Skip to main content

'เมตา' ขู่ว่าจะถอดเนื้อหาข่าวออกจากเฟซบุ๊กหากรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่าน กม. ยินยอมให้องค์กรสื่อเจรจาต่อรองกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ง่ายขึ้น หลังปีที่แล้ว (64) เฟซบุ๊ก เคยห้ามผู้ใช้ออสเตรเลียค้นหาข่าวอ่าน เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียผ่านร่าง กม. ให้บริษัทสื่อออนไลน์ต้องจ่ายค่าโพสต์เนื้อหาข่าวจากสื่อต่างๆ บนแพลตฟอร์มของตน

บริษัท เมตา แพลตฟอร์มส (Meta Platforms Inc) เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก (Facebook) ขู่ว่า อาจถอดเนื้อหาข่าวออกจากเฟซบุ๊กหากว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายที่ยินยอมให้บรรดาองค์กรสื่อสามารถเจรจาต่อรองกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เช่น กูเกิล (Google) และเฟซบุ๊ก ได้ง่ายขึ้น

โดยแหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มร่างกฎหมายที่ชื่อว่า Journalism Competition and Preservation Act รวมเข้าไปในงบประมาณประจำปีด้านกลาโหม เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสื่อในอเมริกาที่กำลังประสบปัญหา

ด้านแอนดี สโตน โฆษกของเมตา ทวีตข้อความว่า เมตาอาจต้องตัดสินใจถอดเนื้อหาข่าวออกไปจากเฟซบุ๊กหากกฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภา แทนที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองที่ไม่ยุติธรรมเมื่อพิจารณาว่าเราได้จัดหาช่องทางสำหรับสื่อต่างๆ ผ่านจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น และยังเสริมด้วยว่า ข้อเสนอนี้มิได้อยู่บนพื้นฐานที่ว่า บรรดาองค์กรสื่อต่างๆ เผยแพร่เนื้อหาของพวกเขาลงในแพลตฟอร์มของเราเพราะพวกเขาได้ประโยชน์จากเรื่องนี้

องค์กร News Media Alliance ซึ่งเป็นตัวแทนของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ พยายามเร่งเร้าให้รัฐสภาสหรัฐฯ เพิ่มร่างกฎหมายนี้ไว้ในงบประมาณด้านกลาโหมฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่า "สื่อสิ่งพิมพ์ในสหรัฐฯ ไม่สามารถอดทนให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ใช้และละเมิดพวกตนอีกต่อไปอีกหลายปี และเวลาที่ต้องทำอะไรสักอย่างกำลังกระชั้นเข้ามา ซึ่งหากรัฐสภาสหรัฐฯ ไม่ทำอะไร ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเหมือนกับบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกัน"

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ธ.ค.) องค์กรประชาสังคมหลายสิบแห่ง รวมถึง American Civil Liberties Union, Public Knowledge และ the Computer & Communications Industry Association ได้ออกมาขอให้สภาคองเกรสไม่อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวเพราะจะเป็นการสร้างข้อยกเว้นในการต่อต้านการผูกขาดสำหรับองค์กรสื่อต่างๆ

เฟซบุ๊ก ห้ามผู้ใช้งานในออสเตรเลียแชร์-หาข่าวอ่าน หลังรัฐบาลเดินหน้าผ่าน กม.ใหม่

ทั้งนี้ เมื่อ มี.ค. ปีที่แล้ว (64) รัฐสภาออสเตรเลียผ่านกฎหมายลักษณะคล้ายกัน เรียกว่า News Media Bargaining Code ซึ่งรายงานของรัฐบาลระบุว่า นับตั้งแต่กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ บริษัทสื่อสังคมออนไลน์หลายแห่ง รวมทั้ง เมตา และอัลฟาเบ็ท ต้องยอมลงนามในข้อตกลงกับบริษัทสื่อต่าง ๆ มากกว่า 30 ฉบับ ซึ่งนำไปสู่การจ่ายเงินชดเชยสำหรับเนื้อหาข่าวของบริษัทเหล่านั้นตามความเหมาะสม

โดยเฟซบุ๊ก สั่งห้ามผู้ใช้งานแอปฯ ของตนในออสเตรเลียแชร์หรือหาข่าวใดๆ หลังรัฐบาลแคนเบอร์ราเดินหน้าผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่จะบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีควักกระเป๋าจ่ายค่าโพสต์เนื้อหาข่าวจากสื่อต่างๆ บนแพลตฟอร์มของตน

รายงานข่าวระบุว่า แผนงานล่าสุดของเฟซบุ๊กเป็นเหมือน “ลูกระเบิด” ลงออสเตรเลีย ขณะที่ รัฐบาลแคนเบอร์รา ยืนยันว่าจะเดินหน้าผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยรัฐมนตรีหลายรายออกมาให้ความเห็นว่า คำสั่งห้ามผู้ใช้งานในออสเตรเลียนี้ แสดงให้เห็นถึง “อำนาจทางการตลาดอันมหาศาลของยักษ์ใหญ่ธุรกิจสื่อสังคมดิจิทัลเหล่านี้”

ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในออสเตรเลียราว 17 ล้านคน

ล่าสุด ร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียไปแล้ว และคาดว่าจะได้รับการรับรองขั้นสุดท้ายโดยวุฒิสภาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกที่บังคับให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊ก และ กูเกิล ให้ต้องจ่ายค่าใช้งานเนื้อหาข่าว

ขณะเดียวกัน พอล เฟล็ทเชอร์ รัฐมนตรีการสื่อสารออสเตรเลีย ออกมาวิจารณ์ท่าทีของเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำแห่งนี้ต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่า คำสั่งห้ามล่าสุดจะส่งผลอย่างไรต่อชื่อเสียงและจุดยืนของตน เพราะแผนการล่าสุดนี้เหมือนการประกาศว่า แพลตฟอร์มของตนไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลจากองค์กรที่จ้างงานผู้สื่อข่าว และว่า ข้อมูลใดๆ จากเว็บไซต์ของตนไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การเร่งผ่านกฎหมายดังกล่าวของออสเตรเลีย เป็นประเด็นที่หลายประเทศ เช่น แคนาดา และสหภาพยุโรป กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด บางประเทศได้เริ่มดำเนินการกดดันบริษัทเทคโนโลยีในเรื่องนี้บ้างแล้ว เช่น ฝรั่งเศส

เฟซบุ๊ก กล่าวว่า กฎหมายนี้ คือ “ความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐาน” เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวบริษัทและสำนักพิมพ์-สำนักข่าวต่างๆ ขณะที่ บริษัทเทคโนโลลียักษ์ใหญ่ เช่น กูเกิล แย้งด้วยว่า การใช้เนื้อหาข่าวสารจากสำนักต่างๆ กลับจะช่วยดึงผู้ใช้งานไปยังเว็บไซต์ของแต่ละแห่งและช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทสื่อต่างๆ ด้วย

ในช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สื่อและสำนักข่าวทั่วโลกร้องเรียนมาเสมอว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตทั้งหลายร่ำรวยขึ้นจากการทำงานของพวกตน พร้อมขายโฆษณาที่ติดมากับรายงานข่าวของสำนักสื่อหลายแห่งโดยไม่มีการแบ่งปันรายได้ให้เลย

จอช ไฟรเดนเบิร์ก นายธนารักษ์แห่งกรมธนารักษ์ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กูเกิล คุมรายได้จากการลงโฆษณาออนไลน์ถึง 53% ในออสเตรเลีย ส่วนเฟซบุ๊กนั้น คุมรายได้สัดส่วน 23% อยู่

ก่อนหน้านี้ กูเกิล ขู่ว่าจะถอนการให้บริการของตนในออสเตรเลีย หากรัฐบาลไม่ยกเลิกแผนผ่านร่างกฎหมายนี้ ที่จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการรับหน้าที่ตัดสินใจเรื่องการคิดราคาค่าใช้ข่าวต่อไป
 

ที่มา :

- Resuters

- VOAthai