Skip to main content

เว็บไซต์การเดินทางระหว่างประเทศ Travel Ban และ World Travel Guide ให้ข้อมูลอัฟกานิสถานว่าเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง (high risk) แม้ชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในเมืองหลวงอย่างกรุงคาบูลจะค่อนข้างสงบ และต่างจากภาพข่าวที่รายงานผ่านสื่อระหว่างประเทศ อีกทั้งรัฐบาลอัฟกานิสถานมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่สงบและการสู้รบด้วยกำลังอาวุธเกิดขึ้นเป็นประจำ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

ทั้งสองแหล่งข้อมูลย้ำว่า ชาวต่างชาติไม่ควรเดินทางในอัฟกานิสถานเพียงลำพัง แต่ต้องมีคนท้องถิ่นอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไกด์หรือผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย รวมถึงต้องพิจารณาประกันการเดินทางให้ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงคาบูล เมืองปันชีร์ และนันการ์ฮาร์ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.เป็นต้นมา โดยมีคำสั่งห้ามออกนอกที่พักอาศัยตั้งแต่เวลา 22:00 น. จนถึง 04:00 น. ของวันถัดไป

ส่วนกิจกรรมสาธารณะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การแสดงดนตรี บาร์ โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ หรือโรงยิม ถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และร้านอาหารกับร้านค้ายังสามารถเปิดให้บริการได้อยู่ 

https://live.staticflickr.com/8087/8528563546_d601010107_b.jpg

จีนเตือนพลเมืองตัวเอง "รีบออกจากอัฟกานิสถาน" 

ที่ผ่านมา ประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศพันธมิตรกองกำลังนาโต ต่างแจ้งเตือนพลเมืองของตัวเองให้หลีกเลี่ยงเดินทางไปอัฟกานิสถาน เพราะมีความเสี่ยงจะเจอกับโรคโควิด-19 แพร่ระบาด, อาชญากรรม, การก่อการร้าย, เหตุการณ์ไม่สงบ, การลักพาตัว และความขัดแย้งของกลุ่มติดอาวุธที่นำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บ

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ประกาศยุติภารกิจทางทหารในอัฟกานิสถาน ที่กินเวลาต่อเนื่องมานานเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ย.2544 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและอิรัก เพื่อตามล่าตัวโอซามา บินลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ที่อยู่เบื้องหลังการวินาศกรรม 9/11 และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ขีดเส้นตายถอนกำลังเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันทุกหน่วยออกจากอัฟกานิสถานภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากเริ่มทยอยถอนกำลังมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

แม้แต่รัฐบาลจีนเองก็ออกคำสั่งให้พลเมืองจีนที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถานรีบเดินทางกลับประเทศ แม้จะมีข่าวเมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า 'หวังอี้' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน เพิ่งให้การต้อนรับมุลเลาะห์ 'อับดุล กานี บาราเดร์' ผู้นำกองกำลังตอลิบัน คู่ขัดแย้งของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ที่เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลจีนเตือนคนจีนว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถานอยู่ในภาวะถดถอย ถ้าพลเมืองจีนยังอยู่ในอัฟกานิสถานจะเผชิญอันตรายได้

ส่วนเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวถึงอัฟกานิสถานว่า "กำลังฟื้นฟูประเทศจากภาวะสงคราม หลังผ่านสงครามยาวนานกว่า 30 ปี - ประสบปัญหาการก่อการร้าย กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น การปลูกฝิ่นและยาเสพติด - ดำเนินนโยบายใกล้ชิดสหรัฐฯ อินเดีย และชาติตะวันตก อาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในการพัฒนาประเทศเป็นหลัก" แต่ไม่ระบุคำเตือนเรื่องการเดินทาง

https://live.staticflickr.com/1019/4598169027_4b2a66c4bd_b.jpg

รอดชีวิตจากการลักพาตัวของกลุ่มก่อการร้าย แต่ "ถูกสังคมประณาม" 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Travel Guide ระบุด้วยว่า อัฟกานิสถานเคยเป็นปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันตกช่วงยุค 1960 ก่อนจะกลายเป็นประเทศที่ติดกลุ่มความเสี่ยงสูงเพราะกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ก่อเหตุสู้รบกับรัฐบาลที่ได้รับความสนับสนุนจากกองทัพต่างประเทศ และกลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังอ้างศาสนาอีกหลายกลุ่ม

เหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วอัฟกานิสถาน นำไปสู่การลักพาตัวและก่ออาชญากรรมที่พุ่งเป้าไปยังชาวต่างชาติที่เข้าไปในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แพทย์ รวมถึงผู้สื่อข่าว และมีชาวต่างชาติถูกลักพาตัวไปหลายราย แต่ละรัฐบาลก็ใช้วิธีช่วยเหลือแตกต่างกันไป ทั้งการเจรจาจ่ายเงินค่าไถ่เพื่อขอปล่อยตัว โดยมีทั้งกรณีที่ประสบความสำเร็จ และกรณีที่ผู้ถูกลักพาตัวถูกสังหาร

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีสื่ออิสระชาวญี่ปุ่น 'โคสุเกะ สึเนะโอกะ' ถูกลักพาตัวในอัฟกานิสถาน และหลังจากถูกคุมตัวนานหลายเดือน ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เจรจาขอปล่อยตัวเขาได้สำเร็จในเดือน ก.ย.2553 แต่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นและสึเนะโอกะถูกสังคมญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีการตั้งคำถามถึงเงินที่นำไปจ่ายค่าไถ่ รวมถึงมีผู้ไม่พอใจที่สึเนะโอกะไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงต่างแดน ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกมายืนยันว่าไม่ได้จ่ายค่าไถ่ และผู้ที่จับตัวเขาไปคือทหารนอกแถวของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ไม่ใช่ฝีมือกลุ่มตอลิบัน

ส่วนอีกกรณีเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวญี่ปุ่นและนักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นซึ่งถูกลักพาตัวขณะไปปฏิบัติหน้าที่ในอิรักและซีเรีย แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นจนกลับถึงประเทศได้โดยปลอดภัย แต่ก็ถูกสังคมประณามอย่างหนักว่าทำตัวประมาทเลินเล่อและไร้ความรับผิดชอบจนเป็นภาระแก่ส่วนรวม 

https://live.staticflickr.com/5098/5506892802_6d12ff6978_b.jpg