- ออสเตรเลียออกกฎหมายให้เฟซบุ๊กจ่ายเงินให้สำนักข่าว
- เฟซบุ๊กตัดสินใจบล็อกการนำเสนอข่าวของสำนักข่าว
- เฟซบุ๊กระบุ ช่วยสร้างรายได้ให้สำนักข่าวออสเตรเลียกว่า 407 ล้านเหรียญต่อปี
- รัฐบาลออสเตรเลียถูกวิจารณ์ว่า ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างเฟซบุ๊กและสำนักข่าว
เฟซบุ๊กบล็อกไม่ให้ผู้ใช้ในออสเตรเลียแชร์หรือเปิดอ่านเนื้อหาข่าวได้ ทั้งจากเว็บไซต์ของสำนักข่าวท้องถิ่นรวมถึงสำนักข่าวระดับโลก รวมถึงเพจสาธารณสุขของรัฐบาล กรมตำรวจ หน่วยงานเหตุฉุกเฉิน มูลนิธิ นักการเมืองและอีกหลายเพจ นอกจากนี้ ผู้ใช้ที่ไม่ได้อยู่ที่ออสเตรเลียก็ไม่สามารถอ่านหรือเข้าถึงข่าวจากออสเตรเลียผ่านเฟซุบ๊กได้เช่นกัน หลังจากรัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมายให้เฟซบุ๊กจ่ายเงินแก่สำนักข่าว
สำนักข่าวต่างๆ ในออสเตรเลียเองก็ไม่สามารถแชร์หรือโพสต์ลิงก์ใดๆ ลงบนเพจเฟซบุ๊กของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น เอบีซี สำนักข่าวแห่งชาติ, เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ และดิออสเตรเลียน ซึ่งมีผู้ติดตามเพจอยู่หลายล้านคน
การบล็อกเพจและเว็บไซต์ข่าวทำให้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าเฟซบุ๊กกีดกันไม่ให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลสำคัญ ด้านรัฐบาลออสเตรเลียได้กล่าวว่า การแบนแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญครั้งนี้ได้ทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” ของเฟซบุ๊ก
ขณะที่ 'อีเลน เพียร์สัน' ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำออสเตรเลียประณามว่า “การตัดการเข้าถึงข้อมูลสำคัญของทั้งประเทศในช่วงกลางดึกถือว่าไร้สามัญสำนึก” และการที่เฟซบุ๊กเซนเซอร์ข้อมูลในออสเตรเลีย ถือเป็นการพลิกสถานการณ์ไปในทิศทางที่อันตราย
::: ก.ม.ออสเตรเลียคุ้มครองสื่อ สั่งแพลตฟอร์มออนไลน์จ่ายค่าข่าว :::
การบล็อกข่าวในออสเตรเลียเกิดขึ้นหลังจากที่สภาล่างของออสเตรเลียรับรองกฎหมายให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ ต้องจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาข่าวเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงเฟซบุ๊กและกูเกิลโต้แย้งว่ากฎหมายดังกล่าวไม่สะท้อนวิธีการทำงานของอินเทอร์เน็ต และเป็นการ “ลงโทษ” พวกเขาอย่างไม่ยุติธรรม
พอล เฟลตเชอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารของออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีว่า “เฟซบุ๊กจำเป็นต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่านี่จะส่งผลต่อชื่อเสียงและจุดยืนของตัวเองอย่างไร”
ก่อนหน้านี้ กูเกิลเพิ่งตกลงที่จะจ่ายเงินให้กับบริษัทนิวส์คอร์ปของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก เจ้าพ่อด้านสื่อ เพื่อให้กูเกิลมีเนื้อหาจากเว็บไซต์ข่าวทั้งหมดของเครือนิวส์คอร์ป
::: เฟซบุ๊กถาม ทำไมต้องจ่ายค่าข่าว ในเมื่อเปิดพื้นที่ให้สื่อใช้ฟรี :::
เฟซบุ๊กได้ชี้แจงว่า กฎหมายนี้ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับ “ทางเลือกที่ตายตัว: พยายามทำตามกฎหมายที่ละเลยความจริงของความสัมพันธ์ [ระหว่างบริษัทเทคโนโลยีกับสำนักข่าว] หรือยุติเนื้อหาข่าวบนบริการของเราในออสเตรเลีย ด้วยความหนักใจ เราเลือกอย่างหลัง”
เฟซบุ๊กระบุว่า ได้ช่วยให้สำนักข่าวในออสเตรเลียสร้างรายได้ประมาณ 407 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 9,460 ล้านบาท) เมื่อปี 2563 ผ่านการส่งต่อผู้อ่านไปยังเว็บไซต์ข่าว แต่เฟซบุ๊กเองได้ประโยชน์จากข่าวน้อยมาก
วิลเลียม อีสตัน กรรมการผู้จัดการเฟซบุ๊กในออสเตรเลียกล่าวว่า กฎหมายนี้ “ลงโทษเฟซบุ๊กด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้ไปเอามาหรือร้องขอให้มา”