Skip to main content

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมเพื่อหารือแนวทางขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา สำนักการคลัง สำนักการแพทย์ กลุ่มปฏิบัติการสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 31 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง 

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 16 แผนปฏิบัติการ ดังนี้ 1. วิจัยหาต้นเหตุ 2. นักสืบฝุ่น (สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 3. การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น 4. การตรวจโรงงาน 5. การใช้ CCTV ตรวจจับรถปล่อยควันดำ 6. กลุ่มพัฒนาโครงการ/ผู้ประกอบการ 7. การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 8. Traffy Fondue 9. กิจกรรมสำนักงานเขตดำเนินการ 10. Open Data 11. การตรวจวัดรถควันดำ 12. รถราชการพลังงานไฟฟ้า 13. การตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/แพลนท์ปูน 14. การตรวจวัดควันดำรถราชการ 15. การขยายระบบ 1,000 จุด และ 16. BKK Clean Air Area ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการ ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา สำนักการคลัง สำนักการแพทย์ และสำนักงานเขต 50 เขต ทั้งนี้ให้หน่วยงานดังกล่าวรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในส่วนที่รับผิดชอบให้สำนักสิ่งแวดล้อมทราบทุกวันที่ 10 ของเดือน เริ่มรายงานครั้งแรกวันที่ 10 สิงหาคม 2565 รายงานผ่านระบบ google form 

สุ่มตรวจวัดควันดำรถบรรทุกคอนกรีต แพลนท์ปูน ถนนพระราม 9 ซอย 21 

จากนั้นจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจรถควันดำบริเวณแพลนท์ปูน ถนนพระราม 9 ซอย 21 (ซอยโรงปูน) เขตห้วยขวาง โดยมี ชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล ณ บริเวณแพลนท์ปูน บจก.ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีแพลนท์ปูน จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1. บจก.นครหลวง คอนกรีต 2. บจก.น่ำเฮงคอนกรีต 3. บจก.โอ อาร์ ซี พีเมียร์ 4. บจก.คิวมิกซ์ซัพพลาย 5. บจก.ที พี ไอ คอนกรีต 6. บจก.เอเชียผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ 7. บจก.ชลประทานคอนกรีต 8. บจก.ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง 9. บจก.น่ำเฮงคอนกรีต และ 10. บ.เอ็มคอนกรีต จก. ซึ่งเจ้าหน้าที่จากเขตห้วยขวางและสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกันตรวจวัดรถบรรทุกคอนกรีต โดยเป็นการสุ่มตรวจรถบรรทุกคอนกรีต จำนวน 13 คัน ผลการตรวจวัดอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 ปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยควันดำให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565 โดยการตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 45 และการตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมร้อยละ 50 

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ในแพลนท์ปูน การพ่นละอองน้ำป้องกันฝุ่น และการทำความสะอาดบริเวณพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมประสานสำนักงานเขตที่มีแพลนท์ปูน ลงพื้นที่ตรวจวัดควันดำรถบรรทุกคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมทั้งได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ รวมถึงการปรับพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะ ลดปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล