ถอดบทเรียนอุบัติเหตุรถโรงเรียนหลังโควิดพบอุบัติเหตุเพิ่ม ชี้คนขับ สภาพรถ เป็นส่วนสำคัญลดอุบัติเหตุ ขอร่วมมือเครือข่ายร่วมดูแลสร้างมาตรฐานความปลอดภัย
เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม เรื่อง "รถโรงเรียนปลอดภัย เพื่ออนาคตอันไกลของหนู" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)
ธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า หลังจากเริ่มเปิดเรียนสถานการณ์อุบัติเหตุกับรถรับส่งนักเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ปี 2564 เปิดเทอมช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 64 แค่ 4 เดือน หลังจากนั้นมีการระบาดโควิดอีกทำให้กลับมาเรียนออนไลน์ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว 8 ครั้ง เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 133 คน เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งถือว่าสูงมาก
ส่วนปี 2565 สถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.เกิดอุบัติเหตุกับรถโรงเรียนถึง 16 ครั้ง สูงมากอีกเช่นกัน จากการวิเคราะห์จะเห็นว่า การปิดเรียนไปนาน ทำให้คนขับรถรับส่งพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไม่คุ้นชิน เพราะไม่ได้ขับมานาน ประกอบการเส้นทางอาจมีอันตรายเพิ่มขึ้น การละเลยไม่ต่อใบอนุญาตขับรถนักเรียน หรือแม้กระทั้งตัวรถรับส่งไม่ได้มาตรฐาน เพราะต้องยอมรับว่าในพื้นที่จะหารถที่มีมาตรฐานร้อยเปอร์เซ็นต์คงทำได้ยาก แต่ต้องทำอย่างไรให้รถที่มีอยู่ปลอดภัยได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
"ล่าสุดเคสกรณีรถนักเรียนตกน้ำที่จังหวัดปทุมธานี เป็นครั้งแรกที่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำให้ต้องคิดว่านอกจากป้องกันอุบัติเหตุทางบกแล้ว ทางน้ำก็สำคัญเช่นกัน คือ เมื่อตกไปแล้ว ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะหาทางออกจากรถ หรือ ช่วยตัวเองออกมาจากสถานการณ์ได้อย่างไร" ธัชวุฒิ กล่าว
ธัชวุฒิ กล่าวว่า ก่อนที่จะกลับมาเรียนเต็มรูปแบบอีกครั้ง อยากให้แต่ละพื้นที่ประสานเครือข่าย เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการรถ ดูว่าตรงไหนยังเป็นช่องที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ ทั้งเรื่องสภาพร่างกายคนขับ ทักษะการขับรถ เรื่องความปลอดภัยของตัวรถที่มาจากการดัดแปลงมาเป็นรถรับส่งนักเรียน เพราะไม่เช่นนั้นหากผู้ปกครองไม่มีความเชื่อมั่นในรถโรงเรียน จะกลับไปใช้รถจักรยานยนต์รับส่งลูกหลาน จะยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นได้อีก แม้ว่าจะยังไม่มีเจ้าภาพหลักในการทำงาน แต่เชื่อว่าเครือข่ายที่มีอยู่ในขณะนี้ทุกคนมีความรู้และพร้อมช่วยทำงาน คงไม่มีใครอยากเห็นผู้ปกครองของนักเรียน 20 คน นั่งร้องไห้พร้อมกัน
ด้านสันติ ธรณี ผู้ช่วยสาธารณสุข อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในพื้นที่ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับสองของ จ.ร้อยเอ็ด ที่ผ่านมาพบการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์กับกลุ่มนักเรียนมากที่สุด ดังนั้นจึงกลับมาคิดกันว่า จะมีกลไกใดที่จะทำให้ลดอุบัติเหตุ จึงหันมามองเรื่องรถโรงเรียน ซึ่งพบว่า ในแต่ละพื้นที่ใช้รถไม่ถูกมาตรฐาน ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ จึงมีการดัดแปลงรถหกล้อบ้าง รถสองแถวบ้าง ดังนั้นจึงกลับมามองว่าจะทำอย่างไรให้รถเหล่านั้นได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น เพิ่มที่ปิดด้านท้าย เพิ่มที่นั่ง ไม่ให้มาห้อยโหนกันท้ายรถ รวมถึงจัดจุดส่งให้ชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้ นึกอยากจอดตรงจุดไหนก็จอด ซึ่งบางจุดใกล้กับที่กลับรถ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีก
"เราได้ดึงผู้ประกอบการ โรงเรียน ผู้ปกครอง ศูนย์ถนนอำเภอ มาพูดคุยกัน ว่าก่อนจะเปิดโรงเรียนอีกครั้ง จะลดปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างไร แน่นอนว่าเราทำในรูปแบบขอความร่วมมือ เพราะเดินไปพร้อมกัน สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือนักเรียน" สันติ กล่าว