Skip to main content

การกินเป็นการหาความสุขของมนุษย์รูปแบบหนึ่งในชีวิตปัจจุบันที่ความสุขในชีวิตหายากขึ้นทุกๆ วัน ความหิวก็เป็นสัญญาณในการส่งเตือนสติเราถึงการมีชีวิตอยู่ ความหิวสามารถฆ่าคนตายได้ แต่แล้วทำไมมนุษย์ถึงตัดสินใจอดอาหารเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง เหตุใดคนๆ หนึ่งถึงยอมเสียสละความสุขและชีวิตตนเองเพื่อเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนทั้งหมดในสังคม? และการอดอาหารเกี่ยวข้องอย่างไรกับความยุติธรรมสังคม?

การอดอาหารและการบังคับให้กินอาหาร

การอดอาหารเป็นการแสดงออกทางสันติวิธีแบบหนึ่งเพื่อต้องการส่งสัญญาณให้กับผู้ปกครองถึงความ “อยุติธรรม” ที่บุคคลนั้น หรือ สังคมโดยรวมประสบขึ้นมา การอดอาหารปรากฎในประวัติศาตร์หลายๆประเทศ หลากหลายความเชื่อ อาทิการประท้วงอดอาหารของสตรีในอังกฤษช่วงต้นศตวรรษ 20 เพื่อเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งให้เพศหญิง การอดอาหารของมหาตมะคานธีเพื่อส่งสัญญานถึงความอยุติธรรมที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษบังคับต่ออินเดีย เป็นต้น 

คำถามที่ตามมาคือ การอดอาหารดังกล่าวจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตดังกล่าว ยุติธรรมหรือไม่? คนรอบข้าง และประชาชนควรปล่อยให้กระบวนการอดอาหารเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนเกิดการสูญเสียหรือไม่? การปล่อยให้คนตายไปต่อหน้าต่อตาเป็นความผิดทางกฎหมายหรือทางมโนธรรมหรือไม่? ซึ่งคำถามเรื่องความยุติธรรมเหล่านี้มีคำตอบหลายมุมมอง

แล้วรัฐควรมีหน้าที่อย่างไรถ้ามีคนอดอาหารประท้วง รัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ควรจะมีปฏิกิริยาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประท้วงอดอาหารที่มีจุดประสงค์ คือรัฐเป็นคู่กรณีและสาเหตุให้เกิดการอดอาหาร 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในอดีตก็ปรากฏว่า รัฐเลือกที่จะบีบบังคับให้อาหารแก่ผู้ประท้วงโดยอ้างสาเหตุว่ารัฐต้องเข้าไปช่วยชีวิตคน แต่การช่วยเหลือดังกล่าวมันคือลูกอมเคลือบยาพิษที่จุดประสงค์แท้จริงแล้วคือ “รัฐต้องการทำลายศักดิ์ศรีของผู้อดอาหาร และให้วิธีการเรียกร้องดังกล่าวหมดไป โดยที่ความอยุติธรรมก็คงอยู่เช่นเดิม” อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในอังกฤษ เมื่อการบังคับให้หญิงอดอาหารกินอาหารคือทัณฑ์ทรมานอย่างหนึ่งที่รอดรอนสิทธิเสรีภาพด้านร่างกาย ด้วยการพันธนาการร่างหญิงอดอาหารให้แน่นิ่งอยู่บนเตียง เสียบท่ออาหารผ่านโพรงจมูกอย่างเจ็บปวด เพื่อเทอาหารผ่านสายยางท่อจมูกโดยไม่ต้องอาศัยเจตจำนงในการเคี้ยวกลืนอาหาร 

 

การบังคับกรอกอาหาร (การทรมานในยุคเก่า)

รูปภาพการบังคับให้อาหาร1

การอดอาหาร-การบังคับให้อาหาร กลายเป็นคำถามสำคัญเรื่องความยุติธรรมสังคมของอมาตยา เซน เขาได้พัฒนาทฤษฎีสมรรถภาพมนุษย์ (Capability approach) ในกาลต่อมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจของรัฐโดยเฉพาะในหน้าที่การรับประกันสวัสดิการประชาชน รัฐสวัสดิการที่เป็นเหมือนคุณพ่อรู้ดีที่ใช้อำนาจในการกำหนดว่าประชาชนต้องได้รับอะไร กลายเป็นว่ารัฐต้องเปลี่ยนบทบาทของการบังคับเป็นการสนับสนุน โดยปล่อยพื้นที่ให้เสรีภาพประชาชนในการเลือกวิถีทางของตนเอง รัฐมิอาจอ้างความห่วงใยและละเมิดเจตจำนงเสรีของผู้อดอาหารได้ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตัวชี้วัดดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ของสหประชาชาติในกาลต่อมา 

การเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการอดอาหารจะสำเร็จหรือไม่? 

การประท้วงของไอร์แลนด์เหนือ ช่วงปี 1980/81 เป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยทางวัฒนธรรมของชาวไอริชมีส่วนสำคัญมาก การประท้วงอดอาหารมิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่มีมานานแล้วในวัฒนธรรมไอริชเพื่อแสดงออกถึงความอยุติธรรมที่เผชิญ นอกจากนี้มีปัจจัยด้านการเมืองที่มีองค์กรการเมืองที่เห็นพ้องและพร้อมในการต่อสู้ตามข้อเรียกร้องของผู้อดอาหารเช่นเดียวกัน การอดอาหารโดยยุทธศาสตร์นั้นมิได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของรัฐ

แต่อย่างใด รัฐสามารถเพิกเฉยได้อย่างง่ายดาย แต่การอดอาหารประท้วงคือการให้รัฐรู้สึกอับอายกับความอยุติธรรมของรัฐ และมันจะสำเร็จได้เมื่อสร้างความรู้สึกร่วมหมู่ของมวลชนจำนวนมากแล้วจึงไปกดดันต่อรัฐให้เข้ามาจัดการความอยุติธรรมในสังคม การสร้างความรู้สึกร่วมของมวลชนนั้นมิได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่มีความเห็นพ้องกับผู้ร่วมประท้วงเป็นหลัก แต่เป็นการดึงกลุ่มคนที่ไม่เคยสนใจการเมืองเลยให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า “ทำไมคนหนึ่งคนถึงต้องทรมานตนเองจนเสียชีวิต แสดงว่าความอยุติธรรมที่เกิดมันใหญ่โตเกินกว่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งเลยหรือ”

บทบาทของสื่อจึงมีความสำคัญมากที่จะเผยแพร่ข้อความให้กว้างขวางที่สุด และสร้างความอับอายให้แก่รัฐ สร้างแรงกดดันให้รัฐลงมาเจรจาได้ การอดอาหารของไอริชจึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เพราะมวลชนได้เห็นความไม่ยุติธรรม และพร้อมเดินสนับสนุนไปด้วยกัน เริ่มจากนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยกันบางส่วนที่ต้องมีความรู้สึกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และสร้างความตระหนักให้กับชุมชน ประเทศ ร่วมถึงประชาคมโลกตามมา 

[1] สืบค้นจากเว็บไซต์ https://spartacus-educational.com/Whunger.htm