Skip to main content

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์เห็นควรสั่งฟ้องแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า 'ไม้ล้างป่าช้า' และตกเป็นข่าวใหญ่ล่าสุด

ดิ โอเพนเนอร์ ชวนย้อนดูมหากาพย์คดีทุจริตไม้ล้างป่าช้า ที่หลอกลวงทั้งเงินงบประมาณแผ่นดิน และมีส่วนทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตเจ้าหน้าที่รวมทั้งประชาชนในไทยและอีกหลายประเทศ ให้เชื่อว่าเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้

 

เครื่องช่วยค้นหาลูกกอล์ฟ กลายร่างเป็นเครื่องตรวจหาระเบิดไฮเทค

ต้นแบบของเครื่องตรวจหาระเบิดปลอม หรือไม้ลวงโลกมาจากเครื่องมือช่วยหาลูกกอล์ฟในสหรัฐ ที่มีราคา 20 ดอลลาร์ หรือราว 700 บาท โดยอ้างว่าใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย สามารถตั้งโปรแกรมให้ตรวจจับวัตถุที่อยู่ในลูกกอล์ฟได้จากระยไกล ต่อมาอดีตเซลแมนขายรถยนต์มือสองได้นำมาเพิ่มคำบรรยายสรรพคุณถึงความสามารถในการตรวจหาสารเสพติดและสารระเบิด ภายหลังจากเอฟบีไอออกมาแฉเรื่องราวของไม้ลวงโลกในปี 2539 หนึ่งในผู้สมคบคิดได้หอบเอาไอเดียฉ้อฉลนี้หลบหนีข้ามมหาสมุทรกลับไปยังบ้านเกิดที่อังกฤษ

ไม้ลวงโลก ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือตรวจหาระเบิดในอิรักในเวลาต่อมา รวมทั้งถูกนำไปตรวจหาโคเคนของขบวนการค้ายาเสพติดในเม็กซิโก และตรวจหางาช้างของขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในแอฟริกา ถูกนำไปใช้รักษาความปลอดภัยในสนามบินการาจีของปากีสถาน รวมถึงโรงแรมในตะวันออกกกลาง และถูกนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยด้วย

 

เครื่องตรวจหาระเบิดคืนร่างเป็นไม้ลวงโลก เมื่อศาลอังกฤษสั่งจำคุก ยึดทรัพย์ผู้ผลิตข้อหาฉ้อโกง

ในปี 2553 รัฐบาลสหราชอาณาจักรห้ามการส่งออกไม้ลวงโลกไปประเทศอิรักและอัฟกานิสถานตามคำสั่งซื้อของกองทัพ และส่งคำเตือนรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่า เครื่อง GT200 และ ADE651 ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงในการตรวจหาระเบิด

ในปี 2555 ตำรวจอังกฤษได้ดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไม้ลวงโลกในข้อหาฉ้อโกงและหลอกขายอุปกรณ์หลอกลวงให้กับหน่วยงานราชการต่างประเทศ ตั้งแต่ 15 ม.ค.2550 ถึง 12 ก.ค.2555

ปี 2556 แกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล ถูกศาลอังกฤษสั่งจำคุก 7 ปี ในข้อหาหลอกขายอุปกรณ์ตรวจจับระเบิดปลอม หรือ GT200 ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในหลายประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ปากีสถาน จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อียิปต์ ตูนิเซีย และประเทศไทย โดยเครื่องมือลวงโลกมีต้นทุนการผลิต 1.82 ปอนด์ (ราคาขณะนั้นราว 90 บาท) แต่นำไปขายในราคา 15,000 ปอนด์ (ราคาขณะนั้นราว 749,000 บาท)

นอกจากแกรี โบลตันแล้ว ศาลอังกฤษยังสั่งจำคุกเจมส์ แมคคอร์มิค หุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาเป็นเวลา 10 ปี ในข้อหาจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม และสั่งยึดทรัพย์มูลค่า 7.9 ล้านปอนด์ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันในการขายเครื่องตรวจหาสารเสพติดชื่อ Alpha 6 โดยศาลสั่งจำคุกซามูเอล ทรี เป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และสั่งให้ภรรยา โจแอน ทรี ทำงานรับใช้ชุมชนเป็นเวลา 300 ชม.

หน่วยงานสืบสวนสอบสวนเผยว่า รัฐบาลอิยิปต์สั่งซื้อ Alpha 6 รวม 1 ล้านปอนด์ ขณะที่รัฐบาลไทยจ่ายเงินซื้อ Alpha 6 ในราคาเครื่องละราว 25,000 ปอนด์ หรือราว 1 ล้านบาทเศษ

 

6 หน่วยงานรัฐ เสียงบประมาณไปกว่า 759.14 ล้านบาท เพื่อ GT 200 จำนวน 836 เครื่อง

ก่อนที่เรื่องราวลวงโลกของไม้ล้างป่าช้าจะถูกตีแผ่ บรรดาผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานรัฐไทยต่างออกมาแสดงความเชื่อมั่นต่อ GT200 ทั้ง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ขณะดำรงตำแหน่งโฆษกกองทัพบก ที่เคยอธิบายถึงหลักการทำงานของ GT200 ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ และ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวกับบีบีซีว่า สามารถหาสารวัตถุระเบิดได้ดีเยี่ยมเป็นอันดับต้นของโลก โดยใช้หลักการค้นหาสนามแม่เหล็ก

สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่า ระหว่างปี 2548-2552 มีหน่วยงานรัฐของไทยสั่งซื้อ GT200 จำนวน 836 เครื่อง รวมเป็นเงิน 759.14 ล้านบาท ได้แก่ กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กรมราชองครักษ์, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธร จ.ชัยนาท โดยได้รับการยืนยันจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่า ดำเนินการจัดซื้อถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพของ GT200 เกิดจากการเคลื่อนไหวของพลเมืองเน็ตในห้องหว้ากอ เว็บไซต์พันทิป.คอม ที่ตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบจน และพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นกระแสกดดันทางสังคม

หลังเกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งที่ยะลาและนราธิวาสในเดือน ต.ค.2552 โดยที่ GT200ไม่สามารถตรวจพบระเบิดที่ถูกซุกซ่อนไว้ ในปีต่อมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น สั่งให้ทำการทดลองใช้ GT200หาวัตถุระเบิด พบว่ามีความแม่นยำเพียง 20% จึงสั่งให้ยกเลิกการจัดซื้อและเลิกใช้งาน GT200 และ Alpha 6 ทันที

 

จำคุกผู้บริหารบริษัทฯ ฐานฉ้อโกง -ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน

ต.ค.2561 ศาลแขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาจำคุกผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นเวลา 9 ปี ความผิดฐานฉ้อโกงในการเสนอขาย GT200 ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้ชดใช้ค่าซื้อเครื่อง GT200 แก่ผู้เสียหายรวม 6,800,000 บาท โดยระหว่างปี 2551-2552 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดซื้อเครื่อง GT200 จำนวน 4 เครื่อง ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1,100,000 บาท

ก.ย.2564 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ร่วมกับจำเลยอีก 3 ราย ชดใช้เงินเงินให้แก่กองทัพบก เป็นจํานวน 687,691,975.49 บาท จากการทำสัญญาซื้อขาย GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2550 -30 ก.ย.2552

ไทยรัฐพลัส รายงานผลสรุปการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในกรณีจัดซื้อไม้ล้างป่าช่าว่า หน่วยงานรัฐจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความจำเป็นด้วยราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ 500,000-1,600,000 บาท เมื่อนำมาทดสอบ พบว่า ทั้ง GT200 และ Alpha 6ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงในทุกสภาวะการทดสอบ

นอกจากนั้น DSI ยังพบว่า มีหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT200 และ Alpha 6 จำนวน 19 หน่วยงาน สูญเงินมากกว่า 1,135 ล้านบาท นำมาสู่การฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตที่อังกฤษ 1 แห่ง บริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย 2 แห่ง บริษัทตัวแทนจำหน่ายช่วงต่อในไทยอีก 4 แห่ง ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และมีการเรียกค่าเสียหาย 683 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ในปี 2561 มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อGT200 และ Alpha6 ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555กระทั่งปี 2564 ป.ป.ช.จึงชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและวินัยกับผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างฯ จากหน่วยงาน 20 แห่ง รวมเกือบ 100 คน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เห็นควรสั่งฟ้องแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 หลังจากก่อนหน้าที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ขณะที่นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า เป็นไปตามที่ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดก่อนหน้านี้ เนื่องจากเชื่อได้ว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ และขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักคดีเพื่อร่างคำฟ้องเพื่อส่งฟ้องต่อศาลต่อไป

ทางด้านแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์เปิดเผยกับพีพีทีวีหลังทราบมติ ป.ป.ช.ว่า การซื้อ GT200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นการซื้อตามกองทัพ ที่ผ่านมาประสานขอนำหลักฐานเข้าไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.แต่ไม่ได้รับโอกาส และยืนยันความสุจริต และพร้อมสู้คดีในศาล พร้อมแสดงความแปลกใจว่า ในระดับผู้บริหารเธอที่โดนสั่งฟ้องเพียงคนเดียว แต่ที่เหลือซึ่งเป็นทหารกลับไม่มีใครถูกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวถามถึงเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังของการถูกสั่งฟ้องครั้งนี้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า รู้สึกสงสัยในฐานะที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานขณะนั้น มีการจัดซื้อเพียง 3 เครื่อง ทำไมจึงโดนฟ้อง ขณะที่หน่วยงานอื่นซื้อเป็นพันเครื่องแต่รอด และติดใจในเรื่องความไม่เป็นกลาง เนื่องจากเคยถูกกรรมการ ป.ป.ช.วิพากษ์วิจารณ์ เมื่อครั้งที่ พ.ร.บ. นิติวิทยาศาสตร์ เข้าสภาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)