Skip to main content

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวในเวทีคุยเรื่องถนน สอจร. โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล และ รัชนี สุภวัตรจริยากุล บิดาและมารดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เพื่อหารือเรื่องแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากกรณีการเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ ซึ่งทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิ์ความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลายขึ้นทั่วประเทศ

นพ.แท้จริง กล่าวว่า นายกฯ รู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบ เพราะผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลกรที่สำคัญของประเทศ และผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจที่รักษากฎหมายกลับทำผิดเอง และที่สำคัญเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว กลายเป็นกระแสสังคมทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุบนทางเท้า เชื่อหรือไม่ว่ากฎหมายปัจจุบัน ชนทางม้าลาย สุดท้ายจะแค่รอลงอาญา 

"นายกฯ ได้เข้าไปกอดให้กำลังใจกับพ่อแม่หมอกระต่าย ไม่นึกว่านายกฯ จะทำถึงขนาดนี้ เห็นชัดว่าเข้าใจความรู้สึกการสูญเสีย เพราะนายกฯ มีลูกสาวสองคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ขณะที่พ่อแม่ของหมอกระต่ายรู้สึกดี ที่นายกฯ ให้ความสำคัญ อย่างน้อยก็ไม่เสียชีวิตโดยเปล่าประโยชน์ มีความหวังความปลอดภัยของสังคมไทย ให้การใช้รถใช้ถนนต้องเปลี่ยนไป  " นพ.แท้จริง กล่าว 

นพ.แท้จริง กล่าวว่า นายกฯ บอกเองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน เป็นปัญหาเชิงระบบที่แก้ยาก ประกอบกับไม่มีความตั้งใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นวิกฤต เหมือนโรคโควิด และยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องกฎหมาย จึงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เกิดขึ้นกับใครบอกว่าซวยหรือเป็นเวรกรรม แต่ต้องสร้างความคิดว่าอุบัติเหตุไม่ใช่แค่เรื่องความประมาท แต่เป็นอาชญากรรม

"เคยถามคนจีนว่าทำไมการขับขี่รถถึงมีความปลอดภัยไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุ เขาบอกว่าโทษรุนแรง ต่างจากประเทศไทยที่ต้นทุนทำความผิดถูกมาก ปรับเงินไม่กี่บาท และประเทศไทยอลุ่มอะลวยกัน" นพ.แท้จริง กล่าว 

นพ.แท้จริง กล่าวว่า นายกฯ ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยให้แนวทางว่า ต้องเอาจริงเอาจังไปดูว่าทำไมถึงแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่ง นายกฯ รู้ว่าลักษณะคนไทยเป็นอย่างไร ไม่เห็นเรื่องอุบัติเหตุเป็นใหญ่เรื่องโต ไม่มีใครเคยร้องนายกฯ ว่าขอให้มาแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทำให้ตระหนักได้ว่าจิตสำนึกอาจจะไม่สามารถสร้างได้ แต่ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เมื่อพูดคุยกันไป เห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาอุบัติเหตุต้องจัดการผ่าตัดแบบถอดรากถอนโคน แต่หากจะเริ่มต้นทำใหม่ ต้องใช้เวลา จึงคิดว่าอะไรที่สามารถทำได้เลย ที่เป็นยาแรงทำลงไปแล้วได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มอะไร จึงเห็นตรงกันว่าคนไทยตอนนี้กลัวกระแสโซเชียล หากนำภาพคนทำผิดกฎหมายโพสต์ลง เชื่อว่าช่วยได้มาก ซึ่งตรงนี้นายกฯ เห็นด้วย และให้นโยบายว่าทำอย่างไรรถยนต์ใหม่ๆ ให้ทุกคันติดกล้องหน้ารถ เพราะใช้บันทึกเป็นหลักฐานได้ ซึ่งสังคมจะช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่ต้องแบ่งเบาภาระของตำรวจ เพราะทั่วประเทศตำรวจมีกำลังเพียง 200,000 คน ไม่เพียงพอที่จะไปเฝ้าถนนได้ทุกจุด 

"มูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเพจที่ชื่อว่า อาสาตาจราจร พร้อมกับคอยมอนิเตอร์ในโลกโซเชียล ดูว่าใครอัพคลิปอะไรที่ผิดกฎหมายความปลอดภัยทางถนนแล้วมีเงินรางวัลให้คัดเลือกคลิปที่โดนเดือนละ 10 รางวัล รางวัลที่ 1 ให้สูงถึง 20,000 บาท เพื่อจูงใจให้คนเป็นหูเป็นตา เห็นใครทำผิดกฎหมายสามารถแจ้งได้เลย ซึ่งนายกฯ เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาว่าจะเอาเงินจากส่วนไหนมาสนับสนุน ให้รางวัลเดือนละ 100 คลิปไปเลย เพราะจะได้ช่วยจูงใจคนแจ้งเหตุ ร่วมกันเป็นหูเป็นตา เชื่อว่าเรื่องนี้จะทำได้อย่างยั่งยืน เพราะคงไม่มีใครติดสินบนชาวโซเชียลได้ อย่ารอกฎหมาย ขอให้ทุกคนเริ่มทำ" นพ.แท้จริง กล่าว 

ส่วนแนวคิดเสนอให้วันที่ 21 ม.ค.ของทุกปีเป็น "วันถนนปลอดภัยแห่งชาติ" เพื่อเป็นวันรำลึกการสูญเสีย และให้เป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยทางถนน นพ.แท้จริง กล่าวว่า นายกฯ เห็นด้วย มอบให้ ปภ.เป็นเจ้าภาพทำเรื่องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากไปพิจารณาแล้วไม่ติดขัดอะไร เพื่อให้สังคมได้รำลึก เรียนรู้ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ อย่าให้การเสียชีวิตของหมอกระต่ายสูญเปล่า ต้องให้สังคมไทยได้มีมุมมองใหม่ 

นพ.แท้จริง ยังได้กล่าวถึงการจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่จัดขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุไม่นาน ว่า ทุกคนยังนำเสนอในเรื่องการแก้ปัญหาทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ส่วนตัวมองว่าผู้นำองค์กรต้องเป็นแกนหลักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมด้วย เช่น หากพบว่าเจ้าหน้าที่ กทม.ใครทำผิดกฎหมาย จะมีผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมถึงเงินเดือน เรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดการคิดพิจารณาหากจะกระทำความผิดจะยับยั้งโดยอัตโนมัติ เพราะกลัวจะมีผลต่องาน และเป็นเรื่องที่ทำได้เลย ไม่ต้องลงทุนอะไร 

"คนไทยไม่มีใครอยากเป็นพระเอกทางอินเทอร์เน็ตและที่สำคัญมีความคิดว่าเสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ นั่นคือ จุดอ่อนของคนไทย การเสียค่าปรับใบสั่ง บางคนคิดว่าเป็นการซื้อไลน์เส้นทำความผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้มเหลวของสังคม ส่วนตัวทำงานลดอุบัติเหตุมา 30 ปี เรียนรู้ว่าเครื่องมือเดิมๆ ที่ใช้ไม่มีประสิทธิที่ภาพเมื่อนำมาใช้กับคนไทยเหมือน เพราะสังคมไทย ยังเป็นสังคมคอรัปชัน อุปถัมภ์ ไม่เช่นนั้นจะมีคนออกมาโพสต์ว่ามีใบสั่งสะสมเป็นร้อยๆ ใบ เพราะไม่จ่ายก็ไม่เป็นอะไร ยังขับรถได้" นพ.แท้จริง กล่าว