Skip to main content

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่าการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในไทยและอินโดนีเซีย อาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นอีกครั้งด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังต่ำ แนะเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชน

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า แม้เมื่อปีที่แล้วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลก แต่การมาถึงของเชื้อสายพันธุ์เดลตาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลก และถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้ยังคงเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่อินโดนีเซียและไทยซึ่งเป็นสองประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาคก็ได้เริ่มคลายมาตรการควบคุมการนั่งกินอาหารในร้านและเปิดศูนย์การค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,534 ราย น้อยลง 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงพีคของการระบาดเมื่อกลางเดือนก.ค. ส่วนไทยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ลดลงร้อยละ 37 จากจุดพีคกลางเดือน ส.ค.

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมมีความเสี่ยงจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำและการตรวจหาเชื้อได้น้อย โดยอัตรการพบผู้ติดเชื้อยังมักสูงกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนที่ตรวจ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกในการปรับมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคม

'อภิเสก ไรมาล' ผู้ประสานงานด้านสุขภาพฉุกเฉินภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของสหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศเผยกับรอยเตอร์สว่า มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคลายมาตรการควบคุมของทั้งสองประเทศ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เสนอโดยองค์การอนามัยโลก ตอนนี้มีการระบาดของไวรัสเดลตาที่แพร่เชื้อได้สูงและมีอัตราฉีดวัคซีนต่ำ นี่อาจทำให้เห็นยอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลังจากนี้

ขณะที่ 'เดล ฟิชเชอร์' ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการคลายล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ย้ำกว่าแต่ละประเทศจะต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรของตัวเองเร็วกว่านี้

ทั้งนี้ รอยเตอร์สระบุว่าอินโดนีเซียมีอัตราการพบผลตรวจเป็นบวกร้อยละ 12 ส่วนไทยอยู่ที่ร้อยละ 34 โดยนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ล่าสุด อินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดกว่า 4 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 133,000 ราย ขณะที่ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.2 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 12,009 ราย อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกของทั้งสองประเทศอยู่ที่ราวร้อยละ 30 ของประชากร อินโดนีเซียมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครอบโดสแล้วร้อยละ 17 ส่วนไทยอยู่ที่ร้อยละ 11

อ้างอิง : Warnings as Southeast Asia's biggest economies ease COVID-19 curbs