Skip to main content

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย  ประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดโควิด19 ที่ผ่านมา 2 ปีกว่า มาตรการคุมการระบาดโควิดของไทย ถือว่าเราทำได้ดีมากระดับโลก นายกนั่งหัวโต๊ะ ศบค. มีการประชุมทุกวัน มีการถ่ายทอดสถานการณ์ทุกวัน ถือว่าเป็นการสื่อสารถึงประชาชนโดยตรง ทำให้จัดการปัญหาได้อยู่หมัด 

มาตรการล็อกดาวน์ ปิดผับบาร์ และทำงานอยู่บ้าน มีผลโดยตรงต่อเรื่องการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ตัวเลขปี 2563 - 2564 ลดน้อยลงกว่าปี 2561 และ 2562 อย่างชัดเจน ซึ่งปกติเรามีผู้เสียชีวิตปีละ 2 หมื่นราย ลดลงเหลือประมาณ 1.6 หมื่นราย ส่วนหนึ่งเพราะการดำเนินงานของ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนที่ทำต่อเนื่อง แต่มาตรการโควิดก็มีผลอย่างมากต่อตัวเลขที่ลดน้อยลง

แต่ล่าสุดในปีนี้ เมื่อเราผ่อนคลายล็อก สิ่งที่ตามมาพบว่ากราฟคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน เริ่มกระดกขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่น่าวิตกและน่ากลัวมา ข้อมูลจากบริษัทกลางฯ พบว่า เมื่อเทียบอัตราตายเดือนต่อเดือน ระหว่างปี 2564 กับ 2565 ปรากฎว่าปีนี้ตั้งแต่ เม.ย. - ต.ค. คนตายมากกว่าปี 64 ทุกเดือน เดือนละ 10% ตัวเลขกลมๆ รวมแล้วขณะนี้ มากกว่าเป็นหลัก 1,000 เลยทีเดียว ฉะนั้น ถึงสิ้นปีนี้ในเดือน ธ.ค. คาดว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมจะแตะระดับ 1.7 - 1.8 หมื่นราย จาก 1.6 หมื่นรายในปีที่แล้ว 

นพ.วิทยา กล่าวว่า จากสถิติ พบว่าในปี 2564 เมื่อดำเนินมาตรการโควิดอย่างเข้มข้น ทำให้ตำรวจลดความเข้มงวดในการกวดขัด ตั้งด่าน และบังคับใช้กฎหมาย ปรากฎว่าจากการศึกษาของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) พบว่าอัตราการใส่หมวกกันน็อคของคนไทยน้อยลง เช่นเดียวกับอัตราเมาแล้วขับก็เพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่น่ากังวล 

“เพราะพิสูจน์ชัดมานานแล้วว่า การไม่ใส่หมวกกันน็อคมีผลโดยตรง ต่อการบาดเจ็บที่ศรีษะและเสียชีวิต ปกติคนไทยเราก็ใส่ไม่เยอะอยู่แล้ว คนขี่ประมาณ 50% คนซ้อนแค่ 20% เท่านั้น ยิ่งใส่น้อยลงไปอีกก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง รวมถึงเมาแล้วขับที่เป็นต้นตอสำคัญ ปัญหาทั้งสองได้ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ทำให้อุบัติเหตุบนถนนในวันนี้มากยิ่งขึ้น ที่น่าเป็นห่วงในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ที่จะถึงนี้ เป็นช่วงไฮซีซั่นในการท่องเที่ยว งานบุญ ปีใหม่ ซึ่งจะมีการเดินทางมากขึ้น จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” นพ.วิทยา กล่าว 

นพ.วิทยา กล่าวว่า ในช่วงการดำเนินมาตรการโควิด คำพูดที่ว่าสวมแมสไม่ใส่หมวก สะท้อนให้เห็นว่าดีกรีในการให้ความสำคัญ และความเข้มงวดต่างกันนั้นต่างกัน รวมถึงการสื่อสารโควิดที่เผยแพร่ทุกวัน ทำให้คนตระหนักถึงอันตรายและต้องป้องกัน แต่กลับกันในเรื่องความปลอดภัยทางถนน ไม่ได้มีการสื่อสารทุกวันให้ใส่หมวกกันน็อค และนายกฯ ก็ไม่เคยมานั่งหัวโต๊ะบัญชาการอย่างจริงจัง 

“ความตระหนัก เกิดขึ้นได้จากผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองเป็นคนชี้นำ สำหรับชาวบ้านบางทีเขาไม่รู้จริงๆ ดังนั้น ผู้รับผิดชอบนั่นคือหน่วยงานรัฐผู้บริหารและผู้รู้ ต้องเป็นผู้ชี้นำในลักษณะเดียวกับการสวมหน้ากากอนามัย ที่น่าสนใจคือหากเทียบความสูญเสีย ระหว่างโควิดกับอุบัติเหตุทางถนน อย่างหลังเราสูญเสียมากกว่า ที่สำคัญคือกลุ่มที่ตาย คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน คนหนุ่มคนสาวที่เป็นกำลังของประเทศชาติ” นพ.วิทยา กล่าว  

นพ.วิทยา กล่าวว่า ในรายงานโลกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 4 พบว่า ไทยเราอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ส่วนใหญ่ประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรก อยู่ในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด มีไทยเราประเทศเดียวในเอเชีย ที่หลงไปอยู่ในกลุ่มประเทศความสูญเสียสูง ที่น่าสังเกตคือกลุ่มนี้จะเป็นประเทศที่รายได้ต่ำ ระบบสาธารณูปโภคไม่ดี การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น ซึ่งในไทยเราเองไม่ได้แย่ขนาดนั้น เทียบแล้วถนนเราดีกว่ามาก สภาพรถยนต์เราก็ดีกว่า เป็นคำถามที่ว่าทำไมเราถึงตายกันมากกว่านี้ ซึ่งก็เชื่อมให้เห็นความเสี่ยงว่าเราขับเร็วกันเกินไป 

ตั้งแต่ต้นปีเราคาดหวังจากแนวโน้มสองปีที่ผ่านมา ที่ตัวเลขตายลดลง แต่ตอนนี้เนื่องจากกราฟได้กระดกขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เราคิดว่าภาครัฐควรต้องทำอย่างยิ่ง คือ

1 ส่งสัญญาณถึงสังคม และผู้รับผิดชอบอย่างศูนย์ถนน ว่าปัญหากำลังพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนไทยกำลังเจ็บ พิการ และตายมากขึ้นทุกวัน 

2 ในส่วนของแผนงาน สอจร. เราเร่งเดินหน้าโครงการอำเภอ ตำบล มอเตอร์ไซค์ขับขี่ปลอดภัย เพราะ 80% ของคนเสียชีวิตและบาดเจ็บคือกลุ่มขับขี่มอเตอร์ไซค์

3 ในส่วนจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ต้องมีนโยบายสวมหมวกกัน็อค 100% 

4 ตำรวจต้องกวดขัน รณรงค์ รวมถึงบังคับใช้กฎหมาย

5 องค์กรภาครัฐและเอกชน ต้องมีมาตรการองค์กรขับขี่ปลอดภัย 

รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ทั้งปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐาน ติดตั้งไฟส่องสว่าง และแก้ปัญหารถบรรทุกจอดริมทาง รวมถึงทางเลือกในการเดินทาง ให้ประชาชนลดใช้มอเตอร์ไซค์น้อยลงในการเดินทางสัญจร