Skip to main content

สรุป

  • ท่ามกลางปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 นวัตกรรมถูกมองเป็นเครื่องมือสำคัญในการสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศนี้ที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่าเป็นปัญหาที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเสียชีวิตก่อนวันอันควรประมาณ 4.2 ล้านคนต่อปี  
  • การเดินหน้าสร้างนวัตกรรมเพื่ออากาศสะอาดของสตาร์ทอัพ สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาของไทยคึกคักพอสมควร แต่ 'ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์' ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM2.5 ตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันตัวและปรับตัวของประชาชนดูจะเดินหน้าไปเร็วกว่านวัตกรรมที่ไปจัดการแหล่งกำเนิดต่างๆ ทั้งที่ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหามลพิษจาก PM2.5  
  • 'ผศ.ธนพล' ชี้ว่าจากบทเรียนความสำเร็จของต่างประเทศ นวัตกรรมอย่างเดียวไม่พอแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ แต่ยังต้องมี 'กฎหมาย' และ 'ภาระรับผิดชอบ' (Accountability) ของหน่วยงานที่รับผิดชอบและเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

ท่ามกลางปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 หน้ากากกรองฝุ่นและเครื่องฟอกอากาศ ดูจะกลายเป็นของที่ขาดไม่ได้ แต่นอกจากเครื่องมือป้องกันเหล่านี้ก็น่าสนใจว่าเรายังมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอื่นๆ อะไรอีกบ้างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการปัญหาฝุ่นที่เวียนมาในทุกปี และนวัตกรรมที่มีอยู่เหล่านั้นเป็นความหวังได้มากน้อยแค่ไหน จำเป็นหรือไม่ต้องมีกลไกล หรือ ‘ยาแรง’ เพิ่มเติมในการช่วยแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นจิ๋วนี้ที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่าเป็นสาเหตุทำให้แต่ละปีมีคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 4.2 ล้านคน

ปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่ในความรับรู้ของคนไทยในวงกว้างมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี พร้อมกับการตั้งคำถามว่าเราจะต้องอยู่กับปัญหามลพิษนี้ไปอีกนานแค่ไหน อย่างไรก็ดี อาจพอมีสัญญาณที่ดีในแง่การสร้างการนวัตกรรมและเครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศนี้จากสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาและสตาร์ทอัพต่างๆ ของไทยที่ดูจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้นคือโครงการ ‘Sensor for All’ นวัตกรรมเครื่องมือตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันโครงการดำเนินมาถึงปีที่ 3 แล้ว โดยเริ่มจากการพัฒนาเซ็นเซอร์และความแม่นยำ ติดตั้งรอบจุฬาฯก่อนในปีแรก ก่อนขยายเป็นพื้นที่รอบกรุงเทพฯ เข้าไปติดตั้งในชุมชนการเคหะแห่งชาติในปีที่สอง ส่วนในปีที่ 3 นี้ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์แบบโลว์คอสต์นี้แล้วมากกว่า 600 จุดทั่วประเทศ มีบริษัทผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมเข้าร่วมสนับสนุนการรับส่งข้อมูลและอีกหลายหน่วยงานร่วมเป็นภาคี โดย Sensor for All มีเว็บไซต์และแอปพลิเคชันแสดงผลเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้งานได้ตรวจค่าฝุ่นในพื้นที่ได้แบบเรียลไทม์ 

แอปพลิเคชัน Sensor for All

(แอปพลิเคชัน Sensor for All)

‘ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล’ รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าโครงการ Sensor for All ระบุว่าการทำงานของโลว์คอสต์เซ็นเซอร์ตรวจวัด PM2.5 ของ Sensor for All อาศัยหลักการกระเจิงแสง (Light scattering) ขณะที่ของกรมควบคุมมลพิษใช้แบบมาตรฐานระบบกราวิเมตริก (Gravimetric) วัดค่าฝุ่นละอองด้วยการดูดอากาศในบรรยากาศผ่านแผ่นกระดาษกรองและชั่งน้ำหนักว่าในปริมาณอากาศที่ดูดเข้ามา 1 ลูกบาศก์เมตร มีฝุ่น PM2.5 อยู่เท่าไหร่ เป็นระบบที่มีการกรองหลายชั้น คุมความชื้น ความคงที่ของอากาศที่เข้ามาจึงมีความแม่นยำสูง แต่การวัดหรือแสดงผลออกมาอาจจะใช้เวลา ทำให้อาจไม่ตอบโจทย์ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงมีราคาสูงมากจึงไม่ง่ายในการขยายจุดติดตั้งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้น เซ็นเซอร์โลว์คอสต์เช่นของ Sensor for All จะช่วยมาอุดช่องว่างในแง่การขยายไปติตตั้งในท้องที่ชุมชนต่างๆ ได้มากขึ้น การมีเซ็นเซอร์โลว์คอสต์ติดตั้งเยอะขึ้นก็จะช่วยทั้งในการปรับเทียบ (Calibrate) และตรวจสอบ (Verify) กับตัวมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษได้แม่นยำมากขึ้น สามารถทำ Machine Learning เพื่อคุมคุณภาพของข้อมูลได้ดีขึ้น ไปจนถึงช่วยให้พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นในอนาคตได้แม่นยำขึ้น ซึ่งตอนนี้ Sensor for All สามารถพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าได้ประมาณ 7 วัน  โดยอาจารย์พิสุทธิ์มองว่านวัตกรรมเซ็นเซอร์วัดฝุ่นนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้งานใน 2 ประเด็นสำคัญ 


“เรื่องที่หนึ่งคือพอเขารู้ ผมว่ามันทำให้เขาตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ตัดสินใจว่าจะออกจากบ้านไม่ออกจากบ้าน จะเปิดหน้าต่างปิดหน้าต่าง หรือแม้กระทั่งจะเผาหรือไม่เผา เพราะบางทีถ้าเขาไม่รู้เขาก็ตัดสินใจไม่ถูก กับอีกอันหนึ่งมันทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลในชุมชน เช่นพอผมรู้ว่า เอ๊ะ ทำไมจุดความร้อนแถวบ้านเรามันสูงในขณะที่จุดอื่นๆ ที่ไกลออกไปค่ามันไม่สูงเท่าบ้านเรา มันเกิดการสื่อสารกันในชุมชนนะครับ ผมว่า 2 จุดนี้เป็น 2 จุดใหญ่ที่เราได้มาจากปี 2 ที่เราทำ พอเดินหน้ามาเป็นปี 3 เราเลยขยายทั่วประเทศ” ศ.พิสุทธิ์ กล่าว 

หัวหน้าโครงการ Sensor for All ย้ำว่าการมีนวัตกรรมเกี่ยวกับ PM2.5 ที่ทำหน้าที่บันทึก วิเคราะห์ และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ชุมชน ภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบาย นอกจากนี้ยังเผยว่าเป้าหมายในอนาคตของโครงการ Sensor for All คือ การขยายจุดและเครือข่ายเพื่อติดตั้งเซ็นเซอร์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยประเมินว่าทั่วประเทศจำเป็นต้องมีเซ็นเซอร์นี้ประมาณ 10,000 จุด ในกรุงเทพฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 1,500-2,000 จุด  และยังหวังว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาเซ็นเซอร์ที่สามารถวัดมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่อยู่ในดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซโอโซนได้ 
 

ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

(‘ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล’ และเครื่องเซ็นเซอร์ของ Sensor for All ที่ติดตั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลที่ได้ตลอดการดำเนินโครงการ Sensor for All ศ.พิสุทธิ์ยังได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจสอดคล้องกับข้อมูลจากงานศึกษาหลายชิ้นที่ว่า การเผาในที่โล่ง คือแหล่งที่มาสำคัญของการเกิดฝุ่น PM2.5 ในไทย 

“คือ main source จริงๆ เราอาจจะมองว่าการเผาในที่โล่งมันสำคัญจริงๆ เผาในที่โล่งอย่างเผาขยะ เผาผลผลิตทางการเกษตร หรืออะไรก็แล้วแต่มันมีนัยสำคัญมากๆ เมื่อเทียบกับการจราจร คือการจราจรมันเป็นแพทเทิร์นของมัน แต่ว่าเรามองถึงจุดหนึ่งที่มัน (ค่าฝุ่น) ขึ้นมาถึง 100-200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พีคที่มันขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ โดดขึ้นมา มันมาจากการเผาในที่โล่งแบบมหาศาล” ศ.พิสุทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่อ้างอิงข้อมูลกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงพลังงานชี้ว่า การเผาในที่โล่งเป็นสาเหตุอันดับ 1  ของการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตรโดยเกษตรกรถูกมองเป็นส่วนสำคัญ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากทั้งนักวิชาการและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่า ปัญหาการเผาในภาคการเกษตรนี้มีความซับซ้อนและสัมพันธ์อยู่กับห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ 

ไร่ข้าวโพด

เช่นรายงานเรื่อง ‘ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปีพ.ศ.2558-2563’ ของกรีนพีซที่เผยแพร่เมื่อเม.ย. 2564 ชี้ว่าระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 10.6 ล้านไร่ การเปลี่ยนแปลงเกิดมากที่สุดในตอนบนของ สปป.ลาว ตามด้วยรัฐฉานของเมียนมา และภาคเหนือตอนบนของไทย และโดยเฉลี่ยทั้ง 6 ปี ราว 1 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด ส่วน 2 ใน 3 อยู่ในพื้นที่ป่า 

ขณะที่ในรายงานเรื่อง ‘ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน’ ที่กรีนพีซเผยแพร่เมื่อปี 2563 ระบุเอาไว้ว่า “วิกฤตฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามแดนมีความเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยวทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการแปรผันตรงกับจำนวนจุดความร้อน ปีใดที่บริษัทอาหารสัตว์มีความต้องการวัตถุดิบข้าวโพดมาก (ราคาข้าวโพดที่บริษัทอาหารสัตว์รับซื้อจากเกษตรกรมีราคาสูง) ปีนั้นจำนวนจุดความร้อนจะสูงตามไปด้วย”    

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่าปัญหาการเผาในภาคการเกษตรโยงใยอยู่กับโครงสร้างอันซับซ้อน แก้ไขไม่ง่าย แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการเผาก็กลายเป็นโจทย์สำคัญของทีม ‘Done Doo Dee’ สตาร์ทอัพเพื่อสังคม (Social Impact Startup) ซึ่งเป็นผู้ชนะการแข่งขันแฮกกาธอนโครงการ ‘Jump Thailand 2021’ ในหัวข้อ ‘นวัตกรรมเพื่อคุณภาพอากาศที่ยั่งยืน’ โดยมี AIS Next หน่วยงานขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมของ AIS เป็นผู้จัดงาน ไอเดียนวัตกรรมที่ Done Doo Dee ได้นำเสนอคือโครงการแอปพลิเคชัน ‘Defire’ หวังช่วงลดการเผาในภาคการเกษตรซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปล่อยทั้ง PM2.5 และก๊าซเรือนกระจก 

โมเดลธุรกิจของพวกเขาคือให้เกษตรกรลงทะเบียนกับแอปพลิเคชันและเลิกเผา หลังจากนั้นทางโครงการก็จะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมติดตามและคำนวณคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ลดได้จากการเลิกเผาชีวมวลเพื่อนำไปขายให้ภาคเอกชนที่ต้องการการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) โดยเอกชนจะจ่ายเงินให้กับ Defire ที่จะเปลี่ยนเงินนั้นให้เป็นพอยต์ (Carbon Coin) โดยเกษตรกรสามารถนำพอยต์นี้ไปแลกเป็นเงินสด หรือปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ต่างๆ พอยต์นี้ยังสามารถในการผ่อนเครื่องจักร รถไถ ไปจนถึงเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ได้ โดยหลังการแข่งขันเสร็จสิ้นการดำเนินงานในตอนนี้คือการนำแอปพลิชันไปให้เกษตรกรทดลองใช้เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน 

แผนธุรกิจของโครงการ 'Defire'

(โมเดลธุรกิจของโครงการ 'Defire' ที่หวังช่วยลดการเผาในภาคการเกษตร)

‘ธีธัช รังคสิริ’ หนึ่งในสมาชิกของ Done Doo Dee บอกว่าจากประสบการณ์ตรงในฐานะที่เคยเป็นนักพัฒนากิจการเพื่อสังคมของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและได้ทำงานกับเกษตรกรไร่ข้าวโพดในจังหวัดน่านพบว่า ความจริงแล้วเกษตรก็ไม่ได้ต้องการเผาเพื่อจัดการพื้นที่เพาะปลูกเพราะพวกเขาเองก็เป็นคนที่ต้องสูดควันเข้าไป เพียงแต่มองว่านี่เป็นวิธีการที่ถูกที่สุดและรวดเร็วที่สุดเนื่องจากในการทำไร่ข้าวโพดแต่ละปีมีกำไรเหลืออยู่ไม่มาก การจ้างคนมาไถหรือซื้อเครื่องจักรต่างๆ เพื่อเคลียร์ที่ดินก็จะเป็นภาระทางการเงินที่หนักเกินไป จึงมองว่าการแก้ปัญหาต้องกลับไปที่ต้นตอนั่นคือเรื่องปากท้อง การสร้างแรงจูงใจให้เลิกเผาเป็นรางวัลตอบแทนในรูปแบบเงินสด หรือพอยต์ที่สามารถนำไปแลกปุ๋ยแลกเมล็ดพันธุ์ หรือค้ำประกันเงินกู้ น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ 

“พวกเราโดนสอนกันมาว่าถ้าคนยังหิวป่าก็หาย เช่นเดียวกันกับบริบทของการเผา คือถ้าตราบใดที่ปากท้องเขายังไม่อิ่มหรือว่าเขายังไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ การที่เขาจะมารักษาสิ่งแวดล้อมหรือทำให้เรื่องของมลพิษลดลงมันอาจจะมีลำดับความสำคัญที่ตามมา” ธีธัช กล่าว 

ทีมผู้พัฒนาตั้งเป้าว่าแอปพลิเคชัน Defire จะพร้อมออกสู่ตลาดภายในปีหน้า และผลประโยชน์แรกน่าจะตกถึงมือเกษตรกรได้ภายในสิ้นปี 2565 โดยนำร่องที่จังหวัดน่านเป็นที่แรก พุ่งเป้าไปที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและข้าว แต่ในเฟสถัดไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะขยายไปให้ครอบคลุมพืชหลักๆ ที่พบปัญหาการเผาให้ครบทั้งข้าว ข้าวโพดและอ้อย และยังมีเป้าหมายขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากเวลาพูดถึงปัญหา PM2.5 หรือมลพิษทางอากาศ นี่คือปัญหาที่ไม่มีพรมแดน 

 

การสร้างนวัตกรรมเพื่ออากาศสะอาดของไทยคึกคักกว่าที่คิด    

โครงการ Sensor for All และ Defire อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างสะท้อนให้เห็นการเดินหน้าสร้างนวัตกรรมเพื่ออากาศสะอาดทั้งจากภาคการศึกษาและธุรกิจเพื่อสังคมของไทย ขณะเดียวกัน เสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องความกังวลปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งหันมามีส่วนร่วมในการเดินหน้าสร้างนวัตกรรมเพื่ออากาศสะอาดด้วย ตัวอย่างเช่นกรณีการแข่งขันแฮกกาธอน Jump Thailand 2021 ของ AIS Next ที่เพิ่งจบไป 

‘อราคิน รักษ์จิตตาโภค’ หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS บอกว่าที่มาของหัวข้อการแข่งขัน ‘นวัตกรรมเพื่อคุณภาพอากาศที่ยั่งยืน’ มาจากการเปิดให้ประชาชนโหวตว่าอยากเห็นการสร้างนวัตกรรมมาแก้ปัญหาเรื่องอะไรมากที่สุด ซึ่งปัญหาคุณภาพอากาศได้กลายเป็นหัวข้ออันดับ 1 โดยเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการเปิดให้โหวตช่วงเดือน ม.ค. 2564 พอดี สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงในเวลานั้นยิ่งทำให้คนเห็นว่าเป็นปัญหาใกล้ตัว การแข่งขันที่จัดขึ้นก็มีผู้ร่วมแข่งขันประมาณ 30 ทีม ทั้งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และสตาร์ทอัพ 

เมื่อถามว่า AIS ได้อะไรจากการแข่งขันลักษณะนี้ หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรมของ AIS บอกว่าเป้าหมายของ AIS คือการนำเทคโนโลยีของตัวเองเช่น 5G, IoT, Big Data และปัญญาประดิษฐ์  เข้าไปอยู่ในกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน ดังนั้นในโครงการแฮกกาธอนลักษณะนี้ที่ AIS ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี หากทีมชนะการแข่งขันสามารถพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาคุณภาพอากาศจนถึงจุดที่ได้ออกสู่ตลาด ก็เท่ากับบรรลุเป้าหมายของ AIS ในการนำพาเทคโนโลยีของบริษัทเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ที่ผู้คนจะได้ใช้งานหรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ อราคินยังเชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมน่าจะยังเป็นหัวข้อหลักที่คนอยากเห็นการสร้างนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขหาก AIS เปิดให้ประชาชนช่วยกันโหวตหัวข้อสำหรับโครงการในปีต่อๆ ไป     

“เราคงจะทำต่อแน่ๆ แล้วเราก็ยืนยันว่าอยากจะเปิดฟลอร์ให้ประชาชนช่วยกันคิด แล้วแนวโน้มผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องของปัญหาสังคม แต่ปีนี้ผมว่าสิ่งแวดล้อมจะมาแรง คนรุ่นใหม่เวลาพูดถึงก็เน้นสินค้าบริการที่มันมีที่มาที่ไปแบบดูแลสิ่งแวดล้อมนะที่เราทำวิจัยกันมา ก็เป็นเทรนด์ เป็นเทรนด์โลกด้วยนะครับ ผมเลยเชื่อว่าถ้าเปิดฟลอร์ก็จะมาอีกแหละปัญหาสิ่งแวดล้อม” อราคิน กล่าว 

ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ

ด้าน ‘ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์’ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM2.5 ระบุว่า จากฐานข้อมูล สกสว. แสดงให้เห็นว่านักวิจัยไทยได้พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องและมีที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 ออกมาไม่น้อย มีบางโครงการถูกนำไปใช้งานจริงทั่วประเทศแล้ว แต่จำนวนมากการใช้งานยังอยู่ในพื้นที่นำร่อง รวมถึงมีที่ยังเป็นแค่ต้นแบบเทคโนโลยี สามารถแบ่งได้เป็นทั้งด้านนวัตกรรมจำแนกและติดตามฝุ่น เช่น ดาวเทียมและเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่มีอยู่เกือบ 10 โครงการ ด้านการป้องกันและจำกัดฝุ่น ได้แก่ โครงการหน้ากากและเครื่องกรองฝุ่นต่างๆ ไปจนถึงด้านการจัดการแหล่งกำเนิด 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ธนพล ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่การวิจัยและสร้างนวัตกรรมจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากภาคการเกษตรและการจราจรมีอยู่หลายโครงการ  แต่ที่ไปจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมมีอยู่น้อยมาก และการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันตัวและปรับตัวของประชาชน เช่น เซ็นเซอร์ หน้ากาก เครื่องกรองฝุ่น ดูจะเดินหน้าไปเร็วกว่าการจัดการแหล่งกำเนิดต่างๆ ทั้งที่ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหามลพิษจาก PM2.5  

“ถ้าเราดูประวัติจริงๆ นะครับใช้เวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปี ในการแก้ปัญหาแต่ว่าเขาจะมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนนะ แต่ประเด็นของผมก็คือว่ามันเป็นอะไรที่ใช้เวลา เพราะฉะนั้นสมมติว่า 5 ปีรัฐบาลเก่งมาก ผู้ว่าฯใหม่เก่งมาก หรือนายกฯใหม่เก่งมากก็แล้วแต่ ใช้เวลา 5 ปี ก็ยังแปลว่าไม่ได้ดีดนิ้วแล้วหายเลย ฝุ่นมันยังอยู่อย่างน้อย 5 ปี อาจจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ใน 5 ปีประชาชนก็ยังรับสัมผัสความเสี่ยงอยู่ ฝุ่น PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง 5 ปีก็เป็นความเสี่ยงมหาศาลนะ เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงว่าเราต้องการนวัตกรรมที่ทำให้ประชาชนลดความเสี่ยงในช่วง 5 ปีนี้ผมว่าโอเค โลว์คอสต์เซ็นเซอร์ช่วยได้ หน้ากาก เครื่องกรอง แต่ว่าผมว่าเรามีพอแล้วถ้าดูจริงๆ ก็จะเห็นว่ามีเซ็นเซอร์เยอะมากจนถึงตอนนี้ต้องมา integrate แพลตฟอร์มกัน ผมว่าเราอยู่ในขั้นที่พอแล้วสำหรับการปรับตัวหรือปกป้องประชาชน ควรจะต้องไปจัดการที่แหล่งกำเนิดแล้ว” ผศ.ธนพล กล่าว 

ผศ.ธนพล ยังบอกว่าที่ผ่านมาในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศที่แหล่งกำเนิดมักเจอข้อถกเถียงว่าต้องแลกด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากไปดูที่กรณีตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายอากาศสะอาด หรือ ‘Clean Air Act’ ออกมาใช้ตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้าไปจัดการกับการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด มีเป้าหมายและลำดับการดำเนินการที่เฉพาะเจาะจง รวมถึงกำหนดภาระความรับผิดชอบที่ชัดเจน ก็จะเห็นได้ว่าเกือบ 50 ปีหลังมีกฎหมายนี้จีดีพีของสหรัฐฯ ก็ยังเติบโตขึ้นในขณะที่มลพิษทางอากาศรวมถึง PM2.5 ในประเทศลดลงเป็นวงกว้าง

“เพราะฉะนั้นแปลว่ามายาคติที่บอกว่าถ้าอยากให้จีดีพีโต เราต้องยอมเสียสละสุขภาพประชาชน ต้องยอมรับมลพิษก็เป็นเรื่องโกหก เพราะว่าไม่มีหลักฐานนะ ผมว่ายังไม่เห็นหลักฐานที่บอกว่าเราต้อง sacrifice ขนาดนั้น”    

สร้างนวัตกรรมอย่างเดียว ‘ไม่พอ’ แก้ปัญหาคุณภาพอากาศ ‘กฎหมาย-ภาระรับผิดชอบ’ ต้องเดินไปด้วยกัน

เมื่อมองไปที่นวัตกรรมเกี่ยวกับ PM2.5 หลายอย่างที่เรามีอยู่หรือกำลังจะถูกสร้างขึ้นอีกในอนาคต คำถามคือจะทำอย่างไรให้นวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างเกิดผลสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ  และต้องมีกลไกอื่นใดอีกหรือไม่เข้ามาช่วยเสริมเพื่อให้เราสามารถหาทางออกจากปัญหามลพิษทางอากาศได้ 

ในมุมของผู้สร้างนวัตกรรม ‘ธีธัช’ หนึ่งในผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Defire ยอมรับว่าโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มุ่งเป้าไปยังเกษตรกรในชนบทที่อาจมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่ถนัดกับการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน โครงการ Defire วางแนวทางแก้ปัญหานี้ด้วยการทำงานแบบผสมระหว่างการใช้เทคโนโลยีและให้คนลงไปทำงานในพื้นที่เพื่อถ่ายทอดการใช้งานให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายและสนับสนุนกลไกต่างๆ ในการทำงานในช่วงแรก 

อย่างไรก็ตาม เขามองว่ากรณีลักษณะนี้แสดงให้เห็นช่องว่างเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ยังต้องการนโยบายจากภาครัฐเข้ามาอุด เพื่อให้นวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในสังคมเข้าถึงคนทุกกลุ่ม และถูกใช้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพในวงกว้าง 

“เราอาจจะเคยเห็นกราฟฟิกที่คนยืนบนกล่อง สิ่งที่เราจะทำได้คือคนสูงต่างกันทำให้เขาเห็นภาพเดียวกันก็คือต้องมีกล่องที่มา support ต่างกัน ผมว่าเช่นเดียวกันกับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือว่ากลุ่มที่เป็นชนบท หรือว่ากลุ่มที่อาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ช้ากว่าคนเมือง ผมคิดว่าอันนี้ก็ต้องมีกล่องที่สูงกว่าคนทั่วไปในการเข้าถึง ซึ่งผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่รัฐสามารถช่วยได้ ถามว่ากล่องอะไรบ้างที่รัฐสามารถช่วยต่อแล้วคนเหล่านี้จะสูงขึ้นเพื่อให้เห็นภาพเดียวกันได้ชัดขึ้นคืออย่างที่ผมเล่าเรื่องการทำงานแบบ hybrid คือสิ่งหนึ่งที่รัฐมีอยู่แล้วคือ on-site ต่างๆ รัฐมีหน่วยงานที่ดูแลประชาชนอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วสิ่งที่จะอุดช่องว่างได้เร็วที่สุดในการเข้าถึงพื้นที่ คือหน่วยงานรัฐเป็นหนึ่งในส่วนที่ scale นวัตกรรมเหล่านี้ได้” ธีธัช กล่าว

โดยเขามองว่าความจริงแล้วสตาร์ทอัพเพื่อสังคมก็ทำงานแก้ปัญหาเดียวกันกับรัฐ ด้วยการใช้นวัตกรรมเข้าไปอุดช่องว่างที่คนตัวใหญ่กว่าไม่สามารถทำได้ ถ้าจะทำให้นวัตกรรมเพื่อสังคมเติบโตและถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ รัฐบาลยังควรคำนึงถึงเรื่องการสนับสนุนการลงทุนในระยะเริ่มแรกของกิจการเพื่อสังคมต่างๆ ให้มากขึ้น ไปจนถึงวางกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินงานของคนกลุ่มนี้มากกว่ากีดกัน 

ขณะที่ ‘ผศ.ธนพล’ ชี้ว่า การสร้างนวัตกรรมออกมาอย่างเดียวไม่พอ จะแก้ปัญหาคุณภาพอากาศได้นั้นต้องมีอีก 2 ปัจจัย ที่ขยับไปด้วยกันนั่นคือ  ‘อำนาจกฎหมาย’ และ ‘ภาระความรับผิดชอบ’ (Accountability) ทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเกษตรขนาดใหญ่ที่ต้องดูแลการปล่อยมลพิษของเกษตรกรในพันธสัญญาของตัวเอง ไปจนถึงผู้ผลิตและผู้ขายรถยนต์

ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด แม้ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่าตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมามีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษและอากาศสะอาดมากถึง 4 ฉบับด้วยกัน โดยผู้เสนอมีทั้ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ส.ส. พรรคก้าวไกล และภาคประชาชนอีก 2 กลุ่มที่เรามีอยู่ตอนนี้มีเพียง ‘แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ที่ประกาศออกมาหลังรัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการคุณภาพอากาศในภาพรวมของไทย 

“เราไม่ใช่ประเทศแรกที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น เรื่องมลพิษทางอากาศเขามีกันมาเยอะแล้ว เขาก็แก้ปัญหากันมาเยอะแล้ว จะเห็นว่าจะมีกฎมายที่มีโครงสร้างดี มีรายละเอียดชัดเจน เป็นกฎหมายที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ แล้วก็มันมีความรับผิดชอบอยู่ในแต่ละตัวด้วยว่าถ้าทำไม่ได้มีปรับ ทำไม่ได้มีลดงบประมาณ ทำไม่ได้โดนลงโทษ ตั้งโรงงานไม่ได้มันมีเหล่านั้นอยู่ ซึ่งเราจะยังไม่เห็นในประเทศเรา” ผศ.ธนพล กล่าว โดยยกตัวอย่างถึงกรณี Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหามลพิษ 

“ถามง่ายๆ ตัวอย่างว่ากรมควบคุมมลพิษก็ได้เนอะ ว่าเคยโดนลงโทษอะไรบ้างในการที่ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานปีละเท่านี้ ถามว่ากรมควบคุมมลพิษเคยต้องรับผิดชอบอะไรไหม หรือว่าผู้ว่าเคยต้องรับผิดชอบอะไรไหม หรือรัฐบาล ซึ่งจริงๆ ก็ได้เงินภาษีแล้วก็มีงบประมาณระดับหนึ่งเลยล่ะ ต่อให้ไม่มหาศาลเท่ามหาดไทย กลาโหม แต่ก็เยอะระดับหนึ่งในการจัดการสิ่งแวดล้อม เคยต้องรับผิดชอบอะไรไหมก็ไม่เคย แต่ว่าถ้าเป็นของอเมริกาเองเขาต้องมีความรับผิดชอบ เขาต้องบอกได้ว่าฝุ่นจะจบเมื่อไหร่

ถามว่าเรารู้ไหมว่าเมื่อไหร่ ปีไหน ที่ประเทศไทยจะไม่มีแม้แต่วันเดียวเลยที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานของเรา เอา 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ได้? ไม่รู้ใช่ไหม แต่ว่าที่อเมริกาเขารู้ บอกว่ามันจะต้องไม่เกินวันนั้น เขามีการประกาศไว้ ถ้าเกินต้องแจงเหตุผลขอขยายเวลา แต่บ้านเราไม่รู้ บ้านเราทำไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันเลยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า accountability หรือภาระความรับผิดชอบ

เพราะฉะนั้นเอาจริงๆ บ้านเราตอนนี้กฎหมายก็ไม่มีนะ ไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด มีแต่แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติในการแก้ปัญหาฝุ่น นวัตกรรมเรามีแต่ว่าอย่างที่เห็นว่ามันยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่แพร่ขยาย ไม่เต็มศักยภาพของมัน ความรับผิดชอบไม่มี ดังนั้นถ้าไม่มี 3 ตัวนี้ ถ้ามีไม่ครบก็แก้ปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ได้หรอก” ผศ.ธนพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความเห็น ‘อรรถพล เจริญชันษา’ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักในการแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง ถึงเรื่องการขาดกฎหมายและภาระรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ระบุว่าเรื่องภาระรับผิดชอบนั้น “มีตัวชี้วัดอยู่แล้ว” การพิจารณาตัดลดงบประมาณในปีถัดๆไป หากหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ‘เป็นปกติ’ ของการพิจารณางบประมาณ  ส่วนความคืบหน้าด้านกฎหมายอากาศสะอาดก็มีการเสนอร่างกฎหมายจากหลายฝ่าย เริ่มมีการพูดคุยกันว่าจะสามารถผลักดันออกมาเป็นรูปแบบใดได้บ้าง แต่เขามองว่าสิ่งสำคัญกว่าการมีกฎหมายคือการบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง

“คนพยายามมองว่าถ้าไม่มีกฎหมายจะแก้ไขไม่ได้ มันไม่ใช่หรอก หลักคิดส่วนใหญ่จะคิดกันแค่นี้ว่า ต้องมีกฎหมายนะ แล้วมีกฎหมายแล้วอย่างไร มีกฎหมายแล้วมาตรการใช้ตามกฎหมายได้ไหม บังคับได้ไหม ประชาชนเชื่อฟังไหม เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้หรือเปล่า เนี่ยมันไม่ใช่โจทย์ โจทย์คือมาตรการต้องทำให้ได้ก่อน” นายอรรถพล กล่าว 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษยังบอกว่าปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง “ไม่ได้เกิดจากรัฐบาล มันเกิดจากคนทุกๆ คนเป็นแหล่งกำเนิด” ดังนั้นการใช้มาตการเข้าไปบังคับควบคุมการปล่อยมลพิษก็ต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมรับไหวของประชาชนด้วย 

“สมมุติว่าไปออกประกาศห้ามเผา แล้วบังคับใช้กฎหมายจับให้หมด มันก็ทำได้นะ แต่ทีนี้ประชาชนเดือดร้อนหมดเลยนะ แล้วทีนี้คนจะมาโวยวายมากกว่าคนที่มาโวยวายเรื่อง PM2.5 อีก ถูกไหม อันนี้ล่ะคือปัญหา การแก้ไขปัญหาในเรื่องของทุกๆ มิติเราต้องมองให้กว้าง แล้วมันก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าค่อยเป็นแบบเขยิบทีละนิด ไม่ใช่”

ขณะที่  ‘ผศ.ธนพล’ กล่าวว่า หากมองว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้คือปัญหา ก็ต้องย้อนไปดูที่ต้นตอว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้ ซึ่งเขาพบว่ากฎหมายของไทยมีลักษณะของการใช้มาตรการบังคับ ควบคุม มากกว่าการส่งเสริมจูงใจ รวมถึงไม่มีกระบวนการช่วยเหลือทางเทคโนโลยี นวัตกรรม การเงินและสังคมเพื่อให้สามารถลดการปลดปล่อยมลพิษได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน ล้วนมีอยู่ในกฎหมายด้านอากาศสะอาดของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา

ฝุ่นกรุงเทพฯ ธ.ค.2563

ทั้งนี้ ‘ผศ.ธนพล’ ยังมองว่าการพยายามสื่อสารของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเราทุกคนเป็นต้องต้นของการเกิดฝุ่น PM2.5 อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะแม้จริงอยู่ว่าประชาชนคือผู้บริโภค แต่การจัดการอยู่ในอำนาจรัฐ รัฐบาลเป็นผู้อนุมัติโครงการต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดการปลดปล่อยมลพิษ เช่น การก่อสร้าง การผลิตไฟฟ้า การนำเข้าหรือจำหน่ายรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น หากจะให้ประชาชนช่วยกันแก้ปัญหานี้ก็ต้องย้อนกลับมาที่การให้อำนาจประชาชนช่วยตัดสินใจโดยที่เปิดให้ประชาชนได้รับข้อมูลเพียงพอเพื่อการตัดสินใจเลือกที่ถูกต้อง 

“รัฐมีหน้าที่ใช้นวัตกรรมทางสังคม ทางเทคโนโลยี ช่วยให้ประชาชนใช้อำนาจของตนในการหยุดการปล่อยฝุ่นที่ต้นทาง ให้อำนาจประชาชนร่วมตัดสินอนุมัติอนุญาตโครงการ อนุมัติการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลให้ประชาชนเลือกบริโภคอุปโภคผลิตภัณฑ์ บริการที่สะอาด ปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 น้อยที่สุดในบรรดาทางเลือกทั้งหมด และจัดงบรัฐมาให้ประชาชนดำเนินมาตรการลดฝุ่นด้วยตนเอง เพราะตอนนี้มีแต่รัฐที่ใช้งบประมาณลดฝุ่น ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่กระทบประชาชน และต้องแก้ด้วยประชาชน แต่รัฐต้องให้อำนาจ ให้ข้อมูล และทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาด้วย” ผศ.ธนพล กล่าว 

 

หมายเหตุ: รายงานนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก Earth Journalism Network of Internews  
 
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม: 'โควิดยังไม่จบ ฤดูฝุ่นพิษก็กำลังมา: มองความเชื่อมโยง 2 วิกฤตสุขภาพในสังคมเหลื่อมล้ำ'