Skip to main content

สัปดาห์ที่ผ่านมา ท้องฟ้าทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปกคลุมไปด้วยฝุ่น pm2.5ในระดับสูงเกินมาตรฐาน ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างติดต่อกันหลายวัน หลายพื้นที่ปริมาณฝุ่นขนาดจิ๋วแตะ 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และหลายพื้นที่สูงเกินกว่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่มีคำเตือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ

วิกฤตฝุ่น pm2.5 ครอบคลุมกรุงเทพฯ ในระดับที่เป็นอันตรายเกิดจากอะไร? อะไรคือต้นตอ? และอะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้ฝุ่นขนาดจิ๋วปกคลุมกรุงเทพฯ ในระดับสูงเกินค่ามาตรฐานมากกว่า 2 เท่าอยู่หลายวัน?

การสืบสวนสาเหตุของมลพิษฝุ่น pm2.5 ในกรุงเทพฯ ช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Rocket Media Lab พบข้อสังเกตว่า มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าฝุ่น pm2.5 ประกอบไปด้วย ความเร็วลม อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ และจำนวนจุดความร้อนที่ตรวจพบบนภาพถ่ายดาวเทียมของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความแตกต่างกันมากในระหว่างวันที่คุณภาพอากาศดีกับวันที่มีวิกฤต pm2.5ดังเช่นที่เกิดขึ้นล่าสุด

จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุที่มาของฝุ่น pm2.5 ในกรุงเทพฯ ว่ามีสาเหตุหลักจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยภาคการขนส่งทางถนนก่อให้เกิดฝุ่น pm2.5 มากที่สุดถึง 72.5% รองลงมาคือ โรงงานอุตสาหกรรม 17% การเผาในที่โล่ง 5% และอื่นๆ 5.5%

Rocket Media รายงานว่ากรณียานยนต์ในกรุงเทพฯ ไม่มีการเปิดเผยจำนวน และประเภทเครื่องยนต์ รวมถึงปริมาณการปล่อยควันพิษต่อวัน ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม 260 แห่งในกรุงเทพฯ มีเพียง 15 ปล่องจาก 4 โรงงานที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศโดยตรงจากปล่อง ทำให้ขาดข้อมูลในส่วนนี้ที่จะนำใช้ในร่วมกันในการสืบสวนที่มาของ pm2.5 ในกรุงเทพฯ

แต่จากข้อสังเกตของ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ผ่าน Rocket Media เห็นว่า ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ อาจไม่ชัดเจนมากจนพอจะชี้ว่า ยวดยานบนถนนในกรุงเทพฯ เป็นต้นตอหลักของการเกิด pm2.5 เนื่องจากปริมาณรถยนต์ในกรุงเทพฯ แต่ละฤดูกาลไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก การชี้ไปที่ภาคการขนส่งเป็นหลัก อาจจะทำให้มองข้ามสาเหตุอื่นๆ ไป เช่น การเผาในที่โล่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม

รศ.ดร.เศรษฐ์ อธิบายว่า ฝุ่น pm2.5 มีการเคลื่อนตัวตลอดเวลาในลักษณะที่ไม่มีรูปแบบตายตัวหรือเป็นแบบแผน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพภูมิอากาศประกอบกับสภาพภูมิประเทศว่าสามารถกักฝุ่นได้นานเพียงใด นอกจากนี้ ฝุ่นยังสามารถพัดพาไปได้ไกลหลายพันกิโลเมตร และในสภาพที่ไม่มีลมอาจแขวนลอยในอากาศ ในช่วงที่ความกดอากาศต่ำฝุ่นอาจอยู่ใกล้พื้นดิน เมื่ออุณหภูมิอุ่นขึ้นอาจลอยตัวในแนวดิ่งแล้วตกลงมาอีก

ในการพยายามสืบหาที่มาของวิกฤติฝุ่น pm2.5 Rocket Media สำรวจข้อมูลคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ พบว่า เมษายนเป็นเดือนที่มีมลพิษทางอากาศย่ำแย่ที่สุด และมีปริมาณ pm2.5 สูงสุด ขณะที่สำรวจข้อมูลย้อนหลังไป 2 ปี คือปี 2020 และ 2021 พบว่า เดือนมกราคมเป็นช่วงที่ค่า pm2.5 สูงสุดและมีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุด

ตัวแปรที่ Rocket Media ใช้เพื่อสืบค้นข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลัง อ้างอิงจากหลัก Weather Index for Air Quality ของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ความเร็วลม ความกดอากาศ และการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ในช่วงที่ค่า pm2.5 สูงสุดระหว่างวันที่ 8 -10 เมษายน 2022 สอดคล้องกับวิกฤต pm2.5 ล่าสุดในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2023 พบว่า ค่าการระบายอากาศของกรุงเทพฯ สัมพันธ์กับค่าฝุ่น pm2.5อย่างมีนัยสำคัญในลักษณะที่แปรผกผันกัน

วันที่ 8-9 เมษายน 2022 ซึ่งค่า pm2.5 สูงสุด อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับต่ำที่ 2,700 และ 2,975 ตร.ม./วินาที ขณะที่วันที่ 1 เมษายนซึ่งอากาศดี อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 9,200 ตร.ม./วินาที ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023ที่ค่า pm2.5 สูงเกินกว่ามาตรฐาน 2เท่า วันที่ 1กุมภาพันธ์การระบายอากาศของกรุงเทพฯ เฉลี่ยเพียง 500 ตร.ม./วินาที วันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ อัตราการระบายอากาศอยู่ในระดับต่ำ2,000-4,000 ตร.ม./วินาที เมื่อเทียบกับวันที่ 24 มกราคม ซึ่งอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 11,500 ตร.ม./วินาที และค่า pm2.5 อยู่ที่ 29 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ส่วนปัจจัยอื่น คือ ความเร็วลม และความกดอากาศ ในช่วงที่ค่า pm2.5 สูงสุดของเดือนเมษายน 2022 เทียบกับช่วงเวลาอื่นและพื้นทื่อื่น พบว่าไม่มีผลต่อกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับช่วงที่ค่า pm2.5 พุ่งสูงเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์

แต่ทั้งนี้ แม้ค่าการระบายอากาศจะแปรผกผันกับค่า pm2.5 อย่างมีนัยสำคัญ แต่ Rocket Media ย้ำว่าค่าการระบายอากาศ หรือตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เป็นเพียงปัจจัยหนุนเสริม ทั้งนี้ ปริมาณ pm2.5 ในกรุงเทพฯ ยังคงต้องพิจารณาที่แหล่งกำเนิดเป็นปัจจัยหลัก นอกจากการขนส่งทางถนนและโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว การเผาในที่โล่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ Rocket Media Lab นำมาใช้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณา

ช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2022 ที่มีค่า pm2.5 ของกรุงเทพฯ สูงสุดในรอบปี Rocket Media พบจุดความร้อนบนแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA ในบริเวณพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นกว่าปรกติ หมายถึงมีการเผาในที่โล่งเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานั้นในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดในพื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว เช่น สุพรรณบุรีพบจุดความร้อนถึง 42 จุด อยุธยาพบ 18 จุด ชัยนาท 17 จุด

อีกปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้ค่าฝุ่น pm2.5 พุ่งสูงขึ้น ได้แก่ ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบว่า มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนเมษายนของปี 2022 ทั้งในประเทศเมียนมาและลาว โดยในเมียนมาสูงถึง 63,755 จุด และลาวมี 64,569 จุด

ขณะที่การสำรวจภาพถ่ายดาวเทียมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 พบว่ามีจุดความร้อนทั่วประเทศรวม 1,208 จุด เพิ่มขึ้น 447 จุด จากวันที่ 30 มกราคม ซึ่งมีจุดความร้อน 761 จุด

จากข้อมูลข้างต้นจึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2022 และต้นกุมภาพันธ์ 2023อาจสัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเผาในภาคการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวพื้นที่รอบกรุงเทพฯ และหมอกควันที่ลอยข้ามพรมแดน ขณะที่อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ เป็นปัจจัยเสริมที่สัมพันธ์ผกผันกับค่า pm2.5 ซึ่งในช่วงที่ตรวจพบจุดความร้อนจำนวนมาก และมีอัตราการระบายอากาศต่ำดังเช่น วันที่ 8-10 เมษายน 2022 และต้นกุมภาพันธ์ 2023 จึงพบว่าค่าฝุ่น pm2.5 ของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับสูงจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ