Skip to main content

กัปปิยนารถ วรรณสิริวิไล

 

ชีวิตแม่บ้านต่างชาติ

 

หากพูดถึงแม่บ้าน อาจตีความได้ 2 ความหมาย คือ ภรรยาที่ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน และ พนักงานทำความสะอาด ซึ่งอ้อยเป็นทั้ง 2 อย่าง

ในบทบาทแรก หลังจากแต่งงานและย้ายไปอยู่กับครอบครัวสามี เธอยังไม่ได้บัตร LTVP+ หรือ วีซ่าสำหรับผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์ระยะยาว ในทันที จึงยังไม่สามารถสมัครงานได้ ทำได้เพียงช่วยทำงานบ้าน ทำอาหาร ดูแลพ่อแม่สามีที่เกษียณแล้ว และรับจ้างพับถุงกระดาษเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ

เนื่องจากไม่มีรายได้เป็นของตนเอง สามีจึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด และช่วยส่งเงินให้ครอบครัวอ้อยที่ไทย ในตอนแรกก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาก็ทะเลาะกันเพราะสามีมองว่า เขาทำงานหาเงินคนเดียวแต่ยังต้องส่งเสียครอบครัวของภรรยาที่ไม่ทำอะไรเลย อ้อยเผยว่าเธอรู้สึกแย่มาก “แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้” อ้อยกล่าว

เมื่อได้รับบัตร LTVP+ อ้อยดีใจมาก รีบไปสมัครงานร้านอาหารอีกครั้ง ทำได้ไม่นานก็เปลี่ยนมาทำอาชีพรับจ้างเลี้ยงเด็ก แต่เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง เธอจึงเปลี่ยนมารับจ้างทำความสะอาดบ้านผ่านเอเจนซี ทำงานบ้านละ 3-4 ชั่วโมง ก็ได้เงิน 20 - 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในหนึ่งวันสามารถทำได้สูงสุด 3 บ้าน หากวันไหนไม่มีงานก็สามารถอยู่บ้านพักผ่อน ดูแลพ่อแม่สามีได้ เธอชอบงานนี้มาก เพราะงานไม่หนักมาก รายได้ดี ได้นั่งรถไปทั่วเกาะสิงคโปร์ ได้เห็นบ้านและครอบครัวต่าง ๆ สามารถเลือกรับงานและจัดตารางชีวิตได้ ที่สำคัญคือมีอิสระทางการเงิน อ้อยภูมิใจที่สามารถหาเงินได้เองและส่งเงินให้ที่บ้านโดยไม่ต้องรบกวนสามี

ปลายปี 2556 ชีวิตเริ่มลงตัว มีงาน มีรายได้ อ้อยและสามีก็ตัดสินใจมีลูก โดยเธอหวังว่าลูกจะเป็น หลักประกันในสถานะพลเมือง ของตนได้หากเกิดอะไรขึ้นกับสามี เพราะอ้อยพยายามขอ การขอมีถิ่นที่อยู่ถาวร (Permanent Residency) มาหลายครั้ง แต่ก็โดนปฏิเสธตลอด

ช่วงตั้งครรภ์เธอยังคงทำงานไม่หยุดพักเพื่อเก็บเงินให้ได้มากที่สุด เมื่อใกล้คลอดจึงหยุดงานไปคลอดที่ไทยเนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่าและลูกยังคงได้สัญชาติสิงคโปร์  เมื่อมีลูก อ้อยก็ยังคงหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำความสะอาดบ้านเรื่อยมา เพราะเลือกรับงานได้จึงมีเวลาดูแลลูก บางวันอ้อยก็นึกขยัน ทำขนมไทยไปฝากขายตามร้านอาหารไทยหรือร้านขายของไทย การได้พูดคุยภาษาไทยช่วยคลายเหงาลงได้บ้าง เพราะที่บ้านไม่มีใครรู้ภาษาไทยเลย แม้ลูกจะพอฟังภาษาไทยออกแต่ก็พูดไม่ได้

 

●    การมีลูกกับชาวสิงคโปร์ และลูกถือสัญชาติสิงคโปร์ 

แท้จริงแล้วไม่สามารถเป็นหลักประกันในสถานพลเมืองของแม่/พ่อที่เป็นชาวต่างชาติได้ หากถือบัตร LTVP+ แล้วคู่สมรสชาวสิงคโปร์เสียชีวิตหรือหย่าร้างกัน ก็ไม่มีสิ่งใดสามารถการันตีการอยู่อาศัยในสิงคโปร์ของผู้ถือบัตรได้ การถือสถานะ PR (Permanent Rescidency) จึงเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัยที่สุดสำหรับชาวต่างชาติในสิงคโปร์ แต่ PR มีเกณฑ์การให้ที่ยากมาก เช่น ต้องแต่งงานกับคนสิงคโปร์, อาศัยอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลานาน, เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่หายาก หรือ สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

 

 

แม้จะเหงา แต่ก็มีเพื่อนคนไทยประกอบอาชีพหลากหลาย กระจายตัวอยู่ทั่วเกาะสิงคโปร์ ได้เจอกันเวลาไปซื้อของที่ร้านไทย หรือซุปเปอร์มาเก็ตไทย บ้างก็นัดเจอกันตามงาน หรือเทศกาลคนไทย เช่น งานสงกรานต์ที่วัดไทย หรืองานวันแรงงานที่จัดโดยสถานทูต บ้างก็พูดคุยกันผ่านหน้าเฟสบุ๊ก “เพื่อนไทยในสิงคโปร์” คือกลุ่มเฟสบุ๊กที่อ้อยชอบเข้าไปอ่านเวลาว่าง ช่วยตอบคำถาม แนะนำวิธีแก้ปัญหาให้สมาชิกในกลุ่มที่โพสต์ขอความช่วยเหลืออยู่เสมอ

แต่ละวันมีคนโพสต์ถามหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องทั่ว ๆ ไปในสิงคโปร์ ตั้งแต่การซื้อตั๋วเครื่องบิน เอกสารราชการ หาทนาย หาครูสอนพิเศษให้ลูก รับฝากของกลับไทย เชิญชวนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ บ้างก็มาระบายปัญหาครอบครัวและชีวิตรัก ได้ทั้งสาระความรู้ ความบันเทิง และได้คลายความเหงาเมื่อรู้ว่าเธอยังมีเพื่อนคนไทยอีกมากที่มีประสบการณ์ร่วมกัน เผชิญชะตากรรม “ดอกหญ้าในเกาะปูน” เช่นเดียวกัน

 

●    คำว่า ดอกหญ้าในเกาะปูน ดัดแปลงมาจากชื่อเพลง ดอกหญ้าในป่าปูน ของ ต่าย อรทัย มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพ โดยคำว่า ป่า ได้เปลี่ยนเป็น เกาะ เพราะประเทศสิงคโปร์มีลักษณะเป็นเกาะที่มีตึกระฟ้าจำนวนมาก


เรื่องของลูก

 

ปัจจุบันลูกชายของอ้อยอายุ 10 ขวบแล้ว เป็นเด็กร่าเริง สุขภาพแข็งแรง และเป็นที่รักของปู่ย่ามากเพราะท่านอยากได้หลานชาย ลูกสามารถพูดภาษาอังกฤษและจีนกลางได้คล่องแคล่วเพราะเรียนที่โรงเรียน คุยภาษาจีนฮกเกี้ยนกับปู่ย่าได้ และฟังภาษาไทยรู้เรื่อง อ้อยรู้สึกเสียดายเพราะเธอได้ใช้เวลากับลูกมากกว่าแม่ ๆ ชาวไทยคนอื่น แต่ลูกกลับไม่พูดภาษาไทย ในขณะที่เด็ก ๆ ลูกครึ่งไทยที่สิงคโปร์ก็พูดได้กันทั้งนั้น

“คนที่นี่เขาใช้ภาษาอังกฤษ พูดไทยไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฟังกันเข้าใจก็พอ” อ้อยกล่าว

อ้อยส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐฯ ใกล้บ้านมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล แต่เมื่อลูกขึ้นชั้นประถม เธอไม่สามารถสอนการบ้านลูกได้โดยเฉพาะการบ้านภาษาจีน สามีก็ไม่ค่อยว่าง หน้าที่สอนการบ้านจึงเป็นของปู่กับย่าที่ค่อนข้างเข้มงวด บางครั้งเธอก็สงสารลูกแต่บางครั้งเธอก็โล่งใจที่ลูกมีที่พึ่งทางการศึกษา

อ้อยและสามีมีรายได้รวมกันเดือนละไม่ถึง 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จัดเป็นครอบครัวที่มีรายได้ต่ำในสิงคโปร์ ลูกชายของเธอจึงมีสิทธิ์สมัครโครงการ FAS โดยรัฐบาลให้บัตรเงินสดสำหรับซื้ออาหารในโรงเรียนวันละ 4 ดอลลาร์สิงคโปร์, บัตรเดินทางรถโดยสารรายเดือน, อุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนฟรีมาตั้งแต่ขึ้นชั้น Primary 1 หรือ ป.1 ค่าเทอมก็สามารถจ่ายผ่าน EduSave ได้เลย ถึงพ่อแม่จะมีเงินไม่มากแต่รับประกันได้ว่าลูกจะได้เรียนจนจบชั้นมัธยมแน่นอน

 

●    FAS ย่อมาจาก MOE Financial Assistance Scheme 

โครงการของกระทรวงศึกษาธิการ (MOE - Ministry of Education) ช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กสิงคโปร์ที่มีฐานะยากจน มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน หรือต่ำกว่า 700 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคนต่อเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายมอบให้ในรูปแบบคูปอง บัตรเงินสด และสิ่งของเครื่องใช้ ประมาณเดือนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเด็ก 1 คน


●    EduSave หรือ The Edusave Endowment Fund 

โครงการของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดบัญชีเงินฝากให้กับเด็กสิงคโปร์ทุกคนตั้งแต่เกิด โดยรัฐบาลจะฝากเงินให้เป็นทุนการศึกษาในอนาคต เพื่อเพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่เด็กสิงคโปร์ทุกคน หากเด็กได้รับทุนการศึกษาหรือรางวัลก็จะโอนใส่บัญชีนี้

 

อีก 2 ปี ลูกชายของอ้อยจะต้องสอบ PSLE เพื่อเข้าโรงเรียนมัธยมดี ๆ หากเลือกพลาดไปก็อาจส่งผลต่อการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยของลูกเลยทีเดียว สิ่งนี้ทำให้พ่อแม่ชาวสิงคโปร์กวดขันกับการเรียนของลูก ๆ มาก แต่อ้อยไม่อยากให้ลูกรู้สึกเครียดและกดดันกับการเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ประกอบกับฐานะทางบ้านทำให้ไม่สามารถจ้างติวเตอร์มาสอนพิเศษได้ ปีนี้เธอจึงสอนให้ลูกตั้งใจเรียนที่โรงเรียนไปก่อน และพาไปออกกำลังกายที่ศูนย์กีฬาแถวบ้านทุกวันเสาร์ เพื่อระบายความเครียดจากโรงเรียนและยังสุขภาพแข็งแรงด้วย

 

●    PSLE ย่อมาจาก Primary School Leaving Examination 

การสอบระดับชาติของนักเรียนชั้น Primary 6 (ป.6) เพื่อวัดความรู้และสมัครเข้าเรียนชั้น Secondary 1 (ม.1) หากได้คะแนนสูงก็มีสิทธิ์เลือกโรงเรียนที่เป็นที่ต้องการสูง

 

อ้อยสอนให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวตั้งแต่เด็ก ลูกชายจึงไม่เคยร้องขออะไรเลย ไม่เคยงอแงที่ไม่ได้ไปเที่ยวบ่อย ๆ เหมือนเพื่อน เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เกเร และไม่เคยสอบตก เธอจึงรู้สึกโชคดีมากที่ลูกชายเป็นเด็กดี เมื่อลูกโตขึ้น อ้อยวางแผนจะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่สามี แต่ก็ได้แค่วางแผนมาเกือบ 10 ปีแล้ว แม้ตอนนี้เธอยังไม่สามารถมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกได้ แต่เธอจะมอบทุกสิ่งที่มีเพื่อสนับสนุนความฝันของลูกอย่างสุดกำลัง


ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีอิสระ

 

ความสุขในทุกๆ วันของอ้อย คือ การเฝ้าดูการเติบโตของลูกชาย ดูละคร เล่นเฟสบุ๊กนิด ๆ หน่อย ๆ ส่วนความฝันของเธอ คือ การมีอิสระ มีเงินมากพอที่จะไม่ต้องทำงานหนัก ไปเที่ยวพักผ่อนได้ ซื้อของกินของใช้โดยไม่ต้องคิดว่าถูกหรือแพง ที่สำคัญคือ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาสามี ซึ่งหมายถึงการได้สถานะ PR นั่นเอง

ปีนี้เป็นปีที่ 10 ที่เธอยังคงถือบัตร LTVP+ โดยมีสามีเป็นสปอนเซอร์ หากวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นกับสามี หรือตัดสินใจแยกทางกัน เธอก็จะต้องตกอยู่ในสถานะคนต่างชาติอีกครั้ง ไม่มีวีซ่า ไม่มีสมบัติเป็นของตนเอง มีเพียงลูกชายที่มีสัญชาติสิงคโปร์ ความพยายามก่อร่างสร้างตัวในประเทศนี้ก็กลายเป็นศูนย์ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อ้อยตั้งใจว่าเธอจะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทย

อ้อยหักเงินส่วนเล็ก ๆ จากน้ำพักน้ำแรงของเธอเองส่งให้ครอบครัวที่ไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็ยังเป็นสิ่งที่สามีรับไม่ได้ เพราะถึงพ่อแม่ลูกจะพออยู่ได้แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในสิงคโปร์ ทำไมจึงต้องแบ่งเงินให้คนอื่นอีกในเมื่อครอบครัวของอ้อยก็ยังทำงานหาเงินได้ ขณะที่พ่อแม่สามีก็มีเงินบำนาญใช้ ไม่ต้องเดือดร้อนลูกหลาน แต่กระนั้น สภาพความเป็นอยู่ของคนจนที่ไทยกับคนจนที่นี่แตกต่างกันมาก อ้อยได้แต่หวังว่าสามีจะเข้าใจความจำเป็นของครอบครัวเธอบ้าง

บ่อยครั้งที่อ้อยอยากแยกทางกับสามี ตั้งแต่พ่อแม่สามีที่ไม่ยอมรับเธอในช่วงแรก สามีที่ไม่สามารถปกป้องเธอได้ การใช้ชีวิตอย่างอัตคัด และอีกหลากหลายปัจจัยที่สร้างความอึดอัดใจสะสมมาตลอดหลายปี คิดว่าอยู่ตัวคนเดียวคงจะดีกว่า แต่เธอก็ยังมีลูกต้องเลี้ยงดู ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยวีซ่าที่อยู่ในอำนาจสามี และ ค่าใช้จ่ายในการหย่า ก็สูงมากในสิงคโปร์

“มีเงินก็ต้องเก็บไว้ให้ลูก ไม่ใช่เอามาจ้างทนายหย่ากับพ่อของลูก” อ้อยกล่าว เมื่อไม่มีอิสระทางการเงิน ก็ไม่มีอิสระทางใจเช่นกัน

 

●    การหย่าร้างในสิงคโปร์ 

แม้จะตกลงแยกทางด้วยดี ไม่มีการฟ้องร้องก็ต้องจ้างทนายทุกกรณี โดยค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1,500 - 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 40,500 - 95,000 บาท ซึ่งต้องมีเหตุผลที่จำเป็นในการหย่ามากพอ เช่น การคบชู้ การละเลย พฤติกรรมที่รับไม่ได้ หรือหากไม่มีเหตุแห่งการหย่าดังกล่าว จะต้องแยกกันอยู่เป็นเวลา 3-4 ปี จึงจะดำเนินการหย่าได้


บทส่งท้าย

 

ในประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสิงคโปร์ ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศอันเนื่องมาจากแนวคิดปิตาธิปไตย ช่องโหว่จากการโยกย้ายถิ่นฐานของประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก ฯลฯ โดย “หญิงต่างชาติ” ที่ย้ายมาสิงคโปร์หรือประเทศไหนก็ตาม พวกเธอคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงของทุกปัญหา ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางสถานะพลเมือง และความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะในบทบาทของแรงงาน ภรรยา และแม่

ด้วยความหวังว่าสังคมจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และเร่งแก้ไขเพื่อพัฒนาสิทธิและความเป็นอยู่ของผู้หญิงให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลังก้าวไปข้างหน้า เพราะพวกเธอ คือ กำลังสำคัญในการพัฒนาของทุกประเทศ

 

อ่าน ‘ดอกหญ้าในเกาะปูน’ อีกด้านของความเจริญผ่านสายตาหญิงไทยในสิงคโปร์ ตอน 1

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน

 


เอกสารอ้างอิง
●    “4 Key Differences: Singapore PR vs. LTVP.” Singapore Top Immigration.sg, singaporetopimmigration.sg/key-differences-singapore-pr-vs-ltvp/. Accessed 14 May 2024.
●    admin. “Sex Work in ASEAN: Singapore - Project X.” Theprojectx, 25 Aug. 2023, theprojectx.org/sex-work-in-asean-singapore/.
●    “Aware| Women’s Action.” Www.womensaction.sg, www.womensaction.sg/article/migration#:~:text=This%20contradictory%20situation%20has%20led. Accessed 14 May 2024.
●    “Education Endowment and Savings Schemes (Edusave Pupils Fund) Regulations - Singapore Statutes Online.” Sso.agc.gov.sg, sso.agc.gov.sg/SL/EESSA1992-RG1?DocDate=20231227&ValidDate=20240101. Accessed 14 May 2024.
●    “Financial Assistance.” Base, www.moe.gov.sg/financial-matters/financial-assistance.
●    “HDB | Designing for Life Roadmap.” Www.hdb.gov.sg, www.hdb.gov.sg/cs/infoweb/about-us/hdbs-refreshed-roadmap-designing-for-life.
●    International Labour Organization. Public Attitudes towards Migrant Workers in Singapore. Dec. 2020.
●    “การพัฒนาทักษะประชากรสูงวัยของสิงคโปร์.” ITD - International Institute for Trade and Development, www.itd.or.th/itd-data-center/67_31/. Accessed 14 May 2024.
●    Ministry of Manpower. “Work Passes.” Ministry of Manpower Singapore, 2018, www.mom.gov.sg/passes-and-permits.
●    “SEAB - about PSLE.” Www.seab.gov.sg, www.seab.gov.sg/home/examinations/psle/about-psle.
●    Wong, Jonathan. “Grounds for Divorce in Singapore: 6 Must-Know Facts.” Singapore Family Lawyer, 10 Oct. 2023, www.singaporefamilylawyer.com/insights/grounds-for-divorce-singapore/. Accessed 14 May 2024.
●    “Written Answer by Minister for Manpower Mr Tan See Leng to Oral PQ on CPF Contribution for Long-Term Visitor Pass Holders.” Ministry of Manpower Singapore, 28 July 2021, www.mom.gov.sg/newsroom/parliament-questions-and-replies/2021/0726-written-answer-to-oral-pq-on-cpf-con-for-ltvp-holders. Accessed 14 May 2024.
●    “การพัฒนาทักษะประชากรสูงวัยของสิงคโปร์.” ITD - International Institute for Trade and Development, www.itd.or.th/itd-data-center/67_31/. Accessed 14 May 2024.
●    “สรุปสถานการณ์ตลาดแรงงานในสิงคโปร์ปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 - ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์).” ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์, 4 Apr. 2023, thaibizsingapore.com/news/%E0%B8%82/economics/singapore-labour-market-report-2022-and-market-trend-in-2023/. Accessed 14 May 2024.