การผลักดันในเชิงนโยบายที่เป็นภาพใหญ่ทั้งประเทศแล้ว หัวใจสำคัญในการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุเจ็บตายบนท้องถนน จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความแข็งแกร่งจากล่างขึ้นบนด้วย นั่นคือบทบาทขององค์กรท้องถิ่น ผ่านกลไกอำเภอและตำบลขับขี่ปลอดภัย
เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม เรื่อง กลไกอำเภอ ตำบล ขับขี่จักรยานยนต์ปลอดภัย จัดโดย สอจร.แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้า สอจร.ภาคกลาง กล่าวว่า อุบัติเหตุและการบาดเจ็บบนท้องถนน เกิดขึ้นตามเส้นทางที่ตัดเข้าในชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่เป็นยานพาหนะหลัก และเป็นกลุ่มที่บาดเจ็บเสียชีวิตมากกว่า 80%ในบ้านเรา ดังนั้น กลไกท้องถิ่นจึงมีความสำคัญมาก ในการผลักดันให้ชาวบ้านตระหนัก และดูแลตัวเองตั้งแต่ออกจากบ้าน ยึดหลักการป้องกันตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น ควบคู่ไปกับการประสานงานร่วมกับ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานองค์กรท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อาสาสมัคร อปพร. ฝ่ายปกครอง และตำรวจ ถือว่ามีความสำคัญมาก
ชิษณุวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่กลไกท้องถิ่นมีส่วนสำคัญ ในช่วยผลักดันงานความปลอดภัยทางถนน เนื่องจากกระบวนการออกแบบและก่อสร้างถนน เป็นหน้าที่ของกองช่างท้องถิ่นเทศบาล ขณะเดียวกันในด้านการปลูฝังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ถือเป็นบทบาทสำคัญของฝ่ายการศึกษา เช่น ศูนย์พัฒนาเด็ก และโรงเรียน การทำงานแบบมีส่วนร่วมจะช่วยแบ่งเบาภาระ ให้กับตำรวจที่หลายคนมองว่าเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ แต่ด้วยภารกิจและจำนวนที่ไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถดูแล ควบคุมอำนวยความสะดวกจราจรได้ทุกจุด
"คนในชุมชนท้องถิ่นเขาเจอสถานการณ์จนเคยชิน แต่ในความเป็นจริงการขับขี่แต่ละครั้งไม่ใช่วิ่งบนถนนในชุมชนอย่างเดียว ต้องมีการตัดผ่านถนนใหญ่ถนนหลวงด้วย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเสี่ยงอย่างมาก แต่กระบวนการกลไกท้องถิ่นที่มีการเก็บข้อมูล และผลักดันให้ชาวบ้านได้คิดวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยตัวเอง จะทำให้ทุกคนได้ฉุกคิดและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้" หัวหน้า สอจร.ภาคกลาง กล่าว
ชิษณุวัฒน์ ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ทีเปิดให้อำนาจท้องถิ่นมีอำนาจจัดการได้เบ็ดเสร็จ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ และแก้ไขปัญหาได้อย่างใกล้ชิด หรือเรียกว่า “เกาให้ถูกที่คัน” ในบ้านเรามีหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศมากกว่า 7,500 แห่ง หากทุกที่ลุกขึ้นมาสร้างกลไกความปลอดภัยทางถนน อย่างน้อยถ้าลดตายลงได้แห่งละ 1 คน ก็ถือว่าเซฟชีวิตคนได้มาก
ที่ผ่านมาเราจะพบว่าถนนทางหลวง ที่พาดผ่านเข้าไปในชุมชนท้องถิ่น มักจะกลายเป็นจุดเสี่ยง เมื่อเราคุยกับหน่วยงานการรับผิดชอบ เช่น แขวงการทาง พาไปดูจุดเชื่อยมโยงที่ตัดผ่านท้องถิ่น ตัวอย่างที่ถนนพระราม 2 ถนนที่ตัดผ่านชุมชน ไม่ได้ทำทางลอดทางข้ามให้ชาวบ้าน ทำให้ข้ามถนนและกลับรถยาก เมื่อเราเห็นว่ามีสะพานข้ามคลองเยอะและค่อนข้างสูง ชาวบ้านจึงเสนอให้ทำทางลอดในช่องสะพาน เพื่อให้มอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ และรถตู้ลอดได้ ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหาจากเสียงสะท้อนของคนในชุมชนท้องถิ่น
ด้าน ไอ คงสุข เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.หนองผักแว่น จ.ลพบุรี บอกเล่าสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเองว่า ก่อนมีกลไกอำเภอและตำบนท้องถิ่นปลอดภัย การทำงานจะเน้นช่วยเหลือและเผชิญเหตุ เกิดเหตุที่ไหนเข้าช่วยเหลือที่นั่น แต่ยังไม่มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานในเชิงป้องกันอย่างเป็นระบบ กระทั่งใน 2558 เริ่มเข้ามาสู่เครือข่าย สอจร. ประกอบกับมีการจัดตั้งกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการ มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลอุบัติเหตุ จุดเสี่ยง และจัดทำแผนงาน จนสามารถแก้ไขจุดเสี่ยงและปรับพฤติกรรมขับขี่ ของชาวบ้านให้ปลอดภัยได้มากขึ้น
แต่เมื่อถนนดีสิ่งที่ตามมาคือพบพฤติกรรมขับรถเร็ว จากเดิมที่ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อต้องค่อยๆ ขับ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ท้องถิ่นต้องผลักดันอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นเรื่องที่แก้ยากกว่าแก้ไขหรือปรับปรุงถนน
ทั้งนี้ เครือข่าย สอจร. ได้มีบทบาทสำคัญมาก ในการช่วยผลักดันการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ จำนวนรถ การใส่หมวกกันน็อก และพฤติกรรมเสี่ยงของคน จนนำไปสู่การตั้งจุดเฝ้าระวังการสวมหมวกกันน็อก แต่ละหมุ่บ้านพบว่าชาวบ้านไม่ใส่หมวกกันเลย และลามไปถึงความไม่พร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เช่น กระจกมองข้าง พ.ร.บ.รถ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ตรงจุด ก่อนมีกระบวนการและกลไลท้องถิ่น ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใส่หมวกกันน็อก เพราะเขาลืมไปว่าการขับขี่ต้องเข้าสู่ถนนใหญ่ด้วย ไม่ได้ใช้เส้นทางเฉพาะในหมู่บ้านใกล้ๆ เท่านั้น แต่หลังการขับเคลื่อนทำให้ทุกคนเข้าใจ และตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้น
ด้าน นงนุช พินพิพัฒน์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ เทศบาลตำบลปลายนา จ.สุพรรณบุรี ร่วมแบ่งปันในฐานะนักการศึกษา โดยเริ่มต้นผลักดันจากจุดเล็กๆ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เชื่อมโยงไปสู่ผู้ปกครอง และขยายผลต่อไปยังผู้นำชุมชน โดยรูปแบบการทำงานผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือได้ปลูกฝังพฤติกรรมเคารพกฎจราจรและการขับขี่ปลอดภัย ผ่านกลไกผลักดันการสวมหมวกกันน็อก และจัดทำโครงการขายในราคาย่อมเยาว์ ซึ่งทำให้เห็นว่าชาวบ้านยอมเสียเงินแลกกับความปลอดภัย
“ทุกวันนี้เวลาผู้ปกครองขับมอเตอร์ไซค์ มาส่งและรับบุตรหลานที่โรงเรียน ทุกคนต่างใส่หมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัย ทำให้ไม่มีเหตุเกิดขึ้นกับเด็กและผู้ปกครอง” นงนุช กล่าว
ขณะเดียวกันกลไกผลักดันยังได้ขยายไปถึงวัดด้วย หลวงพ่อนำชาวบ้านตัดแต่งต้นไม้ที่บดบังทัศนียภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญนำไปสู่การชน เพราะเคยมีกรณีเด็กนักเรียนข้ามถนนไปหาผู้ปกครอง แต่ไม่มีใครเห็นตัวเด็กเนื่องจากพุ่มไม้บดบัดจนเกิดการเฉียวชน รวมถึงติดตั้งไฟส่องสว่างในจุดมืด หรือแจ้งกองช่างเทศบาลให้เข้าไปแก้ไขปรับปรุง ตอนนี้เหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงมักเกิดกับเป็นคนพื้นที่อื่น