กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีมีการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการจับกุมและดำเนินคดีนักกิจกรรมเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
แถลงการณ์ลงวันที่ 17 ก.พ.2564 ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งไปถึงคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากถูกกลุ่มผู้รายงานพิเศษด้านต่างๆ พาดพิงสถิติคดีมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยทางการไทยยืนยัน 3 ประเด็น ว่า
(1) ไทยยึดมั่นและแน่แน่วกับการรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อนานาประเทศว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชนและรับประกันสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบของพลเมืองไทย ตราบเท่าที่การกระทำต่างๆ ไม่ละเมิดขอบเขตของกฎหมาย พร้อมย้ำว่าไทยปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด
(2) คดี 112 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากการทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งการกระทำบางอย่างถูกตีความได้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับหลายคน เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่สืบสวนข้อเท็จจริง หากไม่ดำเนินการ เจ้าหน้าที่อาจมีความผิดในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ได้
(3) กระบวนการสอบสวนคดีผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิด ม.112 ดำเนินไปตามกรอบของกฎหมาย ถ้าหากพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีมูล คดีจะถูกส่งไปยังสำนักงานอัยการเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะโต้แย้งและมีสิทธิขอทนายเพื่อต่อสู้คดีได้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ท่าทีดังกล่าวของ กต.ไทย เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) คณะผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงคณะทำงานต่อต้านการจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (UNHRC) ออกแถลงการณ์เมื่อ 8 ก.พ. ระบุว่ากังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้ ม.112 จับกุมนักกิจกรรมที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับคดี 112 และคดี 116 (ยุยงปลุกปั่น) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า อัยการในกรุงเทพฯ เลื่อนการสั่งฟ้อง 18 แกนนำ #ราษฎร สืบเนื่องจากการปักหมุดที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 8 มี.ค.และ 25 มี.ค.ที่จะถึง