Skip to main content

จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า ในปีที่ 2564 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 12 วัน คิดเป็น 3.29% ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน คิดเป็น 16.71% ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 202 วัน คิดเป็น 55.34% และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 90 วัน คิดเป็น 24.66%

จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2564 ยังคงเป็นเดือนมกราคมเช่นเดียวกันกับในปี 2563 โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดแห่งปี คือวันที่ 23 มกราคม 2564 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2563 สูงสุดเพียง 181 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

และตลอดทั้งเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง มีจำนวน 11 วัน วันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 13 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 7 วัน 

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 ug/m3 = บุหรี่ 1 มวน ปี 2564 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน

จากงานของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2021 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard Muller จะพบว่า

เดือนกุมภาพันธ์ คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 163.68 มวน เฉลี่ยวันละ 5.84 มวน (ลดลงจากที่ 2563 ที่จำนวน 166.90 มวน) ขณะที่เดือนมกราคม คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 170.95 มวน เฉลี่ยวันละ 5.51 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่จำนวน 164.60 มวน) ตามมาด้วยเดือนธันวาคม 148.86 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่จำนวน 146.71 มวน)

แม้แต่ในเดือนที่มีอากาศดีจำนวนมากที่สุดแห่งปี 2021 อย่างเดือนกรกฎาคม เมื่อคำนวณเปรียบเทียบดูแล้ว คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 64.86 มวน เฉลี่ยวันละ 2.09 มวน (ลดลงจากปี 2563 ที่จำนวน 73.41 มวน) และในเดือนกันยายน 64.32 มวน (ลดลงจากปี 2020 ที่จำนวน 69.80 มวน) และเดือนมิถุนายน จำนวน 73.41 มวน เฉลี่ยวันละ 2.14 มวน (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่จำนวน 66.70 มวน)

โดยรวมแล้วในปี 2564 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1261.05 มวน ลดลง 9 มวน จากปี 2020 ที่จำนวน 1,270.07 มวน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าปี 2021 อากาศดีกว่าปี 2020 เพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน?

จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการศึกษาสัดส่วนการระบายมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าฝุ่นละออง PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่งทางถนนระบายฝุ่น PM2.5 มากที่สุด ร้อยละ 72.5 รองลงมาได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 17 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 5 และอื่นๆ ร้อยละ 5.5 

จากการสัมภาษณ์ของรศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกษตร ทางไทยรัฐออนไลน์ ยังกล่าวอีกว่า 

“แนวโน้ม “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล” น่าจะพีกสูงสุดเดือน ม.ค.2565 เพราะมีการเผาภาคเกษตรแถบภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยเฉพาะการเผานาข้าว เผาอ้อย ตามดาวเทียมวัดค่าความร้อนกระจุกตัวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา...กระแสลมก็นำพาฝุ่นพิษทั้งหลายมาในกรุงเทพฯและปริมณฑลนี้

“แล้วมาเจอ “โรงงานอุตสาหกรรม” ปล่อยมลพิษประจำในช่วงนี้ “รถบรรทุกน้ำมันดีเซลยูโร 3” ก็ยังวิ่งปล่อยควันดำเกลื่อนเมือง ทำให้ฝุ่นพีเอ็ม2.5 สะสมเพิ่มมากขึ้นด้วยพื้นที่กรุงเทพฯถูกล้อมรอบตึกสูง ในฤดูหนาวมักมี “ปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ” ลมนิ่งอากาศถ่ายเทไม่ดี มีพื้นที่สีเขียวน้อยไม่มีตัวช่วยดูดซับมลพิษ กลายเป็นแหล่งสะสมกักเก็บฝุ่น PM 2.5 อย่างดี ฉะนั้น “ปัญหามลพิษอากาศในกรุงเทพฯ” มักมีตัวแปรต้องพึ่งพากระแสลมเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์เป็นหลัก” 

นอกจากนี้ Rocket Media Lab ได้สัมภาษณ์อาจารย์ ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี อาจารย์ประจำหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า

“นอกจากประเด็นเรื่องกระแสและทิศทางลมแล้ว เราอาจจะต้องดูเรื่องรูปแบบอาคารของผังเมืองด้วย ว่ามันบล็อคอยู่หรือไม่ อย่างไร การ flood อากาศดี อากาศเสียของเมือง เป็นอย่างไร ขาดแคลนตรงไหน อะไร อย่างไร การทำ simulation อาจจะช่วยได้ ตรงไหนที่เป็นพื้นที่ที่มันสกปรกในเรื่องของอากาศที่สุด มีรูปแบบอาคารของผังเมืองอย่างไร อากาศถูกบล็อคไหม เพราะกรุงเทพฯ อากาศมันไม่ได้สกปรกเท่ากันทั้งหมดหรอกใช่ไหม มัน simulate ได้ แล้วลองเอามาวางแพลนดู ว่าจะจัดการในแต่ละพื้นที่อย่างไร

“เช่น ถ้าเราบอกว่าจะจัดการโดยการปลูกต้นไม้ มันอาจจะปลูกต้นไม้บางโซนรอบลาดกระบังหรือเปล่า เพื่อที่จะทำตัวเป็น buffer ไม่ให้อากาศเสียมันไหลเข้ามา หรืออย่างในต่างประเทศเขาย้ายแหล่งกำเนิดอากาศเสียที่มันอยู่ต้นลมออกไปเลย เราอาจจะต้องศึกษาและวางแผนให้เชื่อมโยงกันทั้งเมือง และเชื่อมโยงยังเรื่องอื่นๆ การแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำมันอาจจะไม่ช่วยอะไร”