่น้องหลายคนร้องขอให้ผมยุติการอดอาหาร ผมไม่อาจยุติการอดอาหารและใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมได้ เพราะสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมนี้ไม่ได้ถูกปล้นไปจากเฉพาะตัวผม แต่จากคนทั้งชาติ ผมขอขอบคุณทุกความเป็นห่วงที่มีให้ผม และขอให้ทุกท่านที่เป็นห่วงและเข้าใจเจตนารมณ์การต่อสู้ของผม ร่วมกันถามคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ต่อศาล ไม่ว่าจะยืนอยู่หน้าศาล การเขียนจดหมาย การโทรถาม หรือวิธีการอื่นใด เพื่อให้ศาลได้ตระหนักคิดว่า พวกเขาไม่ใช่เจ้านายประชาชน แต่เป็นผู้รับใช้ประชาชน และต้องรับผิดชอบต่อประชาชน."
ที่มา:
• Release detained Thai student activists
• Medical and Ethical Aspects of Hunger Strikes in Custodyand the Issue of Torture
• Navalny says he's continuing hunger strike despite a high temperature and bad cough
• Putin critic Navalny says Russian prison guards are trying to break his hunger strike by frying chicken in front of him
• Oleh Sentsov: The Latest In A Long Line Of Notable Hunger Strikers
• Irom Sharmila faces harsh reality as locals turn her away
• Election results 2017: ‘Irom Sharmila gets only 90 votes’; Twitterati shocked with Iron Lady’s defeat in Manipur polls
• Remembering Northern Irish hunger striker Bobby Sands