Skip to main content

PM 2.5 ที่พูดถึงกันในปัจจุบัน คืออะไรกันแน่ ถ้าตามความหมายที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกไว้ว่า คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตร

หรือจะพูดง่ายๆ คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถึงจะเป็นเพียงฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว แต่เมื่อมาแผ่อยู่รวมกันจะกินพื้นที่ในอากาศมหาศาล ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณสูง เกิดเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกัน

ส่วน PM 2.5 ตามความหมายของกรีนพีซที่ให้ไว้ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ กล่าวคือ ค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป หรือเรียกง่ายๆ ว่าค่าฝุ่น PM2.5 คือ การกำหนดขึ้นเพื่อบ่งชี้ความเข้มข้นของการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ มีหน่วยเป็น ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยคิดค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง และรายปี 

แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 มาจากทั้งแหล่งกำเนิดปฐมภูมิ (ลำดับแรก) เช่น การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาในที่โล่งและอุตสาหกรรมการผลิต และแหล่งกำเนิดแบบทุติยภูมิ (ลำดับสอง) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศโดยมีสารกลุ่มซัลเฟอร์หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น ดังนั้น การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลและการผลิตทางอุตสาหกรรม เมื่อเกิดการรวมตัวกันในบรรยากาศจะมีผลต่อการก่อตัวของ PM2.5 ขั้นทุติยภูมิอีกด้วย

PM 2.5 อันตรายกับชีวิตมนุษย์กว่าที่คิด

ทั้งนี้ ฝุ่น PM2.5 ถูกพิจารณาว่าเป็นมลพิษที่มีผลกระทบกับสุขภาพมากที่สุดในบรรดามลพิษทางอากาศโดยทั่วไป เนื่องด้วยขนาดที่เล็กมาก  PM2.5 สามารถเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ และจากนั้นก็ไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากมาย จากข้อมูล State of Global Air ระบุว่า  PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประเทศไทยประมาณ 37,500 ราย นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุขโดยที่เด็ก คนสูงวัยและกลุ่มประชากรเสี่ยงในสังคมได้รับผลกระทบมากที่สุด

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของ เส้นผมมนุษย์สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง ส่งผล อันตรายต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง

จากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation, University of Washington สนับสนุนโดย ธนาคารโลก พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสาร เคมีหลายชนิดทั้งที่เป็นสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็งจึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง สำหรับก๊าซโอโซนเป็นสารระคายเคืองปอด ทำให้ปอดติดเชื้อง่าย จึงเป็นปัจจัยร่วมอันก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

แล้วเราจะรับมือกับ PM 2.5 นี้อย่างไร

ตามข้อมูลหน้าเว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองมีหลายปัจจัย เช่น โรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ รวมถึงควันบุหรี่ด้วย ซึ่งปกติแล้วกิจกรรมต่างๆ ที่คนเราทำทุกวันก็ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่แหล่งต้นตอสำคัญของ PM2.5 ในบรรยากาศ คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ และฝุ่นจากการก่อสร้าง

ตัวเมืองที่มีตึกสูงรายล้อมเหมือน 'กรุงเทพมหานคร' จะมีลักษณะคล้ายๆ แอ่งกระทะ เกิดการสะสมของฝุ่นได้ง่าย ซึ่งปกติฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปในอากาศ ถูกลมพัดฟุ้งกระจายไป แต่ถ้าวันไหนที่อากาศนิ่ง ไม่ค่อยมีลมพัด ฝุ่นละอองจะไม่ฟุ้งกระจาย ส่งผลให้ระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆ สูงมากขึ้นจนกลายเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ และเจ้าฝุ่น ร้ายมักวนเวียนอยู่มากในช่วงกลางคืน แต่จะค่อยๆ จางหายไปเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นส่องสว่างในยามเช้า

ขณะที่กรีนพีซ รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นปีที่สองที่ประชาคมนานาชาติร่วมรณรงค์เพื่ออากาศดีทั่วโลก โดยใช้หัวข้อว่า 'อากาศสะอาด โลกแข็งแรง' – #HealthyAirHealthyPlanet สืบเนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมาสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly-UNGA) กำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็นวันสากลเพื่ออากาศสะอาดสำหรับท้องฟ้าสดใส โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ (UNEP) มองว่า มาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราลงมือทำ อากาศสะอาดและท้องฟ้าใสนั้นเป็นไปได้

การรณรงค์ในปี 2564 เน้นให้ความสำคัญเรื่องอากาศสะอาดเพื่อทุกคน (healthy air for all) และโยงไปสู่ประเด็นที่กว้างขึ้นว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของมนุษย์และโลกของเรา รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยถือเป็นการเรียกร้องเพื่อ #ขออากาศดีคืนมา #RightToCleanAir

วิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 มีข้อปฏิบัติ 7 วิธี ดังนี้

1. เลี่ยงทำกิจกรรมหรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน

2. สวมหน้ากากอนามัยทั้งแบบผ้าหรือแบบบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานานๆ

3. ทำความสะอาดบ้าน และโรงเรียนให้สะอาดห้องปลอดฝุ่น

4. ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป ปิ้งย่าง เผาขยะ เผาเศษใบไม้ เป็นต้น

5. หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์

6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเลี่ยงการออกนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5

7. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติทางเดินหายใจควรพบแพทย์ทันที
 

ที่มา 

ค่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ต่างจาก AQI ยังไง แล้วทำไมต้องปรับ?

รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน

ในวันอากาศสะอาดสากล สิทธิในการหายใจของคนไทยยังคงถูกละเมิด