Skip to main content

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนแล้วกว่า 6 หมื่นครัวเรือน ยังทำความเสียหายให้กับโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วมอีกมูลค่ากว่า 47 ล้านบาท แม้บางพื้นที่น้ำจะลดแล้ว แต่ก็ยังมีอีกบางพื้นที่ที่สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่

ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2565 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (34/2565) ลงวันที่ 22 ก.พ. 65 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ช่วงวันที่ 23 - 26 ก.พ. 2565 ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำใกล้เกาะบอร์เนียว มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมสหพันธรัฐมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง 

น้ำท่วมภาคใต้

ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวัง คือ พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวม 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร (ทุกอำเภอ) สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก คีรีรัฐนิคม พนม เวียงสระ เคียนซา พระแสง บ้านนาสาร ชัยบุรี บ้านตาขุน เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ พรหมคีรี พิปูน ฉวาง ลานสกา ช้างกลาง ร่อนพิบูลย์  ทุ่งสง นาบอน ขนอม สิชล นบพิตำ ชะอวด ท่าศาลา จุฬาภรณ์) พัทลุง (อ.ตะโหมด ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ กงหรา ป่าบอน ป่าพะยอม เขาชัยสน) สงขลา (อ.เมืองฯ รัตภูมิ จะนะ หาดใหญ่ สะเดา สะบ้าย้อย นาหม่อม นาทวี) ปัตตานี (อ.โคกโพธิ์) ยะลา (อ.ยะหา กาบัง บันนังสตา กรงปินัง ธารโต เบตง) นราธิวาส (อ.ศรีสาคร รือเสาะ จะแนะ) ระนอง  (ทุกอำเภอ) พังงา (อ.ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี กะปง ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อ.ถลาง) กระบี่ (อ.เมืองฯ เขาพนม ปลายพระยา) ตรัง (อ.เมืองฯ รัษฎา นาโยง ห้วยยอด ย่านตาขาว) และสตูล (อ.เมืองฯ ควนโดน ควนกาหลง ละงู) 

และพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง รวม 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร) สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา) ปัตตานี (อ.หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี ไม้แก่น) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ)

น้ำท่วมภาคใต้

กอปภ.ก. ได้แจ้งให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย และประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าผ่านกลไกการสื่อสารแจ้งเตือนภัยในพื้นที่

ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หยุดการะบายน้ำเขื่อนบางลางเป็นการชั่วคราวจนกว่ามวลน้ำหลากจะระบายลงสู่ทะเลเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำกลางคลองมูโนะ อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกพื้นที่ และมีการพร่องน้ำในแม่น้ำบางนารา โดยการควบคุมการระบายน้ำผ่านประตูระบาย น้ำบางนาราตอนบน ตอนล่างและประตูระบายน้ำน้ำแบ่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

ปภ. อัพเดต น้ำท่วมใต้ ปชช.กระทบเกือบ 6 หมื่นครัวเรือน

ในวันนี้ (4 มี.ค.) ปภ. อัพเดตสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่า ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. - 4 มี.ค. 2565 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่รวม 7 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และตรัง รวม 44 อำเภอ 227 ตำบล 1,122 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 59,563 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในจังหวัดปัตตานี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น รวม 16 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,604 ครัวเรือน ระดับน้ำในพื้นที่ลดลง 

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และจังหวัดปัตตานี และสถานการณ์วาตภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา

น้ำท่วมภาคใต้

ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และประสานงานการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และบริหารสถานการณ์ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และกองอำนวยการจังหวัด มาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่ได้เริ่มเกิดสถานการณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการทุกระดับ ของทั้ง 6 จังหวัด ได้ใช้กลไกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุม สั่งการ และอำนวยการ ระดมสรรพกำลัง ประสานการปฏิบัติทั้งฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เครื่องจักรกลในพื้นที่ของทุกหน่วยงาน เร่งระบายน้ำและเปิดทางน้ำในพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง

โรงเรียนถูกน้ำท่วมเสียหายรวม 47 ล้านบาท - ศธ. ช่วยเหลือเบื้องต้น 2.6 แสนบาท

วันที่ 3 มี.ค. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย สุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ., อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

​โดย ตรีนุช เปิดเผยว่า การลงพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสวันนี้ ตนเอง และกระทรวงศึกษาธิการ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ อีกทั้งตนได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ตนรับทราบอย่างต่อเนื่อง และทั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยา และสร้างขวัญกำลังใจ โดยเบื้องต้น สพฐ.ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือ 260,000 บาท ให้แก่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา 

น้ำท่วมภาคใต้

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายรวม 197 โรงเรียน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 47,402,787 บาท มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ 14,645 คน และครูที่ได้รับผลกระทบอีก 342 คน

นอกจากโรงเรียนเสียหายแล้ว ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย คือ รถพลัดตกคอสะพานบ้านโนนสมบูรณ์ ที่ ม. 5 ต.ภูเขาทอง ซึ่งเป็นรถของ นพดล มะลิลา พนักงานราชการโรงเรียนนิคมพัฒนา 10 อ.สุคิริน พร้อมสมาชิกในครอบครัว เป็นรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า ทะเบียนนราธิวาส หงายท้องจมน้ำอยู่ โดยนักประดาน้ำได้ลงงมค้นหาบุคคลที่จมอยู่ในห้องโดยสาร พบเสียชีวิตแล้ว 6 ราย และพบสูญหายอีก 1 คน คาดว่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวน่าจะพัดร่างไปไกลจากจุดเกิดเหตุหลายกิโลเมตร