พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย, พันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ, วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมแถลงข่าวมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 สูงในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. 66 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง
พรพรหม กล่าวว่า กทม. ร่วมกับกรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กทม. แบ่งแผนออกเป็น 3 ส่วนคือ การติดตามและแจ้งเตือนโดยการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา PM2.5 การเปิด Traffy Fondue เพื่อรับแจ้งปัญหาจากประชาชน และการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาจากต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 เช่น ควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ ร่วมกัน
พันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามแต่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 66 โดยปัญหาที่พบว่าในวันที่ 24 ม.ค. 66 เกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ในวันนี้ 25 ม.ค. 66 คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นพื้นที่สีฟ้า แต่ค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. 66 และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. 66 ซึ่งปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนเมษายน โดยทางด้านอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM2.5 มากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์
ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึง 2 ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ปัจจัยแรกได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่าเพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อนและเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 ม.ค. 66 ถึง 1 ก.พ. 66 สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค. 66 ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือปัจจัยที่สอง แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง เราสามารถร่วมด้วยช่วยกันควบคุมได้
ต่อมา วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ให้แนวทางของกทม. หากค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และการแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ ซึ่งกทม.จะนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซด์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้มีการฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานแบบ Work From Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ Work From Home 100% เพราะเป็นการช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมากรวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น
นอกจากนี้ หลังจากที่ กทม.ได้ตั้งวอร์รูมฝุ่น PM2.5 เผื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรุงเทพฯ ให้รับมือกับสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 31 ม.ค.- 1 ก.พ.นี้ จะมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยปีนี้สภาพฝุ่น PM2.5 หนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะเพดานการลอยตัวของอากาศ ในกรุงเทพฯ ต่ำลง อาจส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องเจอสภาพอากาศในลักษณะนี้อีก แต่ค่าฝุ่นปีนี้จะหนักเป็นช่วงระยะไม่ได้ติดต่อกันหลายวันเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยหลักของฝุ่นก็ยังมาจาก ควันดำของรถยนต์ การปล่อยควันเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ และร้านอาหารปิ้งย่าง ซึ่งตอนนี้กรุงเทพฯได้เฝ้าระวังและประมวลค่าฝุ่นเป็นรอบ 24 ชม.
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวถึงผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และโรคตาอักเสบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคม 65 โดยผู้ที่เจ็บป่วยจากผลกระทบทางด้านอากาศประมาณ 110,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (เดือนมกราคม 66) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,000 คนทั่วประเทศ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากการสำรวจการป้องกันตัวเองผ่าน 4Health_PM2.5 พบว่า ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีอาการน้อย เช่น เจ็บตา ตาแดง คันคอ น้ำมูกไหล ในส่วนของผู้ที่มีอาการรุนแรงมักมีอาการ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย แน่นหน้าอก แต่ยังไม่พบมากนัก อย่างไรก็ตามทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชนมาตลอดว่า ค่าฝุ่นระดับไหน ควรดูแลตัวเองอย่างไร รวมถึงขอความร่วมมือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หากอยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดงควรอยู่ที่บ้านจะปลอดภัยกว่า ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องทำงาน ก็อยากให้ work from home เพื่อความปลอดภัยเช่นกัน และควรใส่หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยซ้อน 2 ชั้น นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมรักษาประจำตัวไว้อยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นสามารถไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีสายด่วน 1478 หรือ แอปพลิเคชันของกระทรวงสาธารณสุขอย่าง 4Health_PM2.5 สามารถเข้ามาประเมินระดับความรุนแรงของอาการจากฝุ่น PM2.5 ก่อนได้ ซึ่งจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนตามระดับอาการ ถ้าหากอาการรุนแรงจะมี link ไปที่คลินิกมลพิษออนไลน์
ทั้งนี้นายแพทย์เอกชัย ได้ทิ้งท้ายเน้นย้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดง ช่วยกันดูแลเป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน แนะนำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำอย่างไรให้ปลอดฝุ่น รวมไปถึงห้องเรียนให้ปลอดฝุ่น เช่น ปิดหน้าต่างให้มิดชิด มีระบบพัดลมระบายอากาศ มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องคอยทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศเป็นประจำทุกเดือน และที่สำคัญอยากให้ทุกคนคอยเช็คสภาพอากาศก่อนออกนอกบ้านตามช่องทางต่างๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
พรพรหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ กทม.ได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้างอย่างเข้มข้น รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 1 ก.พ.นี้ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพจะเป็นสีแดง ส่วนมาตรการที่จะให้ประชาชน Work From Home ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม. ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ มี 11 บริษัทเอกที่สนใจและจะเข้าร่วม Work From Home กับ กทม. รวมถึงได้แจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัยหากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้น้อย หากเป็นหน้ากาก N95 จะสามารถกรองและป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า
รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมอีกว่า ปีนี้กทม.ได้ขยายคลินิกอนามัย เพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์ได้ คือ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลกลางคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลตากสินคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาล เจริญกรุงประชารักษ์ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลสิรินธร ประชาชนสามารถ เข้าใช้บริการได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน สามารถเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจรักษาได้ทันที พร้อมย้ำว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นกทม. กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและปีนี้เป็นความร่วมมือที่จะประสานงานการส่งต่อข้อมูลเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซด์ http://www.airbkk.com http://air4thai.pcd.go.th http://www.pr-bangkok.com รวมถึง Facebook สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้กรณีพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondu