Skip to main content

โคเรียไทม์เผยแพร่บทความวิจารณ์การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไร้มนุษยธรรมของนายจ้างชาวเกาหลี ยกกรณีแรงงานไทยในฟาร์มหมู จ.คยองกี ที่เพิ่งเสียชีวิตและถูกนายจ้างนำศพไปทิ้งบนภูเขา เขาพักอาศัยและทำงานในสภาพแวดล้อมที่สกปรก เหม็นเน่า น่าสะอิดสะเอียนเป็นเวลาหลายปี กระทั่งป่วยและตาย

บทความกล่าวว่า ไม่มีประเทศใดต้องการแรงงานต่างชาติมากเท่าประเทศเกาหลี เนื่องจากเกาหลีมีอัตราการเกิดที่ต่ำอย่างต่อเนื่องและประชากรสู่วัยชราในอัตราเร็วที่สุดในโลก การทะลักเข้ามาของแรงงานต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม โดยปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาทำงานในเกาหลีใต้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 600,000 คน

กรณีของ บุญชู ประวะเสนัง แรงงานไทยลักลอบเข้าเมืองวัย 67 ปี ซึ่งถูกพบเป็นศพบนภูเขาในเมืองโพชอน จ.คยองกี เมื่อวัน 4มี.ค. ตำรวจสันนิษฐานว่า อาจเกิดการทำงานหนักในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่อง จนเป็นสาเหตุของการป่วยหนักจนเสียชีวิต ขณะที่นายจ้างไม่ยอมแจ้งตำรวจ แต่เลือกที่จะนำร่างบุญชูไปทิ้งในป่าบนภูเขา เนื่องจากกลัวความผิดเพราะจ้างแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

บุญชูทำงานที่ฟาร์มหมูมานาน 10 ปี ทำหน้าที่เลี้ยงหมูเกือบ 1,000 ตัว ทำความสะอาดเล้าหมูและทำคลอดหมู นายจ้างให้เขาพักในห้องเล็กๆ ในคอกหมูที่ทั้งคับแคบ สกปรก ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก และเหม็นเน่ากลิ่นอุจจาระหมู

บทความกล่าวว่า กรณีเช่นนี้นายจ้างจะหักเงิน 300,000 วอนต่อเดือน หรือราว 230 ดอลลาร์จากเงินเดือนเอาไว้เป็นค่าที่พัก ในปี 2020 มีแรงงานหญิงชาวกัมพูชาเสียชีวิตในเรือนกระจกที่หนาวเย็นจากภาวะอุณหภูมิร่างกายลดต่ำ เดือนที่แล้วมีคู่รักชาวไทยเสียชีวิตเพราะคาร์บอนมอนออกไซด์ขณะหลับหน้ากองไฟในห้องที่ไม่มีเครื่องทำความร้อน

กลุ่มประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเผยว่า การด่าทอและทำร้ายร่างกายแรงงานข้ามชาติโดยนายจ้างชาวเกาหลีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรกติ ขณะที่แรงงานหญิงต้องคอยความหวาดกลัวตลอดเวลาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แรงงานจำนวนมากไม่กล้าฝันถึงเงินค่าล่วงเวลาหรือเงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง ส่วนการเปลี่ยนงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้างภายใต้ระบบการอนุมัติการจ้าง หรือ EPS หรือที่อาสาสมัครให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเรียกว่า 'แรงงานทาสยุคใหม่'

ภายใต้ EPS แรงงานข้ามชาติสามารถอาศัยอยู่ในเกาหลีได้นานที่สุด 4 ปี 10 เดือน โดยมีเวลา 2 เดือนที่เหลือในการยื่นขออนุญาตเป็นผู้พักอาศัยถาวร

ในปี 2021 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การห้ามแรงงานข้ามชาติเปลี่ยนสถานที่ทำงานไม่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ แม้จะละเมิดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญเกาหลีที่บัญญัติเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ตาม

บทความกล่าวว่า แม้เกาหลีมีความต้องการแรงงานแต่จะไม่มีวันยอมรับแรงงานต่างชาติเข้ามาเป็นสมาชิกของสังคมเกาหลีอย่างเด็ดขาด ดังนั้น สิ่งที่ชาวเกาหลีควรทำคือการจ้างแรงงานข้ามชาติในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ไม่ใช่ทาสแต่เป็นผู้สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ

บทความกล่าวด้วยว่า การที่เกาหลีตัวเองเปลี่ยนจากประเทศขอทานมาเป็นประเทศผู้บริจาคภายในสองชั่วอายุคน จะต้องไม่ลืมที่จะพูดถึงช่วงเวลาที่ต้องส่งออกแรงงานจำนวนมหาศาลไปทำงานในเหมืองที่เยอรมนีในทศวรรษที่ 1960 และพูดถึงการร่ำไห้ของประธานาธิบดีปัก จุงฮีร่วมกับคนงานเหมืองชาวเกาหลีและนางพยาบาลที่ตรากตรำงานหนักอยู่ในประเทศยุโรป

บทความยกเอาคำเก่าของผู้ฌฒ่าผู้แก่เกาหลีที่กล่าวว่า “กบไม่เคยจำตัวเองในตอนที่ยังเป็นลูกอ๊อดได้หรอก”