Skip to main content

 

ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมากต้องเผชิญภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า จากการสูญเสียผลิตผลการเกษตรอันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และส่งผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรทั่วโลก

วิกฤตสภาพภูมิอากาศ กำลังสร้างหายนะให้กับพื้นที่เกษตรกรรมทั่วสหรัฐอเมริกา ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียเผาผลาญต้นอะโวคาโดและต้นซีตรัสจนหมดสิ้น ขณะที่พื้นที่ในแถบมิดเวสต์ก็เผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลือง เช่นเดียวกับในแนวเขตอาร์กติกและปัญหาสภาพอากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล ก็ได้ทำลายต้นเมเปิลทั่วภูมิภาค

ผลกระทบเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายมากกว่าเดิม การสำรวจของ National Young Farmers Coalition เมื่อปี 2022 พบว่า เกษตรกรุ่นใหม่มากกว่าครึ่งระบุว่า กำลังเผชิญกับผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศบ่อยมาก ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และแมลงศัตรูพืช ถือเป็นภัยคุกคามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ขณะที่งานวิจัยของ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า ความร้อนมีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายของเกษตรกร สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มทำงานป้องกันการฆ่าตัวตายในโคโลราโด ที่ ชี้ว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่เกษตรกรเพิ่มขึ้น

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงประเทศออสเตรเลีย

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผู้คนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวอย่างถึงที่สุด โดยที่พวกเขารู้สึกว่าไม่มีทางออกสำหรับปัญหานี้” ไมค์ รอสมันน์ เกษตรกรและนักจิตวิทยาในไอโอวา กล่าว

สมาคมสุขภาพชนบทแห่งชาติ ระบุว่า เกษตรกรมักทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่มั่นคง นโยบายที่เปลี่ยนแปลง อัตราภาษีที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงราคาอาหารที่ผันผวน ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายของเกษตรกรสูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3.5 เท่า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเกษตร ที่สูงมากอยู่แล้วมีแนวโน้มสูงมากขึ้น

“เกษตรกรต่างมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อน เกษตรกรบางคนสูญเสียพืชผลทั้งฤดูกาล เนื่องจากน้ำท่วม คลื่นความร้อน หรือภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ” รอสมันน์กล่าว และเสริมว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายยังหมายถึงการทำงานมากขึ้น โดยไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง ซึ่งส่งผลให้คนทำงานเกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ

แม้จะเป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด แต่เกษตรกรก็มีปัญหาในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต ที่มักไม่สามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่ชนบท รวมทั้งการให้บริการก็ไม่ถูกปรับให้เหมาะกับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งการเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตอาจทำให้เกษตรกรรู้สึกแปลกแยก และบางครั้งชุมชนก็ยังตีตราหรือรังเกียจคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต

“การเข้าถึงเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ คุณจำเป็นต้องเข้าใจและให้การดูแลอย่างเหมาะสมตามวัฒนธรรม” รอสมันน์กล่าว และหนึ่งในนั้นคือการจัดประชุมกลุ่มเกษตรกรในศูนย์ท้องถิ่น ซึ่งสามารถให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการขอความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากรัฐมีอำนาจในการแก้ไขต้นตอความทุกข์ยากของเกษตรกร แต่สิ่งที่เกษตรกรต้องการไม่ใช่แค่การสนับสนุนจากภาครัฐ แต่เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยกันพัฒนากลยุทธ์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรทั่วโลก

“เหนือสิ่งอื่นใด เกษตรกรต้องการโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา อย่าปล่อยให้ปัญหาเลวร้ายจนเกินจะแก้ไข แต่เราจำเป็นต้องใช้แนวทางเชิงรุกในการแก้ปัญหานี้” รอสมันน์ กล่าว

 

อ้างอิง
สายด่วนเกษตรกร Farm Aid 
Farmers Navigate Dual Crises of Climate and Mental Health