เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจัดเวทีเสวนาเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล จี้รัฐทบทวนบทบาทอย่าสร้างปัญหาซ้ำเติมแรงงานข้ามชาติ เร่งนำแรงงานเข้าระบบย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยก่อนหลุดหาย 6-7 แสนคน
ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อาคารมณียา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day) 18 ธ.ค.ของทุกปี ภายใต้หัวข้อ “แรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด: จะวนลูปหรือมูฟออน” เพื่อสื่อสารไปยังผู้กำหนดกฎหมาย นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้รับฟังสะท้อนเสียงของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการการควบคุมโรคและตลอดจนมาตรการเยียวยาจากรัฐ พร้อมรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมต่อการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤตโรคระบาดของรัฐบาล
ภาค ปชช. ชี้สถานการณ์โควิดทำแรงงานข้ามชาติเจอปัญหาหนัก 4 ข้อ
อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิดมี 4 เรื่อง คือ
1.เรื่องของการถูกเลิกจ้าง การปิดกิจการ ทำให้แรงงานไม่มีรายได้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อปิดกิจการแล้วหานายจ้างใหม่ไม่ทันก็กลายเป็นอยู่อย่างผิดกฎหมาย
2.คนที่จะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีการปิดด่านชายแดนตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศต้นทางไม่ดี เมื่อความต้องการจ้างแรงงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้คนจำนวนมากต้องแอบลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น
3. การต่อหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตที่ยังเป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2563 ทำแรงงานไม่มั่นใจว่าอยู่ต่อได้หรือไม่ และมีที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนหาประโยชน์จากเรื่องนี้ โดยหลอกว่าพาสปอร์ตหมดอายุต้องถูกปรับ และ
4.ผลกระทบโดยตรงจากโควิด ในช่วงปี 2564 มีการระบาดในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่จำนวนมาก คือ ในกทม. และปริมณฑล ในขณะที่คนไทยก็ติดโควิดจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเข้าถึงการตรวจและรักษาโควิดของแรงงานข้ามชาติ
รัฐไทยมีแค่แผนระยะสั้นแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ คาดทำแรงงานหลุดจากระบบ 6-7 แสนคน
อดิศร กล่าวว่า สำหรับในเรื่องการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้น มี มติ ครม. ที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 13 เรื่อง เฉลี่ยคือ 2 เดือนต่อครั้ง และประมาณ 9 –10 เรื่อง เป็นเรื่องของการขยายเวลา เห็นได้ชัดว่าการแก้ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้มีการวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา แม้ในระยะหลังจะมีความพยายามแก้ปัญหาบางเรื่อง เช่น เรื่องเปลี่ยนนายจ้างไม่ทัน มีการขยายเวลา แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการให้ทันท่วงที จึงพบว่านโยบายของรัฐไม่สามารถรักษาคนในระบบได้และทำให้คนหลุดออกจากระบบไปเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรทำคือต้องเปิดให้จัดระบบใหม่ เพราะจำนวนคนที่หายไปกับคนที่เข้ามาไม่สอดคล้องกัน เปรียบเทียบตัวเลขแรงงานตั้งแต่ มี.ค. 2563 กับเดือน ต.ค. 2564 ตัวเลขหายไปกว่า 4.7 แสนคน หากไม่มีการจดทะเบียนใหม่ตัวเลขน่าจะหายไป 6-7 แสนคน แม้จะเปิดให้มีการจดทะเบียนเป็นระยะ ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถดึงคนเข้าสู่ระบบได้ เพราะปัญหาในเรื่องขั้นตอนการจดทะเบียนที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงของกระทรวงแรงงาน จึงแก้ปัญหาให้แรงงานและนายจ้างไม่ได้กลายเป็นการสร้างภาระเพิ่มมากกว่า เป็นโจทย์ใหญ่ในเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา
แรงงานข้ามชาติขอสิทธิฉีดวัคซีนเหมือนคนไทย พร้อมจัดหาล่าม-เข้าถึงข้อมูลวัคซีน
ด้าน Yin Htwe ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา กล่าวถึงสถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาติ ว่า ที่ผ่านมาในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.แรงงานข้ามชาติค่อนข้างเข้าถึงวัคซีนได้ยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าจะติดต่อช่องทางไหน แต่หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิรักษ์ไทยก็ได้ช่วยกันติดตามวัคซีนให้ ทั้งในส่วนที่เป็นแรงงานในระบบมีประกันสุขภาพ และแรงงานเถื่อนไม่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อีกทั้งตอนนี้เราได้รับการสนับสนุนจากสภากาชาดไทยในเรื่องการจัดการหาวัคซีนให้วอร์กอินเข้าไปฉีดได้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้ ซึ่งตนคิดว่าว่าแรงงานข้ามชาติทั้งหมดก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับคนไทย
Yin Htwe กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามแม้แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นกว่าในช่วงแรกของการระบาด แต่ยังมีปัญหาในส่วนของคนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ กทม. หรือ จ.สมุทรสาคร ไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) คอยช่วยดำเนินการ อาจจะเข้าถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างลำบาก ในมุมมองของตนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้แรงงานต่างชาติทุกคนได้เข้าถึงนั้น ควรจะลงลึกไปถึงระดับสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานีอนามัยในแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ อยากให้ประกาศออกมาว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาฉีดได้ นอกจากนั้นการมีจิตอาสาหรือล่ามแปลเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้แรงงานข้ามชาติได้ฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งระบบของรัฐไทยยังมีปัญหาเรื่องการจัดหาล่าม การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับรู้และเข้าถึงข้อมูลการฉีดวัคซีน ถ้าเป็นไปได้พื้นที่ต่าง ๆ ควรดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย
ตัวแทนแรงงานเกษตรระบุโควิด-19 ทำกระทบหนัก การจ้างงานลด พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ
ขณะที่ ซาย วี ตัวแทนแรงงานภาคเกษตรกล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด 19 แรงงานภาคเกษตรได้รับผลกระทบที่หนักมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศล็อคดาวน์ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าไปรับจ้างทำงานได้ จึงทำให้เกิดผลกระทบทั้งแรงงานข้ามชาติเองและเจ้าของสวนในภาคเกษตรที่ต้องใช้แรงงาน เมื่อการจ้างงานลดลง พืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการในภาคเกษตรขาดทุน และทำให้เจ้าของสวนไม่มีกำลังใจในการทำงานต่อไปอีก
แรงงานภาคก่อสร้างระบุการฉัดวัคซีนโควิด 19 ให้แรงงานข้ามชาติยังมีปัญหา
ปอด สัง ตัวแทนแรงงานก่อสร้าง กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด19 พวกเราอยู่อย่างลำบากมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน เรื่องของรายได้ เราถูกสั่งปิดตั้งแต่เมื่อมีการระบาดของโควิด เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนครึ่งที่เราไม่มีรายได้ ในส่วนอาหารก็ต้องอาศัยการบริจาคจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิต่าง ๆซึ่งในแคมป์คนงานของตนมีอยู่ประมาณ 200 คนที่ได้รับผลกระทบ ใสส่วนของวัคซีนมีแรงงานหลายคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 หรือคนที่ได้รีบการฉีดเข็มที่ 1 ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองจะได้ฉีดเข็ม 2 เมื่อไหร่ จึงเป็นปัญหาของพวกเรามาก
แรงงานทำงานบ้านเผยต้องทำงานหนักมากขึ้นในช่วงล็อคดาวน์โควิด19 แต่ได้รับการจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม
ขณะที่ จำปา ตัวแทนของแรงงานทำงานบ้านกล่าวว่า ในส่วนของแรงงานที่ทำงานที่บ้านก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้แรงงานในภาคอื่นๆ หลายๆคนอาจจะคิดว่าคนที่ทำงานที่บ้านจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเพราะทำงานและกินอยู่กับนายจ้าง แต่ในความเป็นจริงลูกจ้างที่ทำงานที่บ้านมีการจ้างงานที่หลากหลายช่วงเวลาทำงาน บางคนทำงานและอยู่กับนายจ้างตลอด 24 ชั่วโมง บางคนทำงานแบบมาเช้าเย็นกลับ พอสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ลูกจ้างทีทำงานบ้านแบบมาเช้าเย็นกลับตกงานทันที เพราะนายจ้างเกิดความหวาดกลัวว่าแรงงานจะนำเชื้อโรคจากข้างนอกมาให้นายจ้าง นายจ้างก็จะใช้วิธีบอกให้ลูกจ้างพักก่อนแต่การพักก็เหมือนกับการเลิกจ้างและลูกจ้างก็จะไม่ได้รับเงินส่วนลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างตลอด 24 ชั่วโมงหลังรัฐประกาศให้มีการล็อคดาวน์ปรกติลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดในการทำงาน แต่เมื่อมีการล็อคดาวน์ลูกจ้างก็จะต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นอีก แต่เงินก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของการฉีดวัคซีนลูกจ้างทำงานที่บ้านก็เจอปัญหา ที่ต้องลงทะเบียนกับแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ซี่งลูกจ้างหลายคนไม่สามารถทำแบบนั้นได้ก็ทำให้มีหลายคนที่เข้าไม่ถึงวัคซีน
'เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ' ชี้อุตสาหกรรมประมงอ่วม ออกทะเลแล้วกลับฝั่งไม่ได้เกือบปีเพราะประกาศ ผวจ.
ด้าน สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงทะเลในวิกฤติโควิด ว่า แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา มีลูกเรือ คนเรือในเรือหลายประเภทที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะ เรือประมงแบบไปกลับที่ปกติออกเรือ 15-20 วัน หรือ 3-4 เดือนแล้วกลับเข้าฝั่ง ก็ลากยาวเกือบปีจึงได้กลับเข้าฝั่งได้ ทำให้แรงงานไม่ได้หยุดพัก เพราะผวจ.สมุทรสาครออกมาตรการและประกาศหากกลับเข้าฝั่งจะไม่อนุญาตให้ออกเรือไปอีก เนื่องจากกลัวสถานการณ์โควิด ขณะที่ในส่วนของเรือลากเคยเพื่อทำกะปิ ไม่สามารถออกเรือได้เกือบปี ลูกเรือจึงแทบจะไม่ได้รับค่าจ้างเลย ซึ่งปัญหาคือแรงงานข้ามชาติที่ถือเอกสารประจำตัวเป็นลูกเรือประมง ไม่สามารถไปรับจ้างหรือทำงานอื่นทดแทนได้ในช่วงที่ไม่ได้ออกเรือ ถ้าไปทำอย่างอื่นก็ถือว่าผิดกฎหมายและถูกตำรวจจับปรับได้
นายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้างหลังรัฐสั่งหยุดทำงาน
สุธาสินี กล่าวว่า ในช่วงแรกของการระบาดโควิดเป็นช่วงการฉกฉวยของนายจ้างในการเลิกจ้าง มาตรการของรัฐเองก็ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์ในเรื่องการสั่งหยุดการทำงาน ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ที่คนงานล้วนแต่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทุกคนตกงานจากนโยบายของรัฐทั้งหมดตั้งแต่ระลอกแรกมาถึงระลอกสองจนเขาไม่สามารถอยู่ได้ และต้องเจรจาขอเปิดชายแดนกลับภูมิลำเนา พอมาช่วงที่สมุทรสาครเป็นพื้นที่สีแดงแต่กลับมีออร์เดอร์จำนวนมากโดยเฉพาะอาหารทะเลต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมปลากระป๋องขณะที่กำลังแรงงานขาดแคลน ทำให้คนงานไม่มีเวลาพักแม้จะมีการจ่ายค่าโอทีก็ตาม