Skip to main content

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มักเกิดขึ้นช่วงปลายปีและต้นปี เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละออง และจากคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองอาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ เด็ก, หญิงตั้งครรภ์, ผู้สูงอายุ, และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด เป็นต้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวมากกว่าประชาชนทั่วไป กรมอนามัย จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอยู่เสมอด้วยการเช็กค่าฝุ่น PM2.5 จากแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือเว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th ของกรมควบคุมมลพิษ และเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองที่เว็บไซต์ https://4health.anamai.moph.go.th เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง และสามารถป้องกันตนเอง รวมถึงให้คำแนะนำกับคนรอบข้างได้อย่างถูกต้อง

นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตนต้องพิจารณาจากระดับสีค่าฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 
1) สีฟ้า ระดับดีมาก (0 - 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทุกคนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ 
2) สีเขียว ระดับดี (26 - 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง 
3) สีเหลือง ระดับปานกลาง (38 - 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 
4) สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51 - 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 
5) สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป) ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

“ทั้งนี้ การป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยมีวิธีการเลือกดังนี้ 1) หน้ากาก N95 ต้องเลือกที่มีขนาดเหมาะ แนบกระชับกับใบหน้า ครอบจมูกและใต้คางได้อย่างมิดชิด 2) หน้ากากอนามัย ต้องผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ อย่างน้อย 3 ชั้น โดยมีแผ่นกรองอยู่ชั้นกลาง 3) หน้ากากผ้า ต้องตัดเย็บจากผ้าที่ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้น หรือมีความหนาไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร และมีขนาดเหมาะกับใบหน้า ทั้งนี้ ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นให้ถูกวิธี และควรเปลี่ยนเมื่อใส่แล้วรู้สึกไม่กระชับใบหน้า หายใจลำบากมากขึ้น ฉีกขาด เปื้อน หรือเปียกน้ำ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว