Skip to main content

ก่อนเริ่มบทความผมขออนุญาตถามผู้อ่านก่อนว่า ถ้าท่านได้รับวัคซีนภาคบังคับแล้วเกิดผลแทรกซ้อนขึ้นมา ท่านจึงไปเรียกร้องสิทธิกับภาครัฐเพื่อได้รับการเยียวยา เนื่องจากมีสิทธิตามที่ภาครัฐประกาศ ท่านได้ยื่นเรื่องไปตามช่องทางปกติ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอาจต้องใช้เวลากว่า 2 เดือนในการพิจารณา อย่างไรก็ตามปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นมีดาราที่ได้รับความเสียหายจากวัคซีนเช่นกัน ได้เขียนวิจารณ์การทำงานของภาครัฐเรื่องเยียวยา จนภาครัฐต้องรีบเข้าไปจัดการเคสกรณีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยลัดคิวท่านที่มาก่อน ท่านรู้สึกว่ามันยุติธรรมต่อท่านหรือไม่?

ขอให้ท่านเก็บคำตอบไว้ในใจก่อนนะครับ หลังจากจบบทความนี้แล้วขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาอีกที 

 

การเยียวยาทางการแพทย์

บริการสุขภาพเป็นสิ่งที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ มันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ ถึงแม้ว่าการรักษาแบบเดียวกันได้ผลกับคนอื่นก็อาจจะไม่ได้ผลกับอีกหลายๆ คน ซ้ำร้ายอาจจะเกิดความเสียหายเกิดขึ้นมาอีก และการสูญเสียจากอาการไม่พึงประสงค์ของการรักษาส่วนใหญ่แล้วเป็นความเสียหายที่ย้อนกลับคืนมาไม่ได้ เช่น เมื่อเกิดความพิการแล้วในอวัยวะบางส่วน ก็กลับมาใช้การอีกไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ความเสียหายจากอาการไม่พึงประสงค์ของการรักษา อาจมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ให้บริการ หรือความสามารถการรักษาของผู้ให้บริการไม่ถึงมาตรฐานได้อีกด้วย 

ดังนั้นระบบการเยียวยาทางการแพทย์จึงถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ 3 ประการได้แก่

• เพื่อให้ผู้เสียหายจากการแพทย์ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว และสมเหตุสมผล
• กระตุ้นให้ผู้ให้บริการมีความระมัดระวัง และพัฒนาคุณภาพการรักษา
• ไม่บีบบังคับผู้ให้บริการมากเกินไปจนเกิดความหวาดกลัวในการให้บริการแก่คนไข้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้-ผู้รับบริการ

ซึ่งจุดประสงค์ทั้งสามข้อนั้นต้องสมดุลกันไม่หนักไปข้อใดข้อหนึ่งมากเกินไป เช่น ถ้าระบบการเยียวยาให้ความสำคัญกับผู้เสียหายมากเกินไป เช่น ค่าปรับที่แพทย์ต้องจ่ายสูงมหาศาลจนถ้ามีการผิดพลาดครั้งเดียวก็ล้มละลายได้ ผลที่ตามมาคือ ระบบไม่อำนวยให้แพทย์อยากรักษาคนไข้ จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แย่ลงระหว่างแพทย์-คนไข้ หรือเนื่องจากแพทย์กลัวความรับผิดมากจึงสั่งจ่ายการตรวจราคาแพงทุกชนิด (ทั้งที่ไม่จำเป็น) เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานป้องกันตนเอง ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษามหาศาล  

 

การรับผิดทางการแพทย์

การรับผิดทางการแพทย์โดยปกติจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1.ผู้เสียหายและความเสียหาย 2.ผู้กระทำผิด และการกระทำผิด 3.ความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำผิดและความเสียหาย ดังนั้นกระบวนการจะสมบูรณ์จนนำไปสู่การเยียวยาได้ก็ต่อเมื่อ แพทย์ทำการรักษา และการรักษานั้นมีความผิด โดยถ้าเป็นการผิดอย่างตั้งใจก็จะมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาที่สูงกว่า กรณีที่การกระทำผิดดังกล่าวเป็นเรื่องประมาทเลินเล่อ ซึ่งการรักษาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้รับการรักษาชัดเจน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีการสอบสวนพิจารณาเรื่องเจตนาของแพทย์ การรักษาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวมีความรุนแรงขนาดใด 
    
คำถามที่ตามมาคือ แล้วถ้าองค์ประกอบมันไม่ครบ 3 ประการแต่มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว จะมีการเยียวยาเกิดขึ้นหรือไม่? คำตอบก็คือ "ไม่" เช่น แพทย์ให้การรักษาคุณภาพมาตรฐาน และไม่มีการตั้งใจหรือประมาทเลินเล่อใดๆ แต่โชคร้ายและความเสียหายเกิดขึ้นกับคนไข้เนื่องจากความไม่แน่นอนของการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยก็ฟาดเคราะห์ไป

อย่างไรก็ตามถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีความร้ายแรงมหาศาล เช่น การพิการตลอดชีวิตและสร้างความลำบากแก่ผู้ป่วยอย่างร้ายแรง สังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันก็ไม่ควรปล่อยให้เพื่อนมนุษย์รับความทุกข์ยากโดยไม่เข้าช่วยเหลือ หลักการเรื่อง 'การรับผิดโดยปราศจากความผิด' จึงถูกออกแบบขึ้นมา 
    
การรับผิดโดยปราศจากความผิดมีเพื่อเยียวยา กรณีความเสียหายเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ใดก่อความผิดขึ้นมา และมีการใช้ในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทยด้วย อย่างไรก็ตามการเยียวยาดังกล่าวก็ไม่ครอบคลุมความเสียหายในทุกกรณี เนื่องจากการรักษาการแพทย์มีความไม่แน่นอนสูง ถ้าผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยหลายๆเคสต่างเข้ามาร้องเรียนแล้ว ย่อมส่งผลให้ระบบการรับเรื่องและพิจารณาเกิดความล่าช้า อีกทั้งต้องหาเงินทุนในการเยียวยามหาศาล กระบวนการดังกล่าวจึงครอบคลุมเฉพาะมีความเสียหายจากการรักษาอย่างร้ายแรงเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่านิยามระดับความเสียหายร้ายแรงเป็นแบบใด เช่น กรณีฝรั่งเศสกำหนดให้ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถการทำงานร้อยละ 25 อย่างถาวรจากการรักษาพยาบาลที่ปราศจากความผิดสามารถรับการเยียวยาจากรัฐได้ 

 

การรับผิดโดยปราศจากความผิดก็ต้องมีการพิสูจน์     

กระบวนการรับผิดโดยปราศจากความผิดไม่ใช่ระบบที่ไม่ต้องการพิสูจน์ตรวจสอบ การที่ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยานั้น ทางหน่วยงานก็ต้องเข้าไปตรวจสอบด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ตรวจสอบว่าไม่มีผู้กระทำผิด ความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากการรักษาพยาบาล และระดับความเสียหายรุนแรงตามกำหนดเงื่อนไขเยียวยา 

กรณีที่ไม่ต้องพิสูจน์ตรวจสอบใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นปรากฏเห็นเป็นแน่ชัดว่ามีความเชื่อมโยงกัน เช่น การฉีดวัคซีนแล้วผู้ได้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทันทีทันใด และวิญญูชนทั่วไปอนุมานได้ว่าเป็นผลมาจากวัคซีนแน่แท้ 

 

วัคซีนโควิด-19 และการเยียวยา 

โดยปกติแล้วถ้าเป็นการฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ ถ้าเกิดมีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเกิดขึ้นกับผู้ได้รับ ก็ต้องมีการตรวจสอบพิจารณา ถ้าผู้ฉีดวัคซีนให้บริการได้มาตรฐานและไม่ประมาทเลินเล่อย่อมไม่มีความผิดใดๆ แต่กระบวนการก็เปิดช่องทางให้เรียกร้องความเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีนได้ เนื่องจากเพื่อเป็นการป้องกันในอนาคตว่า ผู้ผลิตจะไม่ผลิตวัคซีนที่เป็นอันตรายหรือไม่ได้มาตรฐานผ่านการทดลองในมนุษย์ก่อนที่จะนำมาขายในท้องตลาด เพื่อป้องกันว่าประชาชนทั่วไปจะไม่กลายเป็นหนูทดลองให้กับบริษัทผลิตวัคซีน 

ส่วนกรณีวัคซีนภาคบังคับอย่างวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนทุกคนต้องเข้ารับอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในกรณีฝรั่งเศสได้นำเรื่องการรับผิดโดยปราศจากความผิดมาใช้ กล่าวคือถ้าเป็นวัคซีนภาคบังคับและเกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ก็จะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้เยียวยาให้ เช่นเดียวกับกรณีของไทยที่มี สปสช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 

 

การรอคือหัวใจหลักของการอยู่ร่วมกัน 

การเยียวยาความเสียหายจากวัคซีนโควิด-19 ก็มีกระบวนการเอกสารและพิจารณาตามขั้นตอนเช่นเดียวกัน ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ต้องมีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความเสียหายและการฉีดวัคซีน และพิจารณาความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์ก่อนซึ่งล้วนแล้วต้องใช้เวลา อนึ่งควรต้องแยกระหว่างการเยียวยาและการรักษาเพิ่มเติมเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์ การเยียวยาเป็นการชดเชยความเสียหายด้วยเงิน ซึ่งไม่ใช่การรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ การเยียวยาจึงอนุญาตให้มีเวลาในการรอพิจารณาได้ 
    
แน่นอนว่าเวลามีค่าเสมอ ผู้เสียหายย่อมต้องการได้รับการเยียวยายิ่งเร็วมากเท่าไรยิ่งดี ระบบการพิจารณาเอกสารเพื่ออนุมัติการเยียวยาจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อประชาชน 

แต่ขณะเดียวกันความเห็นอกเห็นใจผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าก็สำคัญเช่นกัน เป็นเรื่องปกติที่ต่อให้ระบบบริการและพิจารณาเอกสารมีประสิทธิภาพรวดเร็วเพียงใด มันก็ย่อมเกิดการล่าช้าได้เสมอถ้าปรากฏว่ามีผู้ยื่นเอกสารขอรับการเยียวยาจำนวนมหาศาล 

การรอจึงเป็นหัวใจสำคัญของรัฐสวัสดิการ เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รวมกันในสังคม เพราะมันสะท้อนว่า คนทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกัน เป็นพลเมืองเหมือนกัน การจัดการจึงเป็นแบบลำดับก่อนหลังใครมาก่อนได้ก่อน หาใช่มีการใช้อภิสิทธิ์ส่วนบุคคลเพื่อลัดคิวคนอื่น การที่ใครลัดคิวได้ไปก่อนหนึ่งคน ย่อมหมายถึงจำนวนคนมากมายที่อยู่ก่อนหน้าเขาก็ได้รับความไม่ยุติธรรม