Skip to main content

หลังจากจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะพรรคได้เก้าอี้ ส.ส. เพียง 24 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในการประชุมใหญ่วิสามัญ 9 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ก็เป็นหนึ่งในรายชื่อที่หลายคนพูดถึงว่าจะรีเทิร์น และตั้งความหวังว่า “เดอะมาร์ค” จะกลับมากอบกู้พรรค และรวบรวมศรัทธากลับมาอีกครั้ง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคในรอบนี้ก็ตาม

ทั้งนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียของ ศิริโชค โสภา อดีต ส.ส. สงขลา และผู้ดำเนินรายการสายล่อฟ้า ช่องบลูสกาย ที่เคยได้รับฉายาว่า “วอลล์เปเปอร์อภิสิทธิ์” โพสต์ภาพหมู่ร่วมเฟรมกับ อภิสิทธิ์ และชวน หลีกภัย พร้อมติดแฮชแท็กว่า #Iwillbeback ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่เจ้าตัวใช้ในเพจหลังจากแพ้การเลือกตั้ง ส.ส. สงขลา เขต 7 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคนคาดเดาไปได้ว่าการกลับมาของศิริโชค อาจจะหมายถึงกลับมาทำหน้าที่เป็นวอลล์เปเปอร์ให้อภิสิทธิ์อีกครั้งก็เป็นไปได้

นอกจากศิริโชคแล้ว ทีมเดอะมาร์คที่ยังมีกำลังสำคัญอย่าง อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต ส.ส. กทม. และอดีตแกนนำ กปปส. พนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส. กทม. และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เคยเดินทางไปสำรวจพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา จนกลายเป็นข้อพิพาทใหญ่ เกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอดีตแกนนำ กปปส. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรัง และอดีตแกนนำ กปปส. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้ว่าในรอบนี้ทั้งสองคนจะสอบตก ส.ส. ในบ้านเกิดคือ ตรังและระยอง ตามลำดับ แต่ก็ยังคงมีเครือข่ายในพรรคอยู่พอสมควร ซึ่งคาดว่าหากอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคจริง คนเหล่านี้ รวมทั้งทีมงานเดอะมาร์คอีกหลายคนที่ย้ายไปซบลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะกลับมาทำงานสนับสนุนอภิสิทธิ์ด้วย

พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว 8 คน และ 4 คนเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนึ่งในนั้นคือ อภิสิทธิ์ ที่ในสมัยนั้นเป็นนักการเมืองดาวรุ่ง โปรไฟล์ดี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หน้าตาดีจนเป็นกระแสฟีเวอร์แฟนคลับเก็บป้ายหาเสียงกลับบ้าน และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุด ตั้งแต่ปี 2551-2554 เป็นเวลา 2 ปี 231 วัน แม้จะได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่สองในการเลือกตั้งปี 2550 แต่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการยุบพรรคพลังประชาชน และสร้างตำนานงูเห่า จากการย้ายขั้วของ เนวิน ชิดชอบ มายกมือให้อภิสิทธิ์ในปี 2551 และยุบสภาหลังการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใน 2554

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสในโลกออนไลน์จะยังกล่าวถึงภาพลบของรัฐบาลอภิสิทธิ์ทุกครั้งที่มีกระแสข่าวรีเทิร์น เช่น การสลายการชุมนุม นปช. ในปี 2553 หรือการบอยคอตการเลือกตั้งในปี 2557 แต่ยังมีบางส่วนเชื่อว่าการกลับมาของอภิสิทธิ์จะกอบกู้สถานการณ์พรรคประชาธิปัตย์ที่คะแนนนิยมตกต่ำจนไม่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ให้กลับฟื้นคืนศรัทธาจากประชาชนอีกครั้งก็เป็นได้