Skip to main content

แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ได้จัดเวทีพัฒนาศักยภาพตำรวจในการป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนน ที่โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า กทม. โดยมีตำรวจกำกับการจราจรจากทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายประมาณ 300 คนเข้าร่วม

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงาน สอจร. เปิดเผยว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยบนถนน ที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2564 เหลือ 25 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 16,500 ราย ทำให้ในปี 2565 ทุกฝ่ายคาดหวังจะเห็นการตาย ลดลงจนเหลือ 22 ต่อแสนประชากร ตามแผนแม่บทฉบับที่ 5 แต่ขณะนี้พบว่าผ่านมาเพียงครึ่งปี ยอดตายในปีนี้ได้แซงหน้าครึ่งปีแรกของปี 2564 ไปแล้ว ทุกเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จึงต้องมุ่งหามาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนสอดคล้องตามเป้าหมายแผนงาน สอจร. 9 ที่ได้มุ่งเน้นสนับสนุนเครือข่ายทุกจังหวัด เพื่อลดยอดการเสียชีวิตให้ลดลงตามเป้าหมายแผนแม่บท โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสร้างกลไก  “Social Sanctions” หรือให้สังคมช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับตำรวจ ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีใดๆ เพื่อลดภาระงานของตำรวจ พร้อมไปกับการให้สังคมมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง สนับสนุนกลไกการบังคับใช้กฏหมายของตำรวจ สู้กับทุกข์ภัยบนถนน และลดความเสี่ยงจากพฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง ย้อนศร หรือดื่มแล้วขับ เป็นต้น 

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  (ผบ.ตร.) มอบนโยบายสรุปว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรของประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องดำเนินการป้องกันทุกจังหวัด โดยดึงการมีส่วนร่วมของประชาชน มาช่วยเป็นหูเป็นตาในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งใช้เทคโนโลยีหรือตัวบุคคล ผ่านการดำเนินการด้านอาสาจราจรในระดับพื้นที่ ส่วนกรณีการบังคับใช้กฎหมาย หลังวันที่ 5 ก.ย. 2565 พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดผู้โดยสารเบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัด ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 ซึ่งจะกระทบต่อผู้โดยสารตอนหลัง ทั้งในแคปและท้ายกระบะนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อออกกฎหมายลูกมารองรับ เนื่องจากในแคปไม่มีเข็มขัดนิรภัย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันว่าจะไม่ให้คาดเข็มขัดนิรภัยบริเวณที่นั่งแคป แต่ต้องการความปลอดภัยด้วย  ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ 

ทั้งนี้อาจการกำหนดจำนวนผู้โดยสารที่เหมาะสมแทนให้สามารถนั่งแคปได้ในจำนวน 2-3 คน เพื่อความปลอดภัย ส่วนการนั่งกระบะท้ายซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จำกัดจำนวนคนโดยสารเบื้องต้นคุยกันในขณะทำงานคาดว่าจะให้นั่งได้ไม่เกิน 6 คนและไม่นั่งบนขอบกะบะ แต่เพิ่มข้อกำหนดจำกัดผู้ขับขี่ต้องขับด้วยความเร็วต่ำกว่ากฎหมายกำหนดควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามเมื่อได้ข้อยุติแล้วจะบรรจุเข้าคณะกรรมการร่างกฏหมายของรัฐบาลเมื่อกฏหมายออกมาแล้วจะแจ้งให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง

“หลังวันที่ 5 ก.ย. นี้ ที่กฎหมายจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) มีผลบังคับใช้ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย แต่จะเริ่มปรับจริงเลยหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือแนวปฏิบัติ ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนข้อกังวลที่ว่าตำรวจจะออกข้อบังคับให้นำกระบะ ไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในแคปหรือไม่นั้น เท่าที่ดูไม่ได้มีจุดให้ติดตั้ง แต่หากใครไปทำเองและแน่นหนา ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวและว่าทั้งการบังคับนั่งแคปและนั่งท้ายกะบะจะได้ข้อสรุปไปพร้อมๆกันคือก่อนวันที่ 5 ก.ย.นี้หากพบทำผิดกฏหมายจะต้องมีการทั้งว่ากล่าวตักเตือนและปรับตามขั้นตอนต่อไป ส่วนเรื่องคาร์ซีทอาจจะเลื่อนการบังคับใช้หลังวันที่ 5ก.ย.เนื่องจากคาร์ซีทสำหรับเด็กยังต้องรอมาตรฐานของสภาอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งยังไม่บังคับใช้กฏหมายในวันที่ 5 ก.ย.นี้” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว 

ด้านที่ รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานเต็มที่ โดยในเรื่องข้อกำหนดคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งนั้น จากข้อมูลยืนยันว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สามารถช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง เป็นการป้องกันการสูญเสียที่มีประสิทธิภาพ จึงขอฝากไปยังทุกคนว่า เมื่อถูกตำรวจเรียกตรวจขอให้เข้าใจ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่