Skip to main content

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง​ความคืบหน้าการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานประชุมไตรภาคีจังหวัด ซึ่งได้มีการประชุมทุกจังหวัดแล้ว และขณะนี้ได้ตัวเลขมาหมดแล้ว แต่อำนาจการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์ให้เหมาะสมนั้น ข้อเท็จจริงแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วงและกำลังปรับขึ้นให้อยู่ โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง ซึ่งตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด เพราะจีดีพีแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้​ ตนได้ให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงานไปแล้วว่าจะต้องทำให้จบภายในเดือนสิงหาคม และน่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นเดือน​ ​ก.ย. จากเดิมที่วางเอาไว้ให้มีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2566 แต่ครั้งนี้เวลา 1 ปี กว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการปรับค่าแรงเลย เนื่องจากต้องแก้ปัญหาเยียวยาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลทำได้แต่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง และวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม นายจ้างเห็นดีเห็นงาม เพราะต้องการให้ลูกจ้างอยู่กับเขาต่อ ส่วนตัวเลขที่เรากำหนดอยู่ 5-8% เรามีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ เอา​จีดีพีของแต่ละจังหวัดมาคำนวณจะสามารถตอบคำถามว่าทำไมแต่ละจังหวัดได้ในปริมาณเท่านี้

สุชาติ กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ค่าครองชีพดูจากฐานเดิม ในช่วงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พื้นที่​ EEC​ และพื้นที่​ กทม. ก็ต้องขึ้นก่อนและสูงขึ้นไป เพราะค่าครองชีพและจีดีพีจังหวัดนั้นสูง ย้ำว่า​จะเร่งรัดเพื่อนำเข้า ครม. ในเดือน ก.ย. ให้ได้ และส่วนตัวอยากให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้ขึ้นเร็วกว่าต้นปี เพราะขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวไปแล้ว ขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ส่วนการนำเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ สุชาติ มองว่า​ เป็นเรื่องช่วงเวลามากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาท​ ตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว ขอร้องอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติ เราไม่สามารถเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมืองแต่เราปรับตามเวลาที่เหมาะสม