Skip to main content

หลายประเทศพยายามกำจัดขบวนการทุจริตและการกระทำผิดข้ามชาติ จึงบังคับใช้กฎหมายที่เปิดให้สามารถเอาผิดบุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานรัฐบาลของประเทศตัวเองที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมายเมื่อไปดำเนินการในต่างแดน บางคดีที่ดำเนินการสอบสวนพัวพันกับ ‘ประเทศไทย’ และเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก แต่ที่บ้านเรากลับไม่ได้มีการสอบสวนหรือตัดสินความผิดในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันกับต่างประเทศ

(1) เครื่องตรวจจับ ‘Alpha 6’ ศาลพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ 

ระหว่างปี 2548-2553 หน่วยงานราชการไทยจำนวนมาก ทั้ง ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจ ท่าอากาศยาน รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทยและหน่วยงานในสังกัดกองทัพ ต่างสั่งซื้อเครื่องตรวจจับสสาร (molecular detector) จากสหราชอาณาจักรมาใช้ตรวจหาร่องรอยของวัตถุระเบิดไปจนถึงสารเสพติด โดยมีเครื่อง 2 ยี่ห้อที่ถูกจัดซื้อจัดหามาใช้ในประเทศไทย คือ Alpha 6 และ GT200 แม้จะถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคา ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1,130 ล้านบาท แต่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็ยืนยันว่าเครื่องนี้ ‘ใช้ได้’

จนกระทั่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศห้ามการจำหน่ายและส่งออกเครื่องจับสสารยี่ห้อต่างๆ ในปี 2553 เพราะถูกร้องเรียนว่าเป็นสินค้าที่เข้าข่ายหลอกลวงและฉ้อโกงผู้บริโภค ซึ่งรวมถึง GT200, Alpha 6 และ ADE 651 และการไต่สวนคดีดำเนินไปจนถึงปี 2556 สำนักข่าว BBC รายงานว่า ศาลสหราชอาณาจักรมีคำพิพากษาจำคุก 7 ปี และปรับเงิน 8 ล้านปอนด์ (ราว 344 ล้านบาท) แก่ 'แกรี โบลตัน' เจ้าของบริษัทที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่อง GT200 และในปี 2557 ศาลจึงได้ตัดสินจำคุก 3 ปีแก่ 'แซมูเอล ทรี' ผู้ผลิตและจักจำหน่ายเครื่อง Alpha 6 รวมถึงสั่งให้ 'โจน ทรี' ภรรยาจำเลยคดีนี้ บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ 300 ชั่วโมง

เมื่อกลับมาดูกรณีของไทยซึ่งสั่งกองทัพได้ซื้อเครื่อง Alpha 6 มาใช้งานเช่นกัน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไต่สวนคดีในข้อหาเกี่ยวพันการทุจริตจัดซื้อจัดหา และนำไปสู่การฟ้องร้องผู้บริหารบริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ จำกัด แต่วันที่ 28 มี.ค.2561 ศาลพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทเป็นแค่ผู้นำเข้าเครื่อง แต่ไม่รู้เห็นเรื่องการจัดทำเอกสารแสดงคุณสมบัติเท็จ

"File:ADE 651 at QEDcon 2016 01.jpg" by Your Funny uncle is licensed under CC BY-SA 4.0

(2) เครื่อง ‘GT200’ มีความผิด แต่ไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ และยังรับงานกองทัพได้อยู่

หลังจากที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรสั่งสอบสวนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดด้วยข้อหาลวงโลก รัฐบาลไทยในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ก็จัดให้มีการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่อง GT200 เช่นกัน จึงพบว่าประสิทธิภาพไม่ตรงตามที่โฆษณา ไม่ต่างจากการ ‘เดาสุ่ม’ และได้มีคำสั่งให้ยุติการจัดซื้อจัดหา ซึ่งมีการโต้แย้งจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ยืนยันว่าเครื่อง GT200 ใช้งานได้ แต่ต่อมากองทัพสั่งยุติการจัดซื้อจัดหาเครื่อง GT200 เช่นกัน และ ป.ป.ช.ของไทยก็รับเรื่องไต่สวนคดี GT200 ในปี 2555

กระบวนการไต่สวนลากยาวมาจนถึงปี 2561 ซึ่งศาลพิพากษาให้ ‘สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ’ ผู้บริหารของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ตัวแทนนำเข้าเครื่อง GT200 มากระจายให้หน่วยงานราชการไทย มีความผิดและถูกลงโทษจำคุกรวม 9 ปี และจ่ายเงินคืนโจทก์ 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรารายงานอ้างอิงการตั้งข้อสังเกตของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำเลยในคดีจัดซื้อจัดหา GT200 ยังได้รับงานจัดซื้อสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากกองทัพอากาศและกองทัพเรืออีก 12 สัญญา รวมเป็นวงราวเงิน 54.43 ล้านบาท เมื่อเดือน มี.ค.2564 ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดบริษัทจึงไม่ได้ถูกทางการไทยขึ้นบัญชีดำตามที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดที่ต่างประเทศเรียกว่าเป็น 'เครื่องมือลวงโลก' ส่งผลกระทบต่องบประมาณรัฐราว 1,130 ล้านบาท และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพราะการใช้เครื่อง GT200 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานตรวจจับวัตถุระเบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีประชาชนถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมากเพราะเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวตรวจจับสารเสพติด แต่การชำแหละเครื่องมาตรวจสอบ ไม่พบวงจรหรือระบบใดๆ ที่จะสามารถจำแนกสสารต่างๆ ได้ตามที่กล่าวอ้างอยู่ข้างในเครื่อง

(3) มหากาพย์ 3 ชาติ 3 ทศวรรษ สินบน ‘โรลส์-รอยซ์/ การบินไทย/ ปตท.’ กว่าครึ่ง ‘คดีหมดอายุความ’ 

เดือน ม.ค.2560 สำนักงานสืบสวนการฉ้อฉลร้ายแรง (SFO) แห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลว่าบริษัท โรลส์-รอยซ์ โฮลดิงส์ พีแอลซี เกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรัฐวิสาหกิจในประเทศแถบเอเชีย รวมถึงไทย ซึ่งเกี่ยวพันกับการล็อบบีเพื่อจัดซื้อจัดหาเครื่องยนต์อากาศยาน โรลส์-รอยซ์ เทรนต์ และในเวลาต่อมา บ.โรลส์-รอยซ์ ก็แถลงยอมรับว่า มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง และยินยอมจ่ายเงินค่าปรับให้แก่รัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่มีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดฐานทุจริตในต่างแดน

"Rolls-Royce Trent 1000 jet engine and behind it the most powerful of the world: The GE90-115B" by Jorge Lascar is licensed under CC BY 2.0

ข้อมูลของ SFO บ่งชี้ว่ามีตัวแทน บ.โรลส์-รอยซ์การจ่ายสินบนให้แก่ ‘นายหน้า’ ในประเทศไทย 3 ครั้ง โดยระบุว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดซื้อจัดหาเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่าง 1 มิ.ย.2534 ถึง 30 มิ.ย.2535, ครั้งที่ 2 ระหว่าง 1 มี.ค. 2535 ถึง 31 มี.ค.2540 และครั้งที่ 3 ระหว่าง 1 เม.ย.2547 ถึง 28 ก.พ.2548 

ส่วนอีกคดีที่เกี่ยวข้องกับโรลส์-รอยซ์/ ไทย/ สหรัฐอเมริกา เป็นกรณีที่ธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นบริษัทลูกของโรลส์รอยซ์ (Rolls-Royce Energy Systems, Inc) จ่ายเงินสินบนช่วงปี 2543-2555 แลกเปลี่ยนกับการล็อบบีให้บริษัทได้สัมปทานการทำธุรกิจจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยสินบนถูกจ่ายให้กับ ‘นายหน้า 4’ เพื่อเป็นค่าที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการที่บริษัทลูกโรลส์-รอยซ์ชนะประมูล ซึ่งหน่วยงานที่สอบสวนเรื่องนี้คือกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์แห่งนี้ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2539 

เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายทุจริต ทำให้รัฐบาลไทยสั่งสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน ขณะที่ ปตท.เปิดเผยผ่านสื่อเมื่อเดือน ก.พ.2560 ว่าขอข้อมูลไปทางสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้ข้อมูลตอบกลับมา ขณะที่สำนักข่าวประชาไทรายงานความคืบหน้าคดีสินบนโรลส์-รอยซ์และการบินไทย ซึ่งอ้างอิงการแถลงของ ป.ป.ช.ระบุว่า คดีเรียกรับสินบนมีอายุความ 20 ปี ทำให้การจ่ายสินบนการบินไทยช่วงแรก ปี 2534-2535 และช่วงที่สองปี 2535-2540 “หมดอายุความไปแล้ว” ไม่สามารถรื้อฟื้นมาทำอะไรได้อีก 

ส่วนการจ่ายสินบนการบินไทยช่วงที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 ป.ป.ช. “ทราบพฤติการณ์และทราบชื่อทั้ง รมว.คมนาคม และ รมช.คมนาคม รวมถึงเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย ที่มีพฤติการณ์นัดกินข้าวกับนายหน้าแล้ว แต่ยังไม่อาจหาข้อเชื่อมโยงได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนอย่างไร ต้องรอความชัดเจนจาก SFO จึงจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน” 

ทั้งนี้ การจ่ายสินบนกรณีการบินไทย คิดเป็นเงินรวม 1,273 ล้านบาท ส่วนการจ่ายสินบนเพื่อให้โรลส์-รอยซ์ชนะประมูล 6 โครงการของ ปตท.คิดเป็นเงินรวม 385 ล้านบาท

The Opener