ยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ #CountMeIn “โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก” โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเด็กและเยาวชน
ปัจจุบันมีเด็กกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้น และจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านคนในปี 2593 โดยในแต่ละปีจะมีเด็ก 40 ล้านคนทั่วโลก ต้องขาดเรียนเพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ยูนิเซฟระบุว่า ในปี 2563 เด็กไทย 3 ใน 4 คน หรือราว 10.3 ล้านคนเผชิญกับคลื่นความร้อน และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เด็กไทยเกือบทั้งหมดจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นในปี 2593
ภาพจาก ยูนิเซฟ ประเทศไทย
นอกจากนี้ เด็กๆ ยังต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยในแต่ละวัน จะมีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกือบ 2,000 คนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ เช่น จากฝุ่น PM 2.5 ขณะที่ในปี 2564 มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 8.1 ล้านราย
อลิสา ผลไธสง เยาวชนวัย 19 ปี จากชุมชนขุนสมุทรจีน ใน จ.สมุทรปราการ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอต้องย้ายบ้านถึง 3 ครั้งจากพายุที่รุนแรง และหลายครอบครัวในชุมชนไม่สามารถอยู่อาศัยได้เนื่องจากน้ำท่วมหนักและบ่อยขึ้น
"สภาพอากาศในปัจจุบันดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มันรู้สึกเหมือนครอบครัวของเราต้องทำงานหาเงินเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสร้างบ้านใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่" อลิสากล่าว
ในแคมเปญ #CountMeIn มีการจัดทำเรื่องราวภาพถ่ายสะท้อนประสบการณ์ของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคกลางของไทยครั้งล่าสุด รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนบอกเล่าเรื่องราวผ่านสิ่งสำคัญในชีวิตที่หายไปจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น เยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่สูญเสียแม่จากโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นผลจาก PM2.5 หรือการสังเกตเห็นการลดลงของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า หรือการสูญเสียอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนและที่ถูกน้ำท่วมพัดหายไปที่ จ.ยะลาเมื่อปีที่ผ่านมา
ภาพจาก ยูนิเซฟ ประเทศไทย
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กในทุกด้าน แต่เสียงของพวกเขากลับเป็นสิ่งที่ได้ยินน้อยที่สุด และเราต้องไม่ลืมว่าอนาคตที่เรากำลังสร้างนั้นเป็นของพวกเขา และเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน” คยองซอน คิม ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว
เมื่อเดือนที่แล้ว ยูนิเซฟร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและภาคีเครือข่าย เปิดตัว คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ นำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่าย มีกิจกรรมสำหรับครูและนักเรียนในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยคู่มือ ABC นี้จะถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ
ภาพจาก ยูนิเซฟ ประเทศไทย
ในเดือนกันยายนนี้ แคมเปญ #CountMeIn จะมีการจัดทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และคำแนะนำของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะมีการจัดประชุมหารือกับเยาวชน ซึ่งนำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนของยูนิเซฟ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะของเยาวชนเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่จะจัดขึ้นในประเทศอาเซอร์ไบจานในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ Count Me In