Skip to main content

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ทำให้เกิดความกังวลว่าน้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 โดยหน่วยงานน้ำที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์สถานการณ์ฝนตก พร้อมระบุมีเพียง 2 สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วม กทม.เท่านั้น  

โอกาส กทม.จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ เพราะในหลายจังหวัดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี จึงสร้างความกังวลว่าพื้นที่ด้านล่างอย่าง กทม.จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่หรือไม่ 

ก่อนหน้านี้ สมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า จากที่วิเคราะห์ปัจจัย ปริมาณน้ำคงจะไม่เกิดหรือเกิดน้อยมาก เพราะปริมาณน้ำตอนบนอยู่ในระดับที่ต่ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ไม่เหมือนปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำเกือบ 100%  ประกอบกับพายุที่เกิดขึ้นเข้ามาทิ้งระยะห่างกว่า 10 วัน จึงระบายน้ำออกไปได้ทัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เหนือจะหลากลงมาท่วม  แต่หากจะมีน้ำท่วมมีปัจจัยมาจาก 2 สาเหตุคือ น้ำฝนที่ตกลงมามากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวันและระดับน้ำทะเลหนุนสูงเท่านั้น

สำหรับพื้นที่เปราะบางในเขตกรุงเทพมหานคร กอนช.ได้กำหนดมาตการเตรียมการป้องกันผลกระทบน้ำท่วม โดยได้บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจุดรอยต่อ และจุดเสี่ยงได้รับผลกระทบต่าง ๆ เพื่อทำงานเชิงป้องกันล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ให้เป็นไปตามมติ ครม. เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย เนื่องจากระบบระบายน้ำสามารถรองรับฝนตกได้เพียง 100 - 120 มม.ต่อวัน หากฝนตกมากกว่านี้ จะเกิดน้ำนองท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ต้องเร่งสูบระบายน้ำ 

ปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,121 เครื่อง มีศักยภาพสามารถระบายน้ำได้ 807 ลบ.ม./วินาที  ประกอบด้วย 5 แนวทางหลัก คือ 1. ปรับปรุงเพิ่มระบบระบายน้ำเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำ (แก้มลิง) การเพิ่มประสิทธิภาพท่อระบายน้ำ รวมถึงการใช้ระบบตรวจวัดข้อมูลอัตโนมัติเพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ

2. การล้างท่อระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลอง และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำ และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ 

3. การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหากมีเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จะมีหน่วยงานเร่งด่วนที่สามารถเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที

4. การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นศูนย์กลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหา

5. การจัดทำแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างเกินศักยภาพระบบระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในช่วงฤดูฝนนี้

กอนช.ย้ำปริมาณน้ำปี 2564 น้อยกว่าปี 2554 ฝนพันปี กทม.เกิดยาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานการติดตามและประเมินสภาพภูมิอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่า สถานการณ์ภาพรวมช่วงฤดูฝน ปี 2564 สภาพอากาศมีลักษณะคล้ายคลึงกับปี 2551 โดยช่วงต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม จะมีปริมาณฝนน้อยเสี่ยงเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ และจะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน - ตุลาคม เสี่ยงเกิดอุทกภัยบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนช่วงปลายปีเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม จะเกิดฝนตกหนักเสี่ยงเกิดน้ำท่วมบริเวณภาคใต้ สำหรับปริมาณฝนปี 2551 นั้นมีค่าน้อยกว่า ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน

ขณะที่การคาดการณ์ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปรากฏการณ์ “เอนโซ” อยู่ในสภาวะปกติต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม จากนั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นปรากฏการณ์ ”ลานีญา” สภาวะอ่อนๆ ช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งมีผลให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณภาคใต้ และจากการคาดการณ์ฝน ONE MAP ช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม มีค่าฝนเฉลี่ยมากสุดในเดือนกันยายน ปริมาณ 260 มิลลิเมตร เท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่ กทม.จะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก รอบ 1,000 ปี หรือเกิน 350 มิลลิเมตรต่อวัน จึงมีความน่าจะเป็นน้อยมาก