Skip to main content

ปัญหาสะพานลอยและทางม้าลายที่ขาดมาตรฐานด้านความปลอดภัย เมื่อผนวกกับกฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง ถือป็นตัวการใหญ่ที่ก่อให้เกิดอุบัติบนท้องถนน องค์กรภาคประชาชน จึงผนึกกำลังภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้เกิดการแก้ไขเชิงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน

ความปลอดภัยบนท้องถนนถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ยังมีสภาพเป็นสุญญากาศ เห็นได้ชัดจากยอดผู้บาดเจ็บ มีจำนวนนับแสน - เสียชีวิตนับหมื่น นี่เป็นแค่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อ 1 ปี สิ่งนี้ได้ถูกถอดบทเรียนจนเห็นตัวการสำคัญ นั่นคือ สะพานลอย และทางม้าลาย เพราะถูกออกแบบอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้ใช้รถ-ใช้ถนน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องเร่งแก้ให้เป็นรูปธรรม 

เวทีสาธารณะ : ข้อเสนอและแนวทางการผลักดันนโยบายด้านส่งเสริม ความปลอดภัยในการใช้ถนนสำหรับผู้บริโภค ในกรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลจากผลการสำรวจ พบว่า กรุงเทพฯ มีสะพานลอย ทั้งหมด 915 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. 723 แห่ง ที่เหลือ 192 แห่ง เป็นของ กรมทางหลวง แต่ละจุด มีงบประมาณก่อสร้างอย่างต่ำ 2 ล้านบาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษาแต่ละเดือน แต่ส่วนมากมีสภาพไม่ได้มาตรฐานไม่เอื้อต่อการใช้งาน ปัญหาที่พบมีทั้ง สายไฟระโยงระยาง บันไดชันเกินไป มีคนจรจัดมาพักพิง ทำให้บางคนไม่กล้าขึ้นมาใช้เพราะกลัวอันตราย นอกจากนี้ คนที่มีปัญหาสุขภาพคนชรา รวมถึง คนพิการ ไม่สามารถใช้สะพานลอยเพื่อข้ามถนน จึงมีหลายฝ่ายเสนอให้สร้างลิฟต์ แต่สภาพฟุตบาทของกรุงเทพฯ ที่แคบ รวมถึง มีผู้ค้ามาวางแผงขายของ อีกทั้ง ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหานี้  

ส่วน ทางม้าลาย มีปัญหาสารพัด ทั้งสภาพแวดล้อมทางข้ามเป็นจุดอับทางสายตา ทำให้คนใช้รถ-ใช้ถนน มองเห็นกันไม่ถนัด บางจุด "สี" ที่เป็นจุดสังเกต ถูกลบเลือน คนขับรีบเร่ง ขับรถเร็ว เมื่อเห็นคนข้าม ก็เบรกไม่ทัน และพฤติกรรมสังคมก้มหน้า (ดูโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ) แต่สิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ คนข้ามถนนถูกละเมิดสิทธิ์ ทั้งที่มีกฎหมายว่าด้วยการใช้รถใช้ถนนกำกับดูแลอยู่ โดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ต้องหยุดรถทันทีเมื่อมีคนจะข้ามถนน แต่รถบางคันกลับฝ่าฝืน จึงเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวนมาก จากผลสำรวจพบว่า ความสูญเสียจากคนเดินเท้า 1 ใน 4  ถูกรถจักรยานยนต์ชนมากที่สุด ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ทำ "ทางม้าลายอัจฉริยะ" โดยเร่งติดตั้งสัญญาณไฟตรงทางม้าลาย 100% ต้องมีไฟตัวเลขนับถอยหลัง เพื่อส่งสัญญาณให้ คนข้าม และคนขับ รู้ล่วงหน้า อีกข้อเสนอที่น่าสนใจ นั่นคือให้ทำเนินบนถนนก่อนถึงจุดข้ามทางม้าลาย เพื่อสกัดรถให้ชลอความเร็ว ซึ่งประเทศสิงคโปร์ใช้วิธีแบบนี้ได้ผล ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังและเข้มแข็ง

จากปัญหาที่สะท้อนให้เห็นเหล่านี้ จึงนำมาสู่การผนึกกำลังระหว่างองค์กรภาคประชาชน และ กรุงเทพมหานคร ร่วมกันผลักดันนโยบายด้านส่งเสริม ความปลอดภัยในการใช้ถนน โดยเสนอใช้ "มาตรการทางองค์กร" ทั้งจากชุมชน โรงเรียน หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน ด้วยการกำหนดมาตรการคาดโทษหากกระทำผิดทางจราจร จะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ และข้อเสนอสำคัญนั่นคือ การกำหนดกรอบแนวคิดที่ว่า ให้ "พื้นที่" เป็นฐาน โดยมี "ประชาชน" เป็นศูนย์กลาง รวมถึง เสนอแนะ "การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย" ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อให้ก่อให้เกิดเป้าหมายการแก้ไขเชิงนโยบาย พัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน