ถ้าจะถามว่าชาติไหนที่คนทำ "ศัลยกรรมเสริมความงาม" มากที่สุดในโลก “บราซิล” ก็ต้องเป็นหนึ่งในนั้นโดยที่อันดับสูงมากแน่ๆ ถ้าเชื่อข้อมูลจาก International Society of Aesthetic Plastic Surgery (ISAPS) ซึ่งถ้าว่ากันตามสถิติของปี 2019 บราซิล คือ อันดับ 1
ถามว่าทำไมมีการทำศัลยกรรมเยอะ แน่นอน ประเทศนี้มีประชากรเยอะ แต่ปัจจัยที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ นี่ไม่ใช่แค่ประเทศที่คน "บ้าความสวย" เท่านั้น แต่เป็นประเทศที่รัฐให้เงินอุดหนุนคนไปทำศัลยกรรมเพื่อ "เสริมความงาม" ปีหนึ่งกว่าครึ่งล้านเคสเป็นปกติ
ใช่ครับ คนบราซิลเอาเงินรัฐไป "ทำหน้า" “ทำนม" และ "ทำตูด" ได้ และนี่เป็น "สวัสดิการ" ที่แม้แต่พวกรัฐสวัสดิการนอร์ดิกยังไม่มีให้ประชาชนตัวเองเลย
ที่บราซิล ‘ความสวย’ เป็น ‘สิทธิ’ ของประชาชน
เราอาจชินกับสังคมทุกวันนี้ที่มีการวิพากษ์ "อภิสิทธิ์ของคนสวย" (Beauty Privileged) กันมากมาย แต่สำหรับบราซิล คนบราซิลยอมรับมานานแล้วว่า คนสวยย่อมมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนไม่สวย แต่เค้ามองว่า "ความสวย" เป็น "สิทธิ" ของประชาชนที่รัฐต้องช่วยสนับสนุน เพราะคนไม่สวยจะเสียโอกาสสารพัดในชีวิต
นั่นเลยทำให้รัฐบาลบราซิลให้เงินสนับสนุนให้ประชาชนในการทำศัลยกรรมมานานแล้ว และเราก็ไม่ต้องไปเทียบกับเกาหลีใต้เลย เพราะรัฐบาลบราซิลนั้นเริ่มมีนโยบายแบบนี้ตั้งแต่เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศยากจนด้วยซ้ำ
เรื่องเริ่มจากในปี 1961 บราซิลเกิดอุบัติเหตุใหญ่ เต็นท์ละครสัตว์ไฟไหม้ลงมาทับคนกว่า 2,500 คน และมีศัลยแพทย์นามว่า Ivo Pitanguy เข้าไปรักษาแผลไฟไหม้ของเหยื่อเหล่านั้น Pitanguy เล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเขา
เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่ารูปลักษณ์ภายนอกของมนุษย์จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีชีวิตที่ดี จึงพยายามไปล็อบบี้กับประธานาธิบดีว่า รัฐควรจะให้ความช่วยเหลือเหยื่ออุบัติเหตุไฟไหม้ให้ไปทำศัลยกรรมให้หน้าตาดูเป็นคนปกติ ซึ่งการต่อสู้ของ Pitanguy ก็ประสบความสำเร็จในที่สุด รัฐเริ่มยอมให้เงินอุดหนุนการทำศัลยกรรมเป็นครั้งแรก
ยุคแรกๆ ยังเป็นพวกศัลยกรรมแก้ไขรูปลักษณ์ที่ "ผิดปกติ" เท่านั้น แต่ต่อมาการขยายนิยามของการ "ผิดปกติ" ให้กว้างขึ้นในแบบที่สังคมอื่นไม่นับแน่ๆ เช่น ปัจจุบัน ถ้าคุณหน้าอกหรือบั้นท้ายเล็กเกินไป หมออาจวินิจฉัยว่าคุณมีความผิดปกติ ซึ่งรัฐของบราซิลก็จะให้เงินอุดหนุนคุณไปทำสวัสดิการแก้ไขอวัยวะส่วนนั้นๆ
รัฐเอาเงินจากไหนมาให้ประชาชนทำศัลยกรรมความงาม
ถามว่ารัฐมีเงินได้ยังไง? บราซิลไม่ใช่ประเทศร่ำรวยมากมายแน่ๆ (คิดง่ายๆ รายได้ต่อหัว ไทยกับบราซิล คือพอๆ กัน และจริงๆ ไทยนำบราซิลมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว) และนี่ก็เลยกลับมาที่หมอ Pitanguy
หลังจากหมอ Pitanguy เกลี้ยกล่อมให้รัฐจ่ายเงินค่าศัลยกรรมให้เหยื่อไฟไหม้สำเร็จ ต่อมาในปี 1963 Pitanguy ก็เปิดคลินิกและโรงเรียนศัลยกรรมชื่อ Clínica Ivo Pitanguy ขึ้นมา โดยมีปรัชญาว่า ‘คนจนก็มีสิทธิ์ที่จะสวย’ และในทางปฏิบัติก็คือ เขาก็มีคลินิกทำศัลยกรรมให้คนจนฟรีๆ ซึ่งนั่นทำให้เหล่า ‘นักเรียนศัลยแพทย์’ ของเขาได้ฝึกฝนการผ่าตัดจริงๆ ไปด้วย โดยตอนแรกก็เน้นทำศัลยกรรมแก้ไขรูปลักษณ์ภายนอกของคนจนที่ผิดรูปเป็นหลัก และทำศัลยกรรมเสริมความงามเสริมบ้าง
แน่นอน บราซิลเป็นประเทศที่บ้าความงามมาช้านาน การเพิ่มปริมาณหมอศัลยกรรมเสริมความงามในประเทศ ก็เลยเป็นการเปิดตลาด และพอมีหมอและมีคนรวยที่พร้อมจะจ่ายเงินทำศัลยกรรม ก็เลยทำให้ตลาดพวกนี้มีขนาดที่ใหญ่มากมาเป็นเวลานาน
แทคติกเพื่อให้ได้เงินจากรัฐไปทำศัลยกรรม
แต่สถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่นอีกจำนวนมาก และก็อย่างที่ว่าบราซิลไม่ได้รวยขนาดนั้น รัฐมันไม่มีทางจะจ่ายเงินค่าศัลยกรรมให้ทุกคนที่อยากทำไหว
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในทางเทคนิค การทำศัลยกรรมเสริมความงามนั้น รัฐบาลบราซิลก็ไม่ได้ให้ทำหรอก แต่สวัสดิการ "ศัลยกรรมแก้ไขความผิดปกติ" มันทำได้ แล้วสิ่งที่คนทำจริงๆ ก็คือ ให้หมอวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติจนต้องทำศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อแก้ไข เช่นแทนที่จะบอกว่า "นมเล็ก" ก็วินิจฉัยไปว่า "ภาวะเนื้อเยื่อต่อมน้ำนมบกพร่อง" อะไรแบบนี้ คือ ทำให้มันเป็นศัพท์ทางการแพทย์หน่อย แต่ปลายทางคือคนไข้ก็ได้ "ทำนม" อยู่ดี
ที่เล่ามานี้จะเห็นว่า จริงๆ มันก็ไม่ได้ง่ายแบบที่ใครอยากทำอะไรก็ทำได้ มันต้องมี "ลูกเล่นทางการวินิจฉัย" นิดหน่อย คนถึงจะเอาเงินภาษีของประชาชนมาทำศัลยกรรมเสริมความงามได้ แต่ประเด็นคือ แค่นี้ก็แปลกแล้วครับ เพราะประเทศอื่นมันทำแบบนี้ไม่ได้
ที่โหดกว่านั้น และทำให้คนบราซิลทำศัลยกรรมกัน ก็คือ การทำ "ศัลยกรรมทดลอง" ซึ่งจำนวนมากคือทำ "ฟรี" หรือไม่ก็มีค่าใช้จ่ายที่น้อยมากๆ (อาจไม่เสียค่าทำศัลยกรรม แต่เสียค่าพักฟื้นอะไรแบบนั้น)
เมื่อมีเงินอุดหนุนจากรัฐเข้ามา แน่นอน อุตสาหกรรมศัลยกรรมในบราซิลก็เติบโตได้ดี เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่พอเงินเข้ามาเยอะ มันก็ต้องมี “การวิจัยและพัฒนา” เพื่อให้ไปต่อได้
'สวยเสี่ยงดวง' วงการพัฒนาเพราะรัฐ ‘เกียร์ว่าง’ ด้านความปลอดภัย
หลายคนน่าจะรู้ว่าจริงๆ เทคนิคการศัลยกรรมจำนวนมหาศาลมาจากบราซิล ซึ่งบางคนอ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจเดาว่า เพราะรัฐให้เงินสนับสนุน มันเลยเกิดการวิจัยและพัฒนา ความจริงคือ ไม่ใช่ เพราะระบบพัฒนาการด้านศัลยกรรมของบราซิลไม่ได้เป็นแบบนั้น
จริงๆ มันพัฒนา เพราะรัฐ "ปล่อยเกียร์ว่าง" ด้านความปลอดภัยต่างหาก คือ ระบบมันเป็นแบบนี้ครับ ทั้งโลกเนี่ย ต้องการเทคนิคการทำศัลยกรรมใหม่ๆ มาบริการคน "อยากสวย" แต่ความยากก็คือ ในประเทศที่รายได้สูงๆ มีเงินจ่ายค่าทำศัลยกรรมแพงๆ ก็มักจะมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงด้วย คือจะไปคิดเทคนิคใหม่ๆ แล้วทดลองกับคนที่นั่นไม่ได้ เพราะเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมาก็โดนปิดคลินิกปิดโรงพยาบาลแน่ๆ
ดังนั้น เทคนิคการทำศัลยกรรมใหม่ๆ เลยต้องถูกพัฒนาในประเทศที่มาตรฐานความปลอดภัยต่ำๆ แต่พร้อมกันนั้นประเทศที่ว่าก็ต้องมีพวกหมอศัลยกรรมที่คอยพัฒนาเทคนิคพวกนี้เยอะด้วย
และใช่ครับ บราซิลคือประเทศเดียวในโลกที่เข้าเงื่อนไขที่ว่านี้ เรื่องราวของหมอ Pitanguy ที่สร้างโรงเรียนหมอเสริมความงามของคนจน และทำให้บราซิลมีหมอศัลยกรรมมากมาย มันมาบรรจบกับความต้องการเทคนิคศัลยกรรมใหม่ๆ ในตลาดโลกแบบนี้นี่เอง
ดังนั้น นี่เลยทำให้บราซิลมีการทำศัลยกรรมชนิดหนึ่งที่จะเรียกว่า "การทำศัลยกรรมแบบทดลอง" ได้ ซึ่งก็คือ สนามให้พวกหมอศัลยกรรมได้ทดลองเทคนิคใหม่ๆ และ "ค่าบริการ" ถ้าไม่อยู่ในระดับ "ต่ำมาก" ก็จะ "ฟรี" เลย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้คนบราซิลจนๆ มีโอกาสทำศัลยกรรมเยอะ คือ ถ้ายอมเป็น "หนูทดลอง" เทคนิคการทำศัลยกรรมใหม่ๆ ก็ไม่ต้องเสียเงิน
แต่ถามว่า "ปลอดภัย" มั้ย คำตอบก็คือ "แล้วแต่ดวง" ข่าวการทำศัลยกรรมแล้วอวัยวะ "เน่า" มีการ "ติดเชื้อ" “เนื้อเยื่อตาย" มีมากมาย แต่เราไม่อ่านหรอกเพราะเราอ่านภาษาโปรตุเกสไม่ออก แต่นี่แหละคือ "ราคา" จริงๆ ของความสวยในบราซิลในกรณีของคนจน ที่อาจ "สวยได้ฟรี" แต่ก็ "มีความเสี่ยง" เช่นกัน
ถ้าไม่อยากเสี่ยงแบบนี้ ก็ต้องพยายามให้หมอวินิจฉัยว่ามี "ความผิดปกติ" แล้วก็ใช้สวัสดิการรัฐ "รักษา" ซึ่งแม้ว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า แต่ก็ปลอดภัยกว่าเช่นกัน และคงต้องตระหนักด้วยเช่นกันว่า คงไม่มีประเทศอื่นใดอีกแล้วที่จะใช้เงินสวัสดิการด้านการแพทย์ไปกับสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งการที่คนบราซิลมีโอกาสได้เงินสวัสดิการทางการแพทย์ของรัฐไปทำศัลยกรรมเสริมความได้ ก็เรียกว่า "โชคดี" แล้ว
อ้างอิง
In Brazil, Beauty Is a Right. Are They On to Something?
In Brazil, patients risk everything for the ‘right to beauty’
Brazil: Plastic Surgery, Covid-19 and Self-Esteem
Beauty procedures from manicures to cosmetic surgery carry risk — and the reward of a better life — podcast