Skip to main content

 ​​​​​​

สรุป

  • ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบลงง่ายๆ คนไทยยังต้องเตรียมเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่มักทวีความรุนแรงหนักในช่วงฤดูหนาว แม้วิกฤตหนึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนอีกวิกฤตมาจากมลพิษ แต่ทั้ง 2 ปัญหากลับมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อกลุ่มคนที่แบกรับภาระหนักที่สุด
  • มีงานศึกษาในต่างประเทศหลายชิ้นที่พยายามอธิบายความเชื่อมโยงที่มีนัยสำคัญระหว่างโควิด-19 และฝุ่น PM2.5 หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เก็บข้อมูลในสหรัฐฯ พบว่าคนที่ติดโควิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ PM2.5 สูงมานานมีแนวโน้มเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่มลพิษน้อยกว่า แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนมากก็ยังบอกว่าต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่ผลวิจัยนี้ก็เป็นสัญญาณเน้นย้ำว่ามลพิษจากฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเดินหน้าแก้ไข
  • แม้จะเจอมลพิษจาก PM2.5 เหมือนกัน แต่ภายใต้สังคมเหลื่อมล้ำ ใช่ว่าทุกคนจะแบกรับผลกระทบในระดับเท่ากัน โดย ‘ผศ.ธร ปีติดล’ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าเมื่อวิเคราะห์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีส่วนสร้างปัญหาน้อยกว่าก็คือกลุ่มคนรายได้น้อย แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผลกระทบจากปัญหามากที่สุด     
  • การใช้อำนาจบังคับให้น้อยลง และใช้มาตรการสนับสนุนกลุ่มคนรายได้น้อยที่ต้องแบกรับภาระหนักที่สุดให้มากขึ้น คือส่วนสำคัญที่รัฐควรคำนึงถึงในการรับมือวิกฤตมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่เราต้องอยู่กับการระบาดของโรคโควิด-19  ท่ามกลางความหวังว่าสถานการณ์จะบรรเทาลงบ้างในช่วงส่งท้ายปี 2564 ขึ้นปี 2565 เมื่อประชากรในประเทศได้รับวัคซีนกันมากขึ้น แต่ข่าวการพบเชื้อกลายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ก็สร้างความกังวลให้คนทั่วโลกว่าจะยิ่งทำให้การระบาดยากจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ หรือไม่ และในขณะที่ปัญหาไวรัสยังสร้างความกังวลไม่จบ คนไทยก็ยังต้องเผชิญกับวิกฤตประจำปีที่มักทวีความรุนแรงในทุกฤดูหนาว นั่นคือมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่ดูจะยิ่งหนักขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

แม้ภัยจากฝุ่นพิษอาจไม่ทำให้ป่วยหนักทันทีทันใดหรือเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วแบบอันตรายจากไวรัส แต่ความจริงแล้วฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพเนื่องจากอนุภาคขนาดเล็กนี้สามารถแทรกซึมเข้าไปในถุงลมและกระแสเลือด เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเรื้อรังเช่น มะเร็งปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ สำหรับคนที่สามารถใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอาคาร สำนักงานหรือสามารถทำงานจากบ้านที่มีเครื่องฟอกอากาศก็อาจช่วยลดโอกาสในการรับฝุ่น PM2.5 ได้บ้างในช่วงวิกฤต แต่ไม่ใช่สำหรับคนที่ลักษณะงานของพวกเขาบังคับให้ต้องอยู่นอกอาคาร หรือริมถนนที่การจราจรหนาแน่นอยู่ตลอดเวลา 

หนึ่งในนั้นคือ ‘หลิว’ วัย 62 ปี พ่อค้าขายผักที่ตั้งแผงประจำอยู่ที่ป้ายรถเมล์ใกล้ตลาดบางเขนซึ่งบอกว่าเขาขายของตรงนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว วันหนึ่งใช้เวลาวันละไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงอยู่ข้างถนนนี้ ไม่ว่าจะฝนตก แดดแรง หรือค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง เมื่อปี 2560 เคยป่วยด้วยวัณโรคและใช้เวลานานประมาณ 6 เดือนในการรักษาตัวจนหาย โดยเขาบอกว่าปัจจัยหลักมาจากการสูบบุหรี่แต่การรับมลพิษมายาวนานก็คงมีส่วนด้วย และเมื่อถามว่าในฐานะที่เคยป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมาก่อน กังวลหรือไม่ที่ยังต้องเสี่ยงสูดฝุ่นพิษมากกว่าคนอื่น เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องทำอยู่ เขาบอกว่า “มันชินแล้วครับ มันชินแล้วเลย”

“คือเรื่องฝุ่นนี่มันก็ควันรถเมล์บ้าง ข้างบนอากาศบ้าง เราก็ป้องกันตัวไป” นายหลิวกล่าว โดยบอกว่าปกติเขาไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อติดตามค่าฝุ่น แต่จะตามข่าวปัญหาฝุ่น PM2.5 จากรายงานข่าวต่างๆ 


'หลิว' เจ้าของแผงขายผักบริเวณป้ายรถเมล์ใกล้ตลาดบางเขน

('หลิว' เจ้าของแผงขายผักบริเวณป้ายรถเมล์ใกล้ตลาดบางเขน)

สอดคล้องกับ ‘ปุ๊’ วัย 54 ปี วินมอเตอร์ไซค์ที่ปากซอยพหลโยธิน 8 ที่บอกว่าปกติตามข่าวฝุ่น PM2.5 จากการรายงานของสื่อ ไม่ได้ตามเช็กค่าฝุ่นจากแอปพลิเคชันแต่อย่างใด โดยฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่เธอกังวลเพราะงานขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทำให้เสี่ยงรับมลพิษอยู่ตลอดเวลา 

“เวลาขับไปจอดอยู่ท้ายรถเมล์ที่ควันดำมากๆ มันก็โอ๊ย อันตราย เพราะมันสกปรกมาก เราก็กังวล มัน (มลพิษ) ก็คงเข้าไปแหละเนอะ ไม่น้อยก็มาก เปิดหน้ากากมันก็จะเข้าไปข้างใน เปิดไม่ได้ อันตราย” 

'ปุ๊' มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พหลโยธินซอย 8

('ปุ๊' มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่พหลโยธินซอย 8)

มอเตอร์ไซค์รับจ้างวัย 54 ปี บอกว่าป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งแต่ก็พยายามซื้อเก็บไว้เมื่อเจอร้านที่ขายเหมาหลายๆ กล่องในราคาย่อมเยาลงมา แม้จะรู้สึกว่าการต้องสวมหน้ากากยาวนานหลายชั่วโมงในแต่ละวันก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน  

“ใส่มากๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน ไม่เหมือนคนอยู่บ้านเขายังส่วนตัว ไม่ต้องใส่เนอะ ไม่รู้เลือดมันจะเป็นอย่างไร” อย่างไรก็ตาม ปุ๊บอกว่าต่อให้เป็นช่วงวิกฤตฝุ่นรุนแรง และเคยส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการแสบคันที่ผิวหนังมาแล้ว เธอก็ไม่สามารถหยุดทำงานได้ 

“ช่วงที่เขาบอกฝุ่นเยอะๆ อ่ะนะ อันตรายมากเลยนะ ก็กลัวกันอยู่ มันก็มีผลกระทบอยู่ช่วงนั้น คือมันหยุดไม่ได้ เราต้องหาเงินน่ะ ทำงานรายวันอ่ะเนอะ” ปุ๊กล่าว

 

เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหลังยกระดับปัญหาฝุ่นละอองเป็น 'วาระแห่งชาติ'?

เดือน ก.พ. 2562 รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ หลังจากนั้น 8 เดือนก็ได้อนุมัติ ‘แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการคุณภาพอากาศในภาพรวมทั้งประเทศโดย ‘ให้มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม’ แผนขับเคลื่อนดังกล่าวเน้นไปที่มาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ที่เน้นควบคุมและลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดและลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยมาตรการเหล่านี้กำหนดแยกย่อยลงไปอีกเป็นระยะเร่งด่วนหรือช่วงวิกฤต ระยะสั้น และระยะยาว ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2562-2567 


อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลน่าสนใจจาก ‘Rocket Media Lab’ แหล่งข้อมูลที่ติดตามประเด็นสังคมเพื่อต่อยอดการรายงานข่าว ที่อ้างอิงจากข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่าตลอดปี 2563 ซึ่งถือเป็นเวลา 1 ปีหลังรัฐบาลยกระดับในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ คนกรุงเทพฯ มีอากาศดีให้สูดหายใจแบบที่มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับสีเขียวเพียงแค่ 71 วันเท่านั้น ส่วนคุณภาพอากาศระดับปานกลางมีอยู่ 210 วัน และวันที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงแบบที่เราทุกคนเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบต่อสุขภาพมีอยู่มากถึง 14  วัน โดย 3 เดือนที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดของปีคือ ม.ค. ก.พ. และ ธ.ค. ซึ่งไม่มีวันไหนที่คนกรุงเทพฯ ได้สูดอากาศดีแบบอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย นอกจากนี้ยังคำนวณเปรียบเทียบได้ว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่คนกรุงสูดเข้าไปตลอดปี 2563 เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1,270.07 มวนเลยทีเดียว แม้นักวิชาการจะชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กก็ตาม 

ฝุ่นปกคลุมกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2563

(ฝุ่นปกคลุมกรุงเทพฯ เดือนธ.ค. 2563)

แต่หลังการเผยแพร่รายงานดังกล่าวของ ‘Rocket Media Lab’  กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาบอกว่ารายงานนี้มีเป็น “ข่าวบิดเบือน” เนื่องจากการรายงานค่า PM2.5 ของเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project แตกต่างจากของกรมควบคุมมลพิษ โดยใช้ข้อมูลจาก AirVisual และแสดงระดับสีตามเกณฑ์คุณภาพอากาศของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) ทำให้ค่าที่แสดงและระดับสีแตกต่างจากของมูลของ Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ 

อย่างไรก็ดี ประเด็นค่าฝุ่น PM2.5 ของไทยที่มีเกณฑ์มาตรฐานแตกต่างกับของต่างประเทศก็เคยเป็นที่ถกเถียงมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น สหรัฐฯ กำหนดว่าคุณภาพอากาศปลอดภัยหากค่า PM2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  

ขณะที่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกก็เพิ่งปรับค่า ‘เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ’ (Air Quality Guidelines-AQGs) ให้มีความเข้มงวดขึ้น โดยแนะนำให้ค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกำหนดเป้าหมายระหว่างทางระดับ 4 (Interim Target 4) ของค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป้าหมายระหว่างทางนี้มีทั้งหมด 4 ระดับเพื่อให้ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่สามารถทำตาม AQGs ได้ทันทีใช้เป็นเกณฑ์ค่อยๆ ปรับตัว ส่วนของไทยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ไม่เหมือนกัน พอเว็บไซต์หรือแอปหนึ่งเตือนว่าค่าฝุ่นขึ้น คุณภาพอากาศเริ่มมีผลต่อสุขภาพคนบางกลุ่ม อีกแอปก็อาจยังเป็นสีเขียวอยู่ 
เปรียบเทียบค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5

ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอให้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยใน 1 ปี จากไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่ง ‘อรรถพล เจริญชันษา’ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกำลังหารือกันถึงตัวเลขที่เป็นไปได้ โดยชี้ว่าสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือค่ามาตรฐานควรสอดคล้องไปกับมาตรการแก้ปัญหา

คณะกรรมการมีความคิดกันอยู่ตอนนี้ว่าจะปรับลงมาที่เท่าไหร่เพื่อให้มันสอดคล้องกับมาตรการ คือมาตรการกับมาตรฐานมันต้องไปพร้อมๆ กัน มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าไปกำหนดมาตรฐานโดยที่ไม่ให้ความสนใจเรื่องมาตรการ มันก็จะแดงแล้วมันก็เป็นความตื่นตระหนกเสียจนแก้ไขปัญหาได้ยาก แล้วเจ้าหน้าที่ก็ทำงานลำบาก เพราะว่ามันจะต้องมีเส้นของการตัดสินใจ เส้นของการยกระดับในแต่ละพื้นที่”  

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษระบุว่านับตั้งแต่ประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ถอดบทเรียนหรือข้อบกพร่องกันเป็นประจำทุกปี ปี 2564 มีความก้าวหน้าคือจุดความร้อน (Hotspot) หนึ่งในสาเหตุสำคัญของฝุ่น PM2.5 ลดลงร้อยละ 52 แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องหมอกควันข้ามแดน โดยยอมรับว่าในการดำเนินงานมีทั้งสิ่งที่ ‘ควบคุมได้ ควบคุมยาก และควบคุมไม่ได้’ 

“เอาในเมืองปัญหาจราจร ถามว่าถ้าเราจะไปทำให้น้อยลงทำได้ก็คือปิดการจราจรเลย แต่ว่ามันก็เกิดผลกระทบไงถูกไหม พอเวลาค่าฝุ่นมันเริ่มเกินมาตรฐานถ้าเราไปปิดไปอะไร คือมาตรการมันก็ต้องดูผลเสียด้วยนะ ต้องดูผลดีผลเสียว่ามันจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เรื่องของฝุ่นมันอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมันก็สะสมมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทุกกิจกรรมมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของฝุ่นหมด เพียงแต่ว่ามากน้อยเท่านั้นเอง”  โดยบอกว่าในส่วนของการควบคุมการจราจรซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของฝุ่นพิษในเมือง สิ่งที่ทำได้คือเอาจริงเอาจังกับการตรวจจับควันดำรถยนต์ ขอความร่วมมือทำงานจากบ้านหรือใช้รถสาธารณะในช่วงค่าฝุ่นขึ้นสูง รวมถึงประกาศห้ามเผาในเขตปริมณฑลช่วงที่กรุงเทพฯ เริ่มเจอค่าฝุ่นหนัก แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและการปรับมาใช้น้ำมันค่ากำมะถันต่ำจะเป็นจุดเปลี่ยนในการแก้ปัญหาได้ 

นายอรรถพลระบุว่าได้มีการยกร่างแผนเฉพาะกิจแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองปี 2565 ซึ่งเป็นแผนดำเนินงานประจำปีที่กำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เป็นแผน 9 ข้อที่เน้น ‘1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ’  โดยเผยว่าจะให้ความสำคัญอย่างมากต่อการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นโดยเฉพาะการแจ้งพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรับมือ และกำลังประสานกับค่ายโทรศัพท์มือถือถึงความเป็นไปได้ในการส่งข้อความแจ้งเตือนการพยากรณ์เพื่อแก้ปัญหาคนตกหล่นในการเข้าถึงข้อมูล 
แอปพลิเคชัน Air4Thai โดยกรมควบคุมมลพิษ

แต่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องความแม่นยำของการพยากรณ์อยู่เมื่อเจาะเข้าไปในระดับพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และพยากรณ์ล่วงหน้าสัก 5-7 วัน ส่วนการป้องกันจะเน้นการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร และต้องควบคุมไม่ให้มีการบุกรุกเผาป่า ขณะที่แผนเผชิญเหตุปีหน้าจะให้ความสำคัญต่อบทบาทของท้องถิ่นมากที่สุด 

 

เจอวิกฤตฝุ่นเหมือนกัน แต่ผลกระทบที่แบกรับไม่เท่ากัน 

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน? มีรายงานหลายชิ้นที่วิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่า ฝุ่นละเอียดนี้เกิดจาก 5 แหล่ง คือ การเผาในที่โล่ง เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ถึงร้อยละ 54  ตามด้วยอุตสาหรรมการผลิต (ร้อยละ 17)  การขนส่ง (ร้อยละ 13)  การผลิตไฟฟ้า (ร้อยละ 8) และที่พักอาศัย (ร้อยละ 7)

ส่วนผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 ของ ‘ศ.เหงียน ธิ คิม โอน’ (Nguyen Thi Kim Oanh) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ขยายให้เห็นรายละเอียดเพิ่มเติมของแหล่งกำเนิดฝุ่นในแต่ละพื้นที่จากการนำตัวอย่างฝุ่น PM2.5 ที่เก็บจากดาดฟ้ากรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นพื้นที่กลางเมืองกรุงเทพฯ การจราจรหนาแน่น และจากดาดฟ้าของ AIT ในจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นพื้นที่ปริมณฑลที่รายล้อมด้วยนาข้าว พื้นที่การเกษตรและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง เพื่อนำไปวิเคราะห์องค์ประกอบที่สามารถบอกแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยพบว่าในฤดูฝนไอเสียจากรถยนต์ดีเซลเป็นแหล่งเกิดฝุ่นอันดับ 1 ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในฤดูแล้งการเผาชีวมวลกลายเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นอันดับแรกของทั้ง 2 พื้นที่ ขณะเดียวกันก็ยังมีงานศึกษาอื่นๆ ที่อธิบายถึงแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในภาคเหนือว่า การเผาในที่โล่งคือแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 อันดับแรก รองลงมาคือไอเสียจากรถยนต์โดยเฉพาะดีเซล 

ไอเสียจากยานพาหนะ หนึ่งในสาเหตุสำคัญของมลพิษในเมือง
ผลการศึกษาเรื่องแหล่งกำเนิดฝุ่นเหล่านี้ไม่เพียงแต่ฉายภาพให้เห็นในแง่มุมปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เท่านั้น แต่เมื่อนำไปวิเคราะห์ต่อก็จะพบความเชื่อมโยงซ้อนทับไปกับปัญหาอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม โดย ‘ผศ.ดร.ธร ปีติดล’ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า หากนำปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมารวมกับความเหลื่อมล้ำจะเห็นได้ว่า “ผู้ที่มีส่วนสร้างปัญหาน้อยกว่าคือกลุ่มคนรายได้น้อย แต่ต้องรับภาระจากปัญหามากกว่า ก็จะเห็นมิติเรื่องความไม่แฟร์ของปัญหานี้” 

อาจารย์ธรอธิบายว่าความเชื่อมโยงเรื่องฝุ่น PM2.5 กับความเหลื่อมล้ำสามารถแบ่งเป็น 2 ด้าน โดยด้านแรกคือเมื่อมองไปที่การสร้างปัญหา ซึ่งหากเราพูดถึงต้นตอของฝุ่นแล้วจะเห็นว่าโดยหลักมาจาก 3 เรื่องคือ การเผาซึ่งโยงอยู่กับธุรกิจด้านการเกษตร การใช้เชื้อเพลิงรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ และการใช้ไฟฟ้า โดยทั้ง 3 ด้านล้วนโยงอยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ แต่คำถามสำคัญคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใครได้ผลประโยชน์?

“ก็จะพบว่าในเรื่องการใช้รถยนต์ การใช้เชื้อเพลิง ส่วนใหญ่คนที่มีโอกาสได้มีรถยนต์ส่วนตัวก็ต้องเป็นคนที่รายได้ค่อนข้างดีพอสมควร คนที่เป็นกลุ่มรายได้น้อยจริงๆ ก็อาจต้องไปใช้พวกรถสาธารณะแทน ฉะนั้นในด้านเชื้อเพลิงคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีส่วนในการสร้างปัญหาเท่าไหร่ ยิ่งด้านไฟฟ้าก็เช่นกัน ความจริงอัตราการใช้ไฟฟ้าหลักๆ ในประเทศไทยมันกระจุกตัวอยู่ในเมืองแล้วก็อยู่ในพื้นที่เช่นห้างสรรพสินค้า ถ้าถามว่าใครเป็นคนไปใช้พื้นที่เหล่านี้ หลักๆ ก็เป็นคนเมืองและกลุ่มรายได้ที่แน่นอนว่าไม่ใช่รายได้น้อย 

อันสุดท้ายเรื่องการเผาด้านเกษตร คือจริงๆ จะซับซ้อนนิดนิด ถ้าถามว่าการเผาเกิดจากเกษตรกรหรือเปล่าก็เกิด แต่ว่ามันโยงอยู่กับโครงสร้างของตลาดสินค้าเกษตรและก็บริษัทเกษตรขนาดใหญ่ด้วยนะครับ ถามว่าใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากวงจรการผลิตสินค้าเกษตรหลักๆ ก็คิดว่าจริงๆ ตัวผลประโยชน์หลักๆ มันไปสู่บริษัทเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้มีแค่ตลาดในประเทศแต่ว่าเป็นตลาดการส่งออกเสียเยอะ” ผศ.ธร กล่าว
แม้มีส่วนสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 น้อยกว่า แต่เมื่อมองไปยังด้านผลกระทบจะเห็นได้ชัดเจนตกอยู่ในกับคนรายได้น้อยมากกว่า ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ การแบกรับต้นทุนการป้องกันตัวเอง และการรักษาพยาบาล 

“ด้านสุขภาพมันมีความน่าตกใจอยู่นิดนึง พอเราไปดูพวกโรคที่เกี่ยวกับการทางเดินหายใจเกี่ยวกับปัญหาด้านฝุ่น PM สัดส่วนของคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ในกลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุดมันสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่นหมดเลย” อาจารย์ธรกล่าว โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ ‘ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ’ ในโครงการ Social Monitoring สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่เบื้องต้นพบว่าในกลุ่มคนจนที่สุดมีสัดส่วนประชากรที่เป็นโรคเกี่ยวกับ PM2.5 ถึงร้อยละ 2.5 แต่ในคนรวยที่สุดพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ซึ่งผศ.ธรอธิบายว่าสภาพการทำงานนอกอาคาร โดยเฉพาะริมถนนในเมืองที่การจราจรหนาแน่น หรือต้องเดินทางด้วยรถเมล์ร้อน ขนส่งสาธารณะต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรายได้น้อยมีโอกาสเสี่ยงได้รับฝุ่นพิษมากกว่า   

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พหลโยธินซอย 8

“โดยอาชีพแล้วเนี่ย คนกลุ่มรายได้น้อยมีแนวโน้มต้องเจอปัญหาจากสภาพอากาศหนักกว่า ในขณะที่ในอีกด้านหนึ่งในการป้องกันตัวก็จะพบว่า ต้นทุนในการป้องกันตัวเองของกลุ่มรายได้น้อยก็จะสูงกว่านะครับ พบว่าแม้กระทั่งเราไปคำนวณราคาหน้ากากที่ต้องใช้ แต่เดี๋ยวนี้หน้ากากมันจะไปซ้อนกับเรื่อนโควิดด้วย แต่ถามว่าทุกวันๆ ถ้าเราต้องซื้อหน้ากากตลอดหรือว่าต้องใส่หน้ากากเรื่อยๆ สำหรับกลุ่มรายได้น้อยก็ต้องจ่ายตรงนี้ในสัดส่วนที่มันสัมพันธ์กับตัวรายได้ของเขาสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่นๆ เยอะเลย” 

ส่วนในด้านการรักษา ผศ.ธรบอกว่าการป่วยจากปัญหาสภาพอากาศโดยมากมักพบลักษณะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง แม้จะมีสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เมื่อต้องไปรักษาตัวก็มีต้นทุนแฝงมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางหรือต้องหยุดงานเพื่อไปรักษาที่ทำให้ต้องขาดรายได้ ซึ่งล้วนถือเป็นต้นทุนที่คนรายได้น้อยต้องแบบรับสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

 

ยิ่งสูด PM2.5 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงจากโควิด-19? 

ในช่วงที่โลกเผชิญการระบาดของโควิด-19 มีงานศึกษาหลายชิ้นที่สะท้อนว่าอาจมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 และโควิด-19 หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุข ที.เอช. ชาน ฮาร์วาร์ด ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนเม.ย. 2563 ก่อนกระบวนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่พบได้บ่อยขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสเนื่องจากนักวิจัยพยายามหาผลการศึกษามาเป็นแนวทางในการต่อสู้กับการระบาดที่กำลังเกิดขึ้น 

งานศึกษาดังกล่าววิเคราะห์ข้อมูลจากกว่า 3,000 เขตทั่วสหรัฐฯ เพื่อเปรียบเทียบระดับฝุ่น PM2.5 ในอากาศกับยอดการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของแต่ละเขต พบว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 เพียงแค่ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เชื่อมโยงกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากโควิด-19 ดังนั้นคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ระดับฝุ่น PM2.5 สูงเป็นระยะยาวก็มีเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อติดโควิดมากว่าคนที่อยู่ในเขตที่ระดับ PM2.5 น้อยกว่า 

แม้งานวิจัยดังกล่าวมีข้อจำกัดตรงที่ใช้ข้อมูลเฉลี่ยทั้งเขต ไม่ได้ลงลึกไปที่ข้อมูลผู้ป่วยแต่ละบุคคลและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากก็ยังบอกว่าต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม แต่ผลการศึกษานี้ก็เป็นสัญญาณเน้นย้ำความจำเป็นของการเดินหน้าจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนทั้งในระหว่างและหลังช่วงเวลาการระบาดของไวรัส ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในสหรัฐฯ บางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่าจากข้อมูลวิจัยชิ้นนี้พบว่าในเขตที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงยังเป็นเขตที่มีคนจนและคนจนที่เป็นคนผิวสีมากกว่า ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจเป็นคนที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด 

ด้าน ‘รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล’ หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เผยว่าในไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูล หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลลักษณะดังกล่าวว่าเมืองที่ระดับฝุ่น PM2.5 เยอะส่งผลหรือไม่อย่างไรหรือไม่กับยอดป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนข้อมูลศึกษาในต่างประเทศเองก็ยังเป็นภาพกว้างๆ ยังไม่สามารถเป็นภาพแทนได้ทั้งหมด แต่ถ้ามีการเก็บข้อมูลแบบนี้ทั่วโลกว่าเมืองที่ระดับฝุ่น PM2.5 เยอะสัมพันธ์กับการพบคนติดโควิดอาการรุนแรงเยอะด้วยหรือไม่ก็จะสามารถเป็นภาพแทนได้ ขณะที่ในแต่ละเคสที่พบผู้ป่วยโควิด-19 แพทย์ไม่มีทางจะฟันธงได้เลยทันทีว่าอะไรเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้คนไข้รายนั้นๆ เกิดโรคโควิด-19  

“ในแง่ individual ในแง่รายคนเนี่ยไม่มีทางสรุปได้หรอก หรือแม้แต่บุคคลทั่วโลกก็เหมือนกัน เพราะเวลาเราใช้การศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยหนึ่งกับการเกิดโรคในคนกลุ่มใหญ่ เราเรียกว่าเราใช้ Time Series ก็คือใช้เกณฑ์การเก็บข้อมูลระยะยาว ต้องใช้เวลา 10-15 ปี ข้อมูลต่อเนื่องทั้งการเจ็บป่วยนั้น หรือการเจ็บป่วยที่เราสนใจ หรือสารที่เราสนใจ หรือ agent ที่เราสนใจ ไม่มีทางที่คนป่วยมา 1 คน ไม่มีทางจะบอกได้หรอกว่าคนนี้ป่วยเป็นโควิด-19 เพราะว่าสูด PM2.5 เพราะว่าสูบบุหรี่ เพราะนู่น บอกไม่ได้ ในทางระบาดวิทยาไม่สามารถระบุได้” 

อย่างไรก็ดี นพ.นิธิพัฒน์ ยอมรับว่าผลการศึกษาในต่างประเทศที่มีอยู่ตอนนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่ามันอาจมีความเชื่อมโยงกันได้ระหว่างมลพิษจากฝุ่น PM2.5 กับโควิด-19 ในแง่ของสาธารณชน (Mass) ขณะเดียวกัน โดยพื้นฐานแล้วอันตรายจากฝุ่น PM2.5 ก็สามารถทำให้การป้องกันในระบบทางเดินหายใจเราอ่อนแอลงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ถูกโจมตีจากเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าไปในระบบหายใจได้ง่ายขึ้น 

“ในส่วนของปอดเองมันทำให้ระบบป้องกันตนเองของปอดเราเสียไป ก็คือมันไปทำลายเซลล์เยื่อบุตั้งแต่จมูก คอ หลอดลม หลอดลมฝอย ถุงลมของเราเนี่ยก็จะถูกระคายเคือง อักเสบเรื้อรังถ้าเราโดน PM2.5 อยู่เรื่อยๆ หรือเราสูบบุหรี่อยู่เรื่อยๆ มันก็จะทำให้เรามีจุดอ่อนที่จะถูกโจมตีด้วยเชื้อโรคที่เราหายใจเข้าไปทางอากาศได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรืออะไรก็แล้วแต่ ทีนี้เชื้อ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 มันก็เป็นเชื้อที่ชอบระบบทางเดินหายใจเราเป็นพิเศษ ก็คือสามารถรุกล้ำเข้าไป ปกติไม่ต้องโดน PM2.5 ไม่ต้องสูบบุหรี่มันก็ลงไปถึงปอดเราได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ถ้าเราสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือสูดเอาฝุ่นควันโดยเฉพาะ PM2.5 เข้าไปอยู่เรื่อยๆ มันก็จะโจมตีเราได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ว่าเราอาจมีโอกาสติดเชื้อ SARS-CoV-2  และมีอาการมากกว่าคนอื่นเขา มีอาการปอดอักเสบมากกว่าคนอื่น ปอดอักเสบแล้วก็อาจมีอาการโรครุนแรง เสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนอื่นเขา ” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว โดยมองว่าในขณะที่เราก็ยังเผชิญการระบาดของโควิด-19 อยู่ ฤดูฝุ่น PM2.5 ที่กำลังกลับมาอีกครั้งก็น่าจะเป็น ‘ภัยคุกคามเสริมเข้ามา’ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลต่อสุขภาพ 

 

โควิด-ฝุ่นพิษ-ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาที่โยงใยอยู่กับ 'การเมืองดีแค่ไหน'

นอกจากความเชื่อมโยงกันในมิติสุขภาพแล้ว ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพิษและโควิด-19 ก็ยังโยงใยกันอยู่อย่างตัดไม่ขาดกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้ปัญหาหนึ่งจะเกิดจากมลพิษส่วนอีกปัญหามาจากไวรัส แต่ผลกระทบจากทั้งสองวิกฤตตกหนักสุดอยู่ที่คนกลุ่มเดียวกันในสังคม นั่นคือกลุ่มคนที่รายได้น้อย

“ด้าน PM นี่มีมิติด้านการก่อปัญหาที่ชัดเจนกว่าว่าผู้รายได้น้อยมีส่วนกับปัญหาน้อยแต่แบกรับต้นทุนมาก แต่ถ้ามองในเรื่องของมิติผลของการแบกรับต้นทุนที่มันโยงกับความเหลื่อมล้ำ คือจริงๆ ก็จะเห็นทั้งคู่ มีความคล้ายกันอยู่นะครับ คือคนที่มีแนวโน้มจะเผชิญปัญหามากกว่าก็รายได้น้อย ความเสี่ยงสูงกว่า สามารถป้องกันตัวเองได้น้อยกว่า แล้วก็ต้นทุนที่จะเกิดมันจะเกิดกับกลุ่มมีรายได้น้อยสูงกว่าเหมือนกัน ในแง่นี้ก็คือต้องพูดว่าจริงๆ เวลามองระนาบของผลที่มันสร้าง ผลตรงนี้เมื่อไปผสมปนเปกับเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วเนี่ย มันก็จะเป็นผลที่มีลักษณะหนักกับกลุ่มรายได้น้อย มันมีความไม่เป็นธรรมในการแบกรับผลกระทบนะครับ” ผศ.ธร กล่าว 

โดยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคมขยายความว่า ในกรณีการระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ชัดเจนว่าคนรายได้น้อยแบกรับความเสี่ยงและผลกระทบหนักมากกว่า เช่น ในกรุงเทพฯ หากมีการระบาดในชุมชนแออัดก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนรายได้น้อยที่จะแยกตัวเองออกมากักตัว เนื่องจากลักษณะที่อยู่อาศัยที่ต้องอยู่รวมกัน ซึ่งก็ทำให้การระบาดในพื้นที่หรือชุมชนลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า และเมื่อติดเชื้อไปโรงพยาบาลแล้วเจอเตียงเต็ม ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้คนรายได้น้อยก็ยังเข้าถึงการรักษายากกว่า 
เมื่อสองวิกฤตนี้มีด้านของมิติผลกระทบต่อที่ส่งผลต่อคนรายได้น้อยคล้ายคลึงกัน คำถามคือหากมองไปที่การแก้ปัญหาของรัฐแล้ว โจทย์เรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคมที่มีอยู่เป็นทุนเดิมนี้ ควรถูกนำมาผนวกเพื่อหาแนวทางจัดการวิกฤตอย่างไร อาจารย์ธรระบุว่าสิ่งที่ควรมีคือมิติของ ‘การส่งเสริม’ คนที่อาจต้องแบกรับต้นทุนสูงกว่าอย่างกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งนี่ยังเป็นสิ่งขาดหายไปในยามที่ภาครัฐไทยรับมือกับทั้งวิกฤตโควิด-19 และฝุ่นละออง  

“คือมิตินี้เป็นมิติที่ผมคิดว่าภาครัฐไทยยังมองเห็นน้อยมาก เพราะภาครัฐไทยรู้สึกว่า exercise ซึ่งการควบคุมมันคืออำนาจกำกับ เพราะฉะนั้นเมื่อใช้อำนาจกำกับก็จะไม่ได้มองในมิติของความเหลื่อมล้ำเข้าไปประกอบ แต่ถ้ามองมิติของความเหลื่อมล้ำเข้าไปประกอบจะพบแล้วว่า จริงๆ แล้วคนที่อาจจะต้องแบกรับต้นทุนสูงกว่าแล้วก็เจอปัญหาเยอะกว่า ก็อาจจะต้องมีมิติของการเข้าไปสนับสนุนที่ชัดเจนกว่า”

ทั้งนี้ เมื่อมองเจาะมาที่การจัดการวิกฤตคุณภาพอากาศจากฝุ่น PM2.5 ของรัฐ อาจารย์ธรมองว่ามีปัญหาอยู่ 2 แง่มุมที่โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ถูกรวมเข้าไป 

“แง่มุมแรกผมคิดว่าจริงๆ แล้วอันนี้สะท้อนจากการจัดการปัญหาวิกฤตหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่วิกฤตฝุ่น วิกฤตโควิดด้วย ก็คือเวลารัฐเจอปัญหาในลักษณะแบบนี้ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันซับซ้อนมาก วิธีแก้ปัญหามักจะเน้นเรื่องการควบคุม ใช้อำนาจเข้าไปควบคุม ควบคุมอะไรก็ไปจับเลยใครเผา จับใครปล่อยควัน จับให้หมด ปัญหาก็คือว่าพอมันมีมิติใช้อำนาจจับกุมอย่างเดียว ก็ไม่ได้มองมิติด้านการสนับสนุน คือถ้าถามว่าในมิติด้านการสนับสนุนรัฐก็ต้องเข้าใจนะว่าพฤติกรรมคนมันไม่ได้ปรับด้วยการบังคับแล้วก็ใช้อำนาจไปลงโทษอย่างเดียว แต่ว่าการจะให้เปลี่ยนพฤติกรรมก็ต้องดูว่ามันขาดการสนับสนุนส่วนไหนไปหรือเปล่า…อันนี้น่าจะเป็น mindset (วิธีคิด) ของผู้ออกมาตรการควบคุม” 

“ในอีกด้านหนึ่งผมมองว่า จริงๆ การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมันยาก เพราะว่าปัญหานี่มันต้องแก้แบบต้องมีแรงผลักให้ทุกๆ ส่วนมันขยับไปด้วยกันได้ อย่างเช่นเราจะแก้ปัญหาด้านฝุ่น PM อย่างนี้มันมีทั้งเรื่องรถยนต์ มันมีทั้งเรื่องการเผา ทั้งเรื่องการผลิตพลังงาน เพราะฉะนั้นมันต้องอาศัยการแก้แบบมี coordination ก็คือต้องประสานหลายส่วน แต่ทีนี้ปัญหาของรัฐภาคราชการไทยคือชอบมี coordination failure ก็คือไม่สามารถดึงหน่วยงานมาประสานกันได้ หลักๆ เลยถ้าถามว่าปัญหานี้แก้อย่างไรผมคิดว่ามันต้องถอยมาที่ตัว mindset ของคนที่ถูกเลือกมาโดยประชาชน ต้องบอกอย่างนี้ ว่ามันถูกดันโดยฉันทามติของคนได้มากขนาดไหน” อาจารย์ธรกล่าว โดยมองว่าผู้ที่จะสามารถช่วยทำให้ก้าวผ่านปัญหาการดึงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาประสานกันได้ก็คือ ‘ผู้ที่สามารถมีอำนาจตรงกลางได้’ พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้าเรามองย้อนกลับไปตอนจัดการวิกฤตโควิดและวัคซีนก็จะเห็นช่องโหว่ของปัญหานี้ได้ชัดเจน 

ฝุ่นกรุงเทพฯ ธ.ค.2563

(สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ ธ.ค. 2563)

ขณะเดียวกัน เขามองว่าด้วยวิกฤตมลพิษจากฝุ่นละอองโยงอยู่กับโครงสร้างปัญหาอันซับซ้อน ต้องใช้การเคลื่อนไปพร้อมกันของหลายฝ่าย ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรมของคนและเจตจำนงทางการเมืองของผู้นำ หากจะแก้ปัญหาคุณภาพอากาศนี้ท้ายที่สุดจึงหนีไม่พ้นต้องย้อนมามองโครงสร้างและสภาพการเมืองของเราว่าเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาได้มากเพียงใด  

“แน่นอนการปรับพฤติกรรมเกี่ยวกับ PM มันไม่ใช่ระยะสั้นอยู่แล้ว เพราะปัญหามันลึกลงไปถึงเรื่องที่เราสร้างกันมาเป็นเวลานาน ปรับให้คนใช้รถน้อยลงในกรุงเทพฯ มันก็ไม่ได้ทำได้แป๊บเดียว ต้องแพลนกันเป็นสิบปี ทีนี้จะดันอย่างไรให้มันเป็นวาระใหญ่จริงๆ

คือผมคิดว่าโดยเนื้อปัญหาในเรื่องการแก้ปัญหามันมีความเป็นการเมืองอยู่แล้วครับ ทีนี้เราก็ต้องถามว่าการเมืองเราสามารถที่จะมีต้นตอของการผลัก political will (เจตจำนงทางการเมือง) ให้มาแก้ปัญหาส่วนนี้มากขนาดไหน” ผศ.ธร กล่าว  

 

หมายเหตุ: รายงานนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก Earth Journalism Network of Internews