Skip to main content

ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงพฤติกรรมการขับขี่รถในปัจจุบันว่า รถจักรยานยนต์ราคาไม่แพงมากนัก สามารถซื้อหาได้ค่อนข้างง่าย ประกอบกับความคล่องตัว และความสะดวกในการเดินทาง จึงเป็นยานพาหนะคันแรกของเยาวชนไทยก็ว่าได้ เด็กไทยกับรถจักรยานยนต์จึงเป็นของคู่กัน 

“เยาวชนเมื่อเริ่มโตเป็นวัยรุ่น และไม่ได้ไปไหนมาไหนกับพ่อแม่ มีสังคม มีธุระของตัวเอง ทำให้มอเตอร์ไซค์ตอบโจทย์การเดินทาง ของเด็กและเยาวชนให้สะดวกสะบายยิ่งขึ้น” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว  

ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า รถจักรยานยนต์​ไม่ได้เป็นพาหนะเสี่ยง เฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนเท่านั้น ในวัยผู้ใหญ่ก็เสี่ยงด้วยเช่นกัน ด้วยลักษณะที่เป็น  2 ล้อ มีขนาดเล็กกว่ารถยนต์ จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งจากการล้มเอง ขี่ไปชนรถคันอื่น และรถคันอื่นพุ่งเข้ามาชน สิ่งที่ตามมาคือความสูญเสีย โอกาสบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงมาก 

“สิ่งที่อยากบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่า การขี่รถจักรยานยนต์เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แม้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย จะยิ่งเสริมต่อการเกิดอุบัติเหตุได้สูงขึ้น โดยเฉพาะ “ความเร็ว” และ “ไม่สวมหมวกกันน็อค” ซึ่งพบเห็นบ่อยมากในกลุ่เด็กและเยาวชนไทย “ ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 

ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบว่า ไม่สวมหมวกกันน็อคถึง 62% ที่น่าตกใจคือในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ซึ่งผิดกฎหมายแน่นอน ไม่ใส่หมวกกันน็อคถึง 77%  ส่วนด้านพฤติกรรมการขับขี่ เนื่องจากเป็นนักขับขี่หน้าใหม่ จึงมีประสบการณ์น้อยและยังไม่ได้รับความรู้ในการขับขี่ที่ถูกต้อง จะเห็นว่าเกือบ 100% เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับการอบรม การขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ปลอดภัยจากที่ไหนมาก่อนเลย ส่วนใหญ่หัดขี่เองทั้งนั้นเลย หรือไม่ก็พ่อแม่ หรือเพื่อนหัดให้ จึงไม่มีทักษะในการควบคุมรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจ และข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 

“ทักษะที่เด็กๆ ขาดมากที่สุด คือ “การใช้เบรก” เกือบ 100% ของเด็กที่เพิ่งขับขี่ใหม่ๆ ใช้เบรกไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทำให้ควบคุมรถไม่ได้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น ตัวเลขโชว์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากเป็นกลุ่มผู้ใหญ่จะไม่ค่อยเป็นปัญหาในเรื่องนี้ เด็กและวัยรุ่นไทยจำเป็นมาก ที่จะต้องได้รับความรู้การขับขี่ และฝึกฝนทักษะที่ถูกต้อง จึงต้องมีระบบหรือกระบวนการ ที่จะใส่ความรู้เรื่องนี้สู่วัยรุ่นให้ได้มากที่สุด อย่างแรกคือการสร้างหลักสูตรในสถานศึกษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ต้องมีการเรียนการสอนที่พุ่งเป้า เรื่องการขับขี่มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย จากการเรียนรู้และฝึกฝนโดยผู้เชี่ยวชาญ เมื่อมีทักษะจากนั้นก็ส่งเสริมให้ไปสอบใบขับขี่ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นคร่อมได้ก็ขี่ออกไปได้แล้ว แต่มันไม่ใช่วิธีขับขี่ที่ปลอดภัย” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 

ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า จากรายงานสถิติระบุว่า ถ้าชนที่ความเร็วประมาณ 80 กม./ชม. โอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% ความเร็วระดับนี้หลายคนบอกว่าช้ามาก โดยเฉพาะหากขับขี่รถยนต์ แต่ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ถือว่าเร็วมากแล้ว ลดลงมานิดถึงที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บสาหัสค่อนข้างมาก ดังนั้นข้อแนะนำคือขับขี่ไม่เกิน 60 กม./ชม. ยิ่งใช้ความเร็วสูงเท่าไหร่ โอกาสเสียชีวิตก็จะมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบประเด็นที่น่าสนใจว่า อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน เป็นเด็กและเยาวชนเยอะมาก ประมาณ 40% อายุ 15-24 ปี นั่นหมายความว่าเด็กๆ ออกมาขี่รถจักรยานยนต์กลางคืนค่อนข้างเยอะ 

“เมื่อเราขับขี่จักรยานยนต์ตอนกลางคืน แน่นอนว่าทัศนวิสัยไม่ดีเท่ากลางวันอยู่แล้ว ในขณะที่แสงไฟหน้ารถมอเตอร์ไซค์ ตามมาตรฐานส่องสว่างเพียงแค่ 25 เมตร แต่ถ้าเราขับที่ความเร็วประมาณ 60 กม./ชม. สายตามเราก็จะมองเห็นแค่ 25 เมตรเช่นกัน แต่หากเจออุปสรรค์หรือส่ิงกีดขวาง จะทำให้เราเบรกไม่ทัน เพราะที่ความเร็วดังกล่าว ต้องใช้ระยะทาง 40 เมตรในการหยุดรถ นี่จึงเป็นสาหัสว่าทำไมเวลากลางคืน มอเตอร์ไซค์ชนกับท้ายรถบรรทุกที่จอดข้างทางได้ง่ายมาก ส่วนใหญ่เราจะขี่มอเตอร์ไซค์กันซ้ายสุดหรือไหล่ทาง ในตอนกลางคืนที่วิ่งมาด้วยแสงไฟ 25 เมตร ทำให้มองไม่เห็น กว่าจะเห็นอีกทีก็คือใกล้แล้ว ทำให้เบรกไม่ทันและพุ่งชนท้ายในที่สุด เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเสียชีวิตเยอะมาก” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 
สิ่งที่อยากฝากเตือนถึงการขับขี่ที่ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บและเสียชีวิตได้มากที่สุดคือ 
1.ไม่ใช้ความเร็วสูง
2.สวมหมวกกันน็อค
3.มีสติในการขับขี่ตลอดเวลา 
4.สังเกตสถานการณ์รอบข้าง เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อไม่ขับขี่เข้าไปในจุดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง