สำหรับคนในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก รายได้ครัวเรือนระดับเดือนละ 100,000 บาท อาจเป็นรายได้ระดับร่ำรวยเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับคนอเมริกันนี่ไม่ใช่รายได้ที่เยอะ และในหลายๆ พื้นที่รายได้ต่อเดือนเท่านี้อาจถือว่ายากจนด้วยซ้ำ และนี่คือเรื่องราวจริงๆ ของชายอเมริกันคนหนึ่งที่เล่าให้ Business Insider ฟัง
ชายคนนี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือได้ว่าร่ำรวยเลยทีเดียวในรัฐแคลิฟอร์เนีย รายได้เดือนหนึ่งตกหลายแสนบาท แต่สุดท้ายทุกอย่างมาพังตอนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และเขาก็มาป่วย ซึ่งต้องใช้เงินมากมายเพื่อรักษาตัวอีก และหลังจากนั้นภรรยาที่อยู่กันมา 27 ปีก็มาขอหย่าร้างในปี 2013
ในปี 2014 ในวัย 60 ปี ชายผู้นี้เสียบ้านไป และต้องมาเช่าห้องอยู่ในราคาเดือนละ 24,000 บาท ขณะที่รายได้จากงานใหม่ที่เป็นงานที่ปรึกษาในตอนนั้นคือเดือนละประมาณ 33,000 บาท ซึ่งเรียกได้ว่าไม่พอกินแน่ๆ สุดท้ายในปี 2016 ซึ่งเค้ามีอายุถึง 62 ปี เลยเลือกจะเริ่มเคลมบำนาญประกันสังคม ซึ่งระบบอเมริกันคือ เริ่มเคลมได้ตอนอายุ 62 ปี หรือจะเคลมช้ากว่านั้นก็ได้ ซึ่งก็จะได้เงินจำนวนที่มากขึ้น แต่ชายผู้นี้คือไม่ไหวแล้ว ไม่มีจะกิน เลยต้องเคลมในตอนนั้นเลย
นี่เลยทำให้เค้ามีเงินเพิ่มมาอีก 57,000 บาทต่อเดือน โดยในตอนนั้น เค้าเริ่มคบหากับผู้หญิงคนใหม่ ซึ่งเธอมีรายได้จากค่าเลี้ยงดูจากการหย่าร้างราวๆ เดือนละ 10,000 บาท ทำให้คู่รักสูงวัยคู่นี้มีรายได้รวมกันเดือนละ 100,000 บาท
แต่เงินรายได้เท่านี้ ไม่พอที่จะอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เพราะถ้าจะเช่าที่พักอาศัยให้อยู่สองคนสบายๆ ก็น่าจะต้องเสียค่าเช่าที่พัก 50,000 บาทต่อเดือน และการอยู่อเมริกาก็ต้องมีรถ ก็ต้องเสียค่ารถ ค่าประกัน ค่าน้ำมันอีก รวมค่ากินอยู่เบ็ดเสร็จ เงินก็หมดเกลี้ยงพอดี
รายได้ 100,000 บาทต่อเดือน อยู่กันสองคนมันอยู่ได้ แต่เค้าใช้คำว่า "อยู่ได้แบบยากจน" เลยทำให้ชายผู้นี้เกิดไอเดียว่า เงินจำนวนเท่านี้ไปอยู่ที่อื่นน่าจะสบายกว่า
เค้าก็ทำแบบนั้นจริงๆ โดยเดินทางออกจากอเมริกาในปี 2019 นับแต่นั้นมาจนปัจจุบันเคยอยู่มาแล้ว 43 ประเทศ ปรกติเค้าเป็นคนที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศมากนัก ตอนแรกเลยอยู่แต่ในทวีปอเมริกาและยุโรป เช่น แอลแบเนีย บัลแกเรีย โครเอเชีย เยอรมนี กรีซ อิตาลี โปรตุเกส สเปน โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย เม็กซิโก เอกวาดอร์ ก่อนที่เขาจะเขยิบไปนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเข้ามาในเอเชียครั้งแรก โดยไปเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และล่าสุดปักหลักอยู่ที่มาเลเซีย
จริงๆ เค้ามีไอเดียง่ายๆ คือ ยอมจ่าย "ค่าเช่า" ต่อเดือนเท่ากับจำนวนเงินที่เคยจ่ายในอเมริกา ซึ่งเป็นเงิน 700 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 24,000 บาท) ในทุกที่ที่ไปอยู่ เพื่อจะดูว่าค่าเช่าเท่านี้แต่ละที่ให้ห้องแบบไหน ซึ่งถ้าพูดถึงค่ากินอยู่อื่นๆ ไม่มีที่ไหนที่จะแพงไปกว่าแคลิฟอร์เนียอีกแล้ว ดังนั้น ในที่อื่นๆ เค้าจึงจ่ายได้ไหวทั้งหมด
แน่นอน เมื่อได้มาที่เอเชีย ชายอเมริกันรายนี้จึงประทับใจในความ "ถูกและดี" ของที่นี่มาก และเราก็คงไม่ต้องจินตนาการมากว่า สำหรับต่างชาติที่มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท มาอยู่หลายประเทศ ในเอเชีย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นเศรษฐีเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่รายได้เท่านี้ต้องมีชีวิตอย่างยาจกในประเทศของตัวเอง
เนื่องจากเค้าเป็นคนอเมริกัน สิ่งหนึ่งที่เค้ารู้สึกว่า ถูกอย่างเหลือเชื่อก็คือ “ค่ารักษาพยาบาล” เพราะ ในระหว่างการเดินทาง มีเหตุที่เค้าต้องเรียกรถพยาบาล 2 รอบ ครั้งแรกที่โปรตุเกส และครั้งที่สองที่ไทย ซึ่งเงินที่เค้าเสียไปก็แค่หลักพันบาทเท่านั้น นั่นคือถูกมาก เพราะในสหรัฐอเมริกา การเรียกรถพยาบาล ต้องเตรียมเสียเงินประมาณ 40,000-50,000 บาท
นอกจากนี้ เมื่อภรรยาของเค้าต้องผ่าต้อกระจกที่มาเลเซีย เค้าก็พบว่าเงินค่าหมอที่เสียไปทั้งหมด น่าจะเพียงราวๆ 1 ใน 3 ของที่เค้าต้องจ่ายถ้าเค้าผ่าตัดในอเมริกา ทั้งหมดนี้ทำให้คนที่เคย "ล้มละลายเพราะค่าหมอ" ในอเมริกามาแล้วอย่างชายคนนี้ ยิ่งรู้สึกว่าค่ารักษาพยาบาลนอกอเมริกานี่มัน “ถูกสุดยอด” ไปเลย
เรื่องราวทั้งหมดนี้ อาจเป็นเรื่องของคนอเมริกาวัยเกษียณคนหนึ่ง แต่อีกด้าน ก็เป็นภาพของสิ่งที่ดูจะเกิดขึ้นในอนาคตกับคนอเมริกันจำนวนมาก เพราะสุดท้ายค่าครองชีพรวมๆ และค่ารักษาพยาบาล เป็นสิ่งที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาก ในระดับที่ไม่ใช่แค่ว่าเงินประกันสังคมไม่พอจะทำให้เกษียณได้ แต่กรณีนี้คือ มีเงินประกันสังคมบวกอาชีพเสริม ก็ยังไม่มีรายได้พอที่จะจะเกษียณในอเมริกาได้ด้วยซ้ำ และก็ไม่แปลกเลยที่เซคชั่นสำคัญหนึ่งของสื่อจำพวก “การเงินส่วนบุคคล” ในอเมริกา จะเป็นการตอบคำถามว่า “เราจะไปเกษียณกันประเทศไหนดี?”
หลายประเทศอาจมองว่า เป็นเรื่องที่ "ตลกร้าย" ที่สังคมร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างอเมริกา ไม่มีเงินดูแล "คนแก่" ของตัวเอง แต่อีกด้าน สำหรับสังคมอเมริกัน จุดที่เป็นอัตลักษณ์ของสังคม ก็คือ การมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ "เอาใจภาคธุรกิจ" มากที่สุดในโลก นี่คือสังคมที่จะเอื้อให้ภาคธุรกิจโตขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสังคมที่จะทำให้ตลาดหุ้นโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด และสิ่งอื่นๆ ที่เกิดตามมาก็อาจเป็นเพียงราคาที่ต้องจ่ายเท่านั้นเอง
อ้างอิง
I couldn't afford US retirement on $3,000 a month, so I moved abroad. I've since visited 43 countries and am happier.
70 Years Old !Over 50 Countries Five years and counting