Skip to main content

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวน 11 คนต่อเป็นวันที่สอง ช่วงที่ผ่านมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกรณีที่ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายฯ ข้อหาการทุจริตถุงมือยางภาคสอง ว่า ผู้อภิปรายได้ฉายหนังเก่า ที่พูดมาทั้งหมดกว่า 90% เป็นเรื่องที่ได้เคยพูดมาแล้ว เพียงแต่มาเติมว่า ตั้งแต่วันที่อภิปรายครั้งก่อนจนถึงวันนี้ไม่มีความคืบหน้า และว่าตนไม่กล้าจัดการอะไรกับประธานบอร์ด ฉะนั้นเรื่องที่ผู้อภิปรายยังพูดไม่เป็นความจริง ที่ ป.ป.ช.ไต่สวนนั้นเป็นเพราะองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ (อคส.) ไปยื่นแจ้งกับ ป.ป.ช. ไม่ใช่ข้อมูลประเสริฐ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเลย เพราะตนยังไม่เคยไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.เลย ที่กล่าวหาว่าตนไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่จริงทั้งในที่ลับที่แจ้ง ตนไม่เคยเข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้

จุรินทร์ ชี้แจงอีกว่า ภารกิจของ อคส.ในการที่ต้องทวงเงินคืนนั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องถุงมือยาง แต่มีเงิน 3 ก้อน 1. ทุจริตจำนำข้าว 2. ทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้านพร้อมดอกเบี้ย และ 3. ทุจริตมันสำปะหลัง คู่แฝดทุจริตจำนำข้าวนั่นเอง โดยกรณีทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้านพร้อมดอกเบี้ย เกิดขึ้นเพราะอดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการ อคส. ไปทำสัญญาขายถุงมือยาง 125,000 ล้านบาทให้กับ 7 บริษัท หลังจากนั้น ก็มาทำสัญญาถุงมือยางกับบริษัทการ์เดียนโกลฟส์ 110,000 ล้านบาท เพื่อจะได้เป็นเงื่อนไขในการเบิกเงิน อคส.ไป 2,000 ล้านบาท ที่อ้างว่าไปจ่ายค่ามัดจำ ทั้งนี้ ผอ.อคส.คนใหม่ที่เข้ามาเมื่อทราบว่ามีเงินหายจากบัญชี 2,000 ล้านบาท ก็ได้แจ้งให้ตนทราบ และวันเดียวกันนายกฯ ได้มีคำสั่งย้ายอดีตรักษาการณ์ อคส.ไปยังสำนักนายกฯ ทันที แบบนี้เรียกว่า นายกฯ ละเลยต่อเรื่องนี้ได้อย่างไร จากนั้น ผอ.อคส.ตั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง และไปแจ้งความกับดีเอสไอและ ป.ป.ง.เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 63 เพื่ออายัดเงินทันที และยังไปแจ้งกับ ป.ป.ช.ด้วย และ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63 อายัดเงิน 2,000 ล้านบาท อีกทั้งมีความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ อคส. และชี้มูลวามผิด 3 ราย คืออดีตรักษาการณ์ ผอ.อคส. และเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย ที่ท่านบอกว่า ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบ หรือไม่เคยอายัดเงินเลยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะที่ผ่านมาก็มีการตั้งกรรมการสอบและอายัดเงิน

จุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องที่กล่าวหาว่าประธานบอร์ดสนิทกับคนนั้นคนนี้ ตนได้ชี้แจงไปแล้วอย่างชัดเจน วันนั้นตนเคยอภิปรายไว้แล้ว ต่อมาตนได้ให้ดำเนินการทางแพ่ง อาญา และวินัย ส่วนเรื่องการละเมิด เรื่องการไปติดตามทวงเงิน 2,000 ล้านบาทและดอกเบี้ยคืน ซึ่งใครกระทำความผิดใครเกี่ยวข้องก็จะต้องนำเงินมาชดใช้ เพราะเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ซึ่งอันนี้เป็นการตั้งกรรมการสอบว่าใครต้องรับผิดชอบกี่บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 2539 ซึ่งผลการสอบดังกล่าวก็ออกมาแล้วว่า ผู้ที่ต้องชดใช้เงินนี้มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เจตนาทำให้รัฐเสียหาย ที่มี 4 ราย ต้องชดใช้คนละ 400.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่กรรมการชี้ว่าผิดทางวินัย 3 ราย และประธานบอร์ด ส่วนกลุ่มที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมี 3 ราย ต้องชดใช้คนละ 133.6 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปยุติที่กระทรวงการคลัง และเรื่องนี้ก็ได้ส่งไปยังกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุรินทร์ กล่าวว่า ตนลงนามแต่งตั้งกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดประธานบอร์ดแล้ว เมื่อเดือน 31 พ.ค. 65 และกรรมการได้แจงข้อกล่าวหาแล้ว ส่วนการไต่สวนของ ป.ป.ช.กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดนี้ เราดำเนินการทั้งสามด้านแล้ว ทั้งความผิดทางแพ่ง อาญา และวินัย ฉะนั้น ที่ท่านกล่าวหาว่าตนปล่อยปละละเลยเรื่องนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเงินก้อนที่สองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุจริตจำนำข้าวที่พวกท่านสร้างไว้ก่อความเสียหายให้ อคส. 548,061 ล้านบาท จน อคส.ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,180 คดี ทั้งแพ่ง อาญา ค่าเสียหาย 500,000 กว่าล้านบาท

จากนั้น ประเสริฐ ได้ประท้วงว่า ประชาชนอยากฟังเรื่องเส้นทางการเงินที่ตนอภิปราย ไม่ใช่มาตอบเรื่องอื่นหรือเอาเรื่องอื่นมากลบ แบบนี้เป็นการเอาดีเข้าตัวเอาชั่วใส่คนอื่น

จุรินทร์ กล่าวต่อว่า ผมไม่ได้เอาชั่วใส่ใคร ถ้าชั่วจริงมันก็ต้องชั่ว การดำเนินการคดีทางกฎหมายต้องเกิดเหมือนคดีทุจริตถุงมือยาง และเส้นทางการเงินที่ว่านั้นทาง ป.ป.ช.และ ป.ป.ง.เข้าก็ดำเนินการ และเงินก้อนที่สามมูลค่า 30,000 ล้านบาททุจริตจำนำมันสมัยท่านเป็นรัฐบาลเหมือนกัน ตนถึงได้บอกว่าก๊อบปี้ทุจริตจำนำข้าวมาเลย ทำ อคส.ขาดทุน 33,000 ล้านบาท นี่คือสิ่งที่ อคส.ต้องตามฟ้องและหอบหิ้วกันไปขึ้นศาล เพราะสิ่งที่พวกท่านก่อไว้ ซึ่งตนก็ได้สั่งให้เร่งรัดเงินทั้ง 3 ก้อน