Skip to main content

 

“น้ำท่วม” เป็นภัยธรรมชาติที่สามารถสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง และเป็นหายนะภัยที่สามารถกวาดเอาชีวิตผู้คน รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ให้หายไปกับกระแสน้ำ ทั้งยังทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมไปถึงชีวิตสัตว์ป่า พืชพรรณ ผลผลิตการเกษตร และทิ้งไว้เพียงความโศกเศร้าของความสูญเสีย และเศรษฐกิจที่พังยับเยินหลังน้ำลด

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ สามารถระบุความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้แม่นยำมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วเหตุการณ์ฝนตกหนักที่บันทึกไว้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา  1 ใน 4   มีความเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายว่า ปริมาณ “ฝนที่ตกหนัก” มากขึ้นทั่วโลกเกี่ยวเนื่องกับ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศจะเป็นเสมือนผ้าใบที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ และจะดักจับความร้อน เป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น  และทำให้เกิดการระเหยของน้ำจากผืนดินและทะเลในอัตราที่เร็วมากขึ้น นั่นหมายถึง เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้มากขึ้น และเมื่อน้ำฝนปริมาณมหาศาลตกสู่พื้นโลกภายในช่วงเวลาสั้นๆ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่

คณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเกือบ 1.5 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดฝนตกหนักมาก ซึ่งจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น เหตุการณ์ฝนตกหนักที่เคยเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งในรอบ 10 ปี จะเกิดเป็น 1.5 ครั้งในทุก 10 ปี โดยที่ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมร้อยละ 10

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดฝนหรือหิมะตกหนักมากขึ้น ทำให้บริเวณพื้นที่ภูเขาเกิดน้ำท่วมและดินถล่ม มีการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2022 ในวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ระบุว่า ในฤดูหนาว พื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 15 ต่ออากาศที่อุ่นขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดพายุแบบทันทีถี่ขึ้น จากชั้นบรรยากาศและรูปแบบของสภาพอากาศที่มีความซับซ้อน

ปีที่แล้ว ยุโรปมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากปรกติร้อยละ 7 ปริมาณฝนที่มากระดับทำลายสถิตินี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมในอิตาลี นอร์เวย์ สวีเดน และสโลวีเนีย ขณะที่ยังไม่มีการศึกษาที่อธิบายเหตุการณ์น้ำท่วมในเยอรมนีครั้งล่าสุดจากฝนที่ตกถี่ขึ้น เมื่อปีที่แล้วปริมาณฝนตกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2020

ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่ภาคตะวันตกของเยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2021 นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิชาการ World Weather Attribution ในสหราชอาณาจักรระบุว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงขึ้นระหว่างร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 19 ในปริมาณที่มากกว่าปรกติ 1.2 ถึง 9 เท่า

นับจากปี 2000 มีการประเมินว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ทุกวันนี้ มีคนราว 1.8 พันล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ปรกติจะเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งในรอบ 100 ปี

ที่ยุโรป ประชาชนในเยอรมนีมีความเสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมมากที่สุด ตามมาด้วยฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ในปี 2023 หนึ่งในสามของโครงข่ายแม่น้ำในทวีปยุโรปมีปริมาณน้ำเกินระดับน้ำท่วมสูง และร้อยละ 16 เกินระดับรุนแรง ระดับน้ำในเดือนธันวาคมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำสูงผิดปกติถึงใน 1 ใน 4 ของแม่น้ำบนภาคพื้นทวีป

มีประชากรราวร้อยละ 89 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกน้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ มีประชากรในจีน 395 ล้านคน และ 390 ล้านคนในอินเดียที่เสี่ยงต่ออุทกภัย

การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า จำนวนของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วม เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.22 เท่านับจากปี 1985 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความเป็นเมือง โดยเฉพาะในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ที่เมืองต่างๆ มักอยู่ริมเส้นทางไหลของน้ำ

ในอนาคต น้ำจะท่วมหนักขึ้นหรือไม่ ?

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมระดับรุนแรงสุดๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่สามารถยับยั้งภาวะโลกร้อนเอาไว้ได้ IPCC ระบุว่า หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่าก่อนช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียสเมื่อไหร่ จะเกิดฝนตกหนักที่จะเกิด 1 ครั้งในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ครั้งต่อ 10 ปี และปริมาณฝนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และหากโลกร้อนขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส ฝนกตกหนักแบบที่จะเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 10 ปี จะเกิดขึ้น 3 ครั้งหรือบ่อยกว่านั้น และมีปริมาณฝนมากขึ้นถึงร้อยละ 30

การคำนวณของศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยของสำนักงานการวิจัยและความรู้ของคณะกรรมาธิการยุโรป เผยว่า เฉพาะในยุโรปแห่งเดียว ในปี 2100 น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 4.8 หมื่นล้านยูโรต่อปี และจะมีประชากรในยุโรปที่จะเผชิญกับน้ำท่วมเพิ่มเป็น 3 เท่า

 

ที่มา
How is climate change impacting global flooding?