Skip to main content

สรุป

• เวลาที่สังคมถกเถียงเรื่องความยากจนหรือคนจน มักจะเป็นความคิดเห็นของคนชนชั้นกลาง นักกิจกรรม นักวิชาการ แต่เสียงของคนจนที่เผชิญหน้ากับความยากจนกลับไม่ดังเท่าไหร่นัก


• ความยากจนไม่ได้เป็นเรื่องของการมีรายได้ต่ำเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับความยากจน

'รูเบิล เอ็มเจ คาดิกี' จากมหาวิทยาลัยเกษตรโซโคอิเนได้ศึกษาคนจนในที่ราบอูซันกู ประเทศแทนซาเนียช่วงปี 2545 - 2548 และพบว่า ในสายตาของคนจน ความยากจนนอกจากจะเป็นเรื่องรายได้แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น เสียงในการพูดในชุมชน สุขภาพ การได้เรียนหนังสือ และการเข้าถึงทรัพย์สิน อย่างที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตร น้ำในการทำเกษตร เป็นต้น ครอบครัวยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการขายแรงงาน

การศึกษาของ 'สเตฟานี เบเคอร์ คอลลินส์' จากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ของแคนาดา ยิ่งทำให้เข้าใจมุมมองของคนจนได้ดีขึ้น โดยวิจัยนี้ได้ให้กลุ่มผู้หญิงที่เป็นสมาชิกกลุ่มรับแจกอาหารในเขตน้ำตกไนแอการาของแคนาดาได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ความเครียดจากความยากจน และบทบาทหน้าที่ของระบบการช่วยเหลือทางสังคมในการกำหนดทัศนคติของสังคม

คุณภาพชีวิตที่ดีในสายตาของคนจน


ผู้เข้าร่วมงานวิจัยส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี พวกเธอจะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่พวกเธอมองว่าสำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์กับครอบครัว ลูก และเพื่อน ตามมาด้วย ความรัก ความสุข และความภาคภูมิใจในตัวเอง

บางคนนึกถึงการใช้ชีวิตปราศจากความเครียด สุขภาพดี มีหน้าที่การงานที่ดี มีน้ำสะอาด มีบ้านดีๆ มีอาหารเต็มตู้กับข้าว มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหนี้ ได้มีวันหยุดพักผ่อน ทำตามความฝัน แทบไม่มีใครพูดถึงเรื่อง ‘เงิน’ โดยตรง แต่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่พวกเธอต้องการนั้น หลายครั้งก็ต้องใช้เงิน

ขณะที่การมีคุณภาพชีวิตแย่คือการใช้ชีวิตกับความเครียดและกังวล ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พวกเธอกังวลก็คือการถูกจับตามอง กลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัยอธิบายว่า การได้รับความช่วยเหลือทางสังคมเปรียบเหมือน ‘การใช้ชีวิตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ขนาดยักษ์’

คุณภาพชีวิตแย่ในสายตาของคนจนนั้นมองเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าตอนพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การมีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งนำไปสู่การมีอาหารไม่พอกิน สภาพบ้านย่ำแย่ สุขภาพแย่ ในแง่ความสัมพันธ์ หลายคนมีความกังวลเรื่อง “ไม่มีปัญญาจะช่วยคนอื่น” และ “ลูกเดินผิดทาง”

ฤดูกาลแห่งความยากจน

ฤดูกาลก็เป็นอีกแง่มุมที่สำคัญสำหรับคนจน เพราะฤดูกาล สภาพอากาศกระทบกับปริมาณงาน ปริมาณอาหาร ระดับรายได้ และกิจกรรมทางการเกษตร อีกทั้งยังกระทบค่าใช้จ่ายด้วย เพราะแต่ละช่วงก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปและราคาที่เปลี่ยนไป เช่น เสื้อผ้า ค่าไฟฟ้าประปา ยารักษาโรค อาหาร และอุปกรณ์การเรียน ซึ่งความไม่แน่นอนในเรื่องค่าใช้จ่าย ปริมาณอาหาร ระดับการกู้เงินนั้น ยิ่งทำให้คนจนเครียดยิ่งกว่าเดิม

ความเครียดของคนจนก็มักจะขึ้นลงในแต่ละช่วงของเดือนด้วย ในช่วงต้นเดือนคนจนก็จะกังวลน้อยลง เพราะมีเงินพอกินข้าว แต่ช่วงปลายเงินจะเป็นช่วงเวลาที่เครียดสุดขีด โดยเฉพาะช่วงที่มีใบแจ้งเตือนจะตัดน้ำตัดไฟ ซึ่งความเครียดนี้ก็จะเป็นวงจรเช่นนี้ทุกเดือน

คนจนมองคนอื่นยังไง? 

ผู้เข้าร่วมวิจัยมองคนกลุ่มต่างๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ คนรวย คนที่มีรายได้สูง คนรายได้ปานกลาง คนรายได้น้อย และคนยากจน โดยคนรวยและคนที่มีรายได้สูงนั้น ‘มีเงินเยอะ’ และ ‘ใช้ชีวิตหรูหรา’ คนรวยใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย มีหนี้สินท่วมตัว ส่วนคนรายได้สูงเป็นพวกขี้เหนียวและชอบการแข่งขัน แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น มีความเครียดสูงและอาจทำให้พวกเขาติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด

ที่น่าสนใจ คือ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและการใช้ยาเสพติดก็เป็นสิ่งที่คนรวยมักมีภาพจำเกี่ยวกับคนจนเช่นกัน

และงานวิจัยเกี่ยวมุมมองของคนจนในแทนซาเนียก็ออกมาคล้ายกันว่า คนจนมองว่า “คนรวยเข้าถึงความร่ำรวยได้ แต่บางคนไม่ใช้ความร่ำรวยในการเข้าถึงคุณภาพที่ดี”

ผู้เข้าร่วมวิจัยมองคนมีรายได้ปานกลางในแง่ดีมากที่สุด และดูเป็นกลุ่มที่ผู้เข้าร่วมวิจัยอยากอยู่มากที่สุด เพราะพวกเธอมองว่าคนมีรายได้ปานกลางมีรายได้เพียงพอจะอยู่อย่างสบาย ไม่มีหนี้สิน อยู่อย่างพอเพียง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนกลุ่มอื่นๆ และไม่มีความเครียดมากเกินไป

ส่วนคนรายได้น้อย ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นคนที่มีหนี้ ใช้ชีวิตอยู่กับความเครียด แต่ก็มีความสุข มีทัศนคติที่ดีต่อคนกลุ่มอื่น แต่พวกเขาถูกดูถูกจากทั้งคนรวย คนมีรายได้สูงและปานกลาง ขณะที่คนยากจนเป็นคนที่ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน แทบไม่มีอะไรติดตัว มักหวาดกลัว ไม่สุงสิงกับใคร และไม่ค่อยภาคภูมิใจในตัวเอง หลายคนเป็นคนไร้บ้านอย่างถาวร

“ใช้ชีวิตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ยักษ์” 

กลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัยอธิบายว่า การได้รับความช่วยเหลือทางสังคมเปรียบเหมือน ‘การใช้ชีวิตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ขนาดยักษ์’ เพราะเหมือนถูกสอดส่องตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบตามมา 2 อย่าง คือ

1. รู้สึกผิดกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำลงไปทุกอย่าง
2. การได้รับความช่วยเหลือทางสังคมทำให้ต้องยอมสูญเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วน จนทำให้รู้สึกว่าไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผู้เข้าร่วมการวิจัยระบุว่า พวกเธอรู้สึกว่าขาดเสรีภาพ เมื่อต้องพึ่งพาการช่วยเหลือทางสังคม ทั้งเสรีภาพในการใช้จ่าย เสรีภาพในการผ่อนคลาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการทำงาน และเสรีภาพในการตัดสินใจ บางครั้งการทำตามกฎเกณฑ์ของเจ้าหน้าที่ ไม่เหมาะกับแผนการกำหนดงบค่าใช้จ่าย

บางคนทักท้วงว่าการชนะบิงโกเป็นการเสี่ยงโชคที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากความยากจน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรพยายามจะหักเงินช่วยเหลือ หรือไม่ควรถูกตั้งคำถามหนักเวลาซื้อเฟอร์นิเจอร์

นอกจากนี้ พวกเธอมองว่าบรรยากาศการเมืองทำให้คนเพิกเฉยกับการตัดงบสวัสดิการรัฐ ลดการช่วยเหลือและเพิ่มการสอดส่อง คนในสังคมตัดสินคนที่ได้รับสวัสดิการคนจนทำให้พวกเธอเจ็บปวดพอๆ กับการที่พวกเธอไม่มีเงินซื้อของพื้นฐานที่จำเป็น การต้องเจอกับการคอร์รัปชันและการถูกปฏิบัติไม่ดีทำให้คนจนรู้สึกไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีปากมีเสียง และหลีกเลี่ยงการรับสวัสดิการจากรัฐ