Skip to main content

เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กฤษณะ, เทอดศักดิ์, วรรณภา จำเลยข้อหา 'อั้งยี่' ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จากการแจกใบปลิว สติกเกอร์ และขายเสื้อสีดำ และถูกเชื่อมโยงว่ามีส่วนร่วมกับองค์การ 'สหพันธรัฐไท' หลังศาลอุทธรณ์ส่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างฎีกาไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ทำให้ทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64

ต่อมาวันนี้ (29 เม.ย.) ศาลฎีกามีคำสั่งว่าพิเคราะห์แล้ว คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในวันนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยังไม่ยื่นฎีกาและไม่รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หากปล่อยตัวไปอาจหลบหนี จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง

ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยืนจำเลยกระทำผิด 'เป็นอั้งยี่'

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยที่ 1-4 ข้อหาอั้งยี่ จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 

โดยสรุป ศาลพิเคราะห์ว่า ข้อความที่ปรากฎในสติ๊กเกอร์และใบปลิวที่อธิบายระบอบสหพันธรัฐไม่มีลักษณะเป็นการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย  หรือไม่มีลักษณะเป็นการกระทำที่จะส่งผลต่อการเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  หรือไม่มีลักษณะที่มีความหมายให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดินแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1-4 ได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจแล้วว่าได้เข้าร่วมและสนับสนุนองค์กรสหพันธรัฐ ผ่านการแจกใบปลิว และเผยแพร่องค์กรผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนาเข้าร่วมโดยสมัครใจ และเมื่อองค์กรสหพันธรัฐไทมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยเป็นประมุข เป็นระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข  และล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  

ศาลจึงพิพากษาลงโทษในข้อหา “อั้งยี่”เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย 

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยและญาติได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัวจำเลย 3 คน จำเลยที่ 1 นายกฤษณะ ได้ใช้หลักทรัพย์เดิมซึ่งเคยยื่นประกันไว้ จำนวน 100,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM จำเลยที่ 2 นายเทอดศักดิ์ ต้องเปลี่ยนนายประกัน และได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM

จำเลยที่ 3 นางประพันธ์ ยังคงถูกจำคุก โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว และจำเลยที่ 4 น.ส.วรรณภา ยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

เย็นวันที่ 27 เม.ย. 2564 ท่ามกลางความหวังของญาติที่รอคอยผลประกัน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาแทน ทำให้จำเลยทั้งหมดถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำทันที ก่อนที่อีก 2 วันต่อมา ศาลฎีกาจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว 

คำสั่งนี้ทำให้กฤษณะและเทอดศักดิ์ต้องถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนวรรณภาถูกควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง  ส่วน 'ประพันธ์' จำเลยอีกหนึ่งราย ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 โดยไม่ได้ยื่นประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีตั้งแต่ต้น และคาดว่าจะครบกำหนดโทษวันที่ 23 พ.ค. 2564

ความเป็นมาของคดี 

ความเป็นมาในคดีนี้ ช่วงเดือน ก.ย. 2561 มีการควบคุมตัวบุคคลไปในค่ายทหารอย่างน้อย 6 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีต่อมาทั้งหมด 5 คน ได้แก่ กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์, วรรณภา และจินดา (สงวนนามสกุล) 

ทั้งหมดถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นคดีเดียวกันในข้อหา 'ยุยงปลุกปั่น' และ 'เป็นอั้งยี่' ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2561 โดยกล่าวหาว่าทั้งห้าคนได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทและประชาชนทั่วไป ผ่านการแจกใบปลิวและขายเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย.  – 12 ก.ย. 2561 แต่ต่อมาจินดาไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้เหลือจำเลยสี่คน

คดีนี้มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 19-21 และ 26 พ.ย. 2562 ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 โดยพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 กระทำผิดตามมาตรา 209 วรรค 1 เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยและญาติได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัวจำเลย 3 คน จำเลยที่ 1 กฤษณะ ได้ใช้หลักทรัพย์เดิมซึ่งเคยยื่นประกันไว้ จำนวน 100,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM จำเลยที่ 2 เทอดศักดิ์ ต้องเปลี่ยนนายประกัน และได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้า EM 

จำเลยที่ 3 ประพันธ์ ยังคงถูกจำคุก โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว และจำเลยที่ 4 วรรณภา เดิมวางเงินประกันตัวจำนวน 200,000 บาท แต่เนื่องจากศาลตีวงเงินประกันจำนวน 300,000 บาท จึงต้องเช่าหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 100,000 บาท เพื่อยื่นขอประกันตัว โดยไม่ต้องติดกำไลข้อเท้า