Skip to main content

สรุป

  • ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในไทยลดลงไปราว 1.1 ล้านคน
  • ปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบมาระบบการลงทะเบียนและระเบียบที่ซับซ้อนและขาดความเข้าใจ
  • กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอ ครม. เปิดศูนย์ลงทะเบียนใน 4 จังหวัด โดยขยายเวลาให้ถึง 13 ก.พ. 2566

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการลดลงของแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากความซับซ้อนยุ่งยากของการลงทะเบียนใหม่ ทำให้มีแรงงานบางส่วนหลุดออกจากระบบ 

ตามที่ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานเครือข่ายองค์ดรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติหลุดออกนอกระบบเป็นระยะอยู่แล้ว เพราะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยไม่ว่าจะมาด้วยข้อตกลงไหนก็ตาม จะมีช่วงเวลาที่ชัดเจนอยู่แล้ว และสถานการณ์ปิดชายแดนที่ผ่านมาก็ทำให้เติมแรงงานเข้ามาในระบบต่อไม่ได้ ส่วนคนเก่าที่ทำงานอยู่เดิมก็ต้องทำเรื่องขออยู่ต่อ ซึ่งระยะเวลาการขออยู่ต่อนั้นมีเงื่อนไขเยอะ เช่น ต้องขอใบอนุญาตก่อนหมดอายุ แต่วีซ่าต่อทีหลังได้ แต่ถ้าคนไม่รู้คือปล่อยให้หมดอายุทั้งสองอย่างก็คือต่อใบอนุญาตไม่ได้ ทำให้หลุดออกจากระบบแรงงานข้ามชาติไป

ส่วนปัจจัยอีกข้อคือ กฎหมายเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง ต้องมีการพิสูจน์ว่านายจ้างเก่ายินยอมไหม ถ้าไม่ก็มีความผิด แต่ถ้าหานายจ้างใหม่ไม่ทัน 30 วัน (ที่ต่อมายอกเว้นให้เป็น 60 วัน) ถ้าทำไม่ทันก็หลุดจากระบบไป ปัจจัยอีกด้าน คือ ระบบที่กระทรวงแรงงานเปิดให้จดทะเบียนใหม่นั้นแม้จะช่วยดึงแรงงานข้ามชาติกลับมาได้ส่วนหนึ่ง แต่วิธีการวุ่นวาย หลายขั้นตอนทำให้ไม่สามารถดึงกลับมาได้หมด อีกทั้งยังดึงข้อมูลกลับเข้าส่วนกลางหมด ทำให้ทำยากขึ้น ทำได้อย่างเดียวคือหวังพึ่งนายหน้า ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ การเมืองในประเทศเมียนมา ทำให้มีชาวพม่าลักลอบเข้าประเทศไทยมากขึ้น และพวกเขาเหล่านี้เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย 

โดย อดิศร ทิ้งท้ายไว้ว่า คงต้องรอให้โควิดคลี่คลาย และชายแดนประเทศเปิดเป็นปกติก่อน สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในไทยก็คงจะดีขึ้น เพราะถึงอย่างไร เศรษฐกิจของประเทศต้องเดินหน้าต่อ

ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมการจัดหางาน เรื่องจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาไทย แบ่งได้เป็น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ก่อน มี.ค. 2563 มี 1,086,494 คน หลัง ก.ค. 2565 เหลือ 469,958 คน หายไป 616,536 คน, ส่วนแรงงานที่อยู่และทำงานจากช่องทางพิสูจน์สัญชาติ ก่อน มี.ค. 2563 มี 1,464,772 คน หลัง ก.ค. 2565 เหลือ 912,388 หายไป 552,384 คน

แรงงานที่ถูกจ้างงานชายแดน ก่อน มี.ค. 2563 มี 50,018 คน หลัง ก.ค. 2565 เหลือ 19,026 หายไป 30,992 คน แต่มีเพียงแค่กลุ่มแรงงานที่ได้รับผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี ระหว่างปี 2562 ถึงปัจจุบันที่จำนวนเพิ่มขึ้น 688,855 คน ซึ่งก็เป็นเพียงช่องทางที่พยายามช่วยเหลือแรงงานที่การอนุญาตสิ้นสุดลงในช่วงที่ผ่านมาให้ยังอยู่ในประเทศได้เท่านั้น

ด้านกระทรวงแรงงานให้ข่าวเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เตรียมจะเสนอ ครม. ขยายระยะเวลาให้บริการศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ใน 4 คือ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง ชลบุรี ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 และเห็นชอบการแก้ไขประกาศกระทรวงแรงงาน ให้แรงงานข้ามชาติที่มีศักยภาพสูงทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยมีสาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตาม จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จะได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษประเภทผู้พำนักยาว (Long-Term Resident Visa: LTR) และได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรคราวละไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี