Skip to main content

บีบีซี รายงานว่า มีสถานทูตของอัฟกานิสถานราว 70 แห่ง กำลังพยายามอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่ได้รับเงินสนับสนุนโดยตรงจากรุงคาบูล หลังจากการเข้ายึดอำนาจของกลุ่มตอลิบาน 

ฟาริด มามุนด์เซย์ (Farid Mamundzay) เอกอัครราชทูตอัฟกานิสถาน ประจำอินเดีย เล่าว่า ตั้งแต่กลุ่มตอลิบานเข้ายึดอำนาจประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เมื่อราว 10 เดือนก่อน ทำให้สถานการณ์ด้านการเงินของสถานทูตอัฟกานิสถานแย่ลง รายรับลดลง 80% รายได้ที่มีตอนนี้คือ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ทั้งที่แต่ก่อนมีเที่ยวบินจากเดลีไปคาบูลสัปดาห์ละ 10-15 เที่ยว อีกทั้งยังมีการค้าขายระหว่างกัน แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่กลุ่มตอลิบานเข้ามายึดอำนาจไป พวกเขาจึงต้องใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า และโชคดีที่สถานทูตเป็นเจ้าของอาคารหลักและห้องพักของเจ้าหน้าที่ ทำให้ประหยัดค่าเช่าได้ อีกทั้งบรรดานักการทูตชาวอัฟกัน 21 คนที่อยู่ในเดลี, มุมไบ และไฮเดอราบัด ต่างลดค่าจ้างของตัวเองลงด้วย 

มามุนด์เซย์ กล่าวว่า พวกเขาติดต่อกับกลุ่มตอลิบานบ้าง ในขณะที่สถานทูกยังคงทำงานปกติ มีการออกวีซ่า ทำหนังสือเดินทางอยู่ และยังทำหน้าที่ตามกฎและนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าตามเดิม ทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศ ไม่รับคำสั่งจากกลุ่มตอลิบาน ขณะที่สมาชิกกลุ่มตอลิบานก็ต้องเดินทางด้วยหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐ เพราะประเทศต่างๆ ไม่รู้จักหนังสือเดินทางและเอกสารอื่นๆ ที่ออกโดยกลุ่มตอลิบาน 

แม้กลุ่มตอลิบานจะมีความพยายามเข้าควบคุมการทำงานของสถานทูต แต่ไม่สามารถทำได้ ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยด้านการเงิน เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานกำลังตกต่ำ การช่วยเหลือจากนานาประเทศลดลง และทรัพย์สินของประเทศถูกแช่แข็ง

สถานทูตในเดลี และสถานทูตส่วนใหญ่ในประเทศอื่นๆ จะยอมรับการควบคุมของรัฐบาลตอลิบานภายใต้เงื่อนไขเดียว คือ ตอลิบานต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ครอบคลุม หลากหลาย และให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ผู้หญิง เพราะตั้งแต่ที่้กลุ่มตอลิบานเข้ามา ระบุว่าจะใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นด้านสิทธิสตรี แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตอลิบานใช้มาตรการที่เข้มงวดหลายอย่างรวมถึงการกำหนดให้ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมหน้า

ทั้งนี้ ช่วง 10 เดือนที่กลุ่มตอลิบานเข้ายึดอำนาจ ทางกลุ่มได้ส่งเอกอัครราชทูตไปยัง 4 ประเทศเท่านั้น คือ รัสเซีย, ปากีสถาน, จีน และเติร์กเมนิสถาน แม้ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นจะยังไม่ยอมรับทางการทูตอย่างเป็นทางการก็ตาม 

ส่วนสถานเอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานในกรุงเดลี ประมาณการว่ามีชาวอัฟกันราว 100,000 คนอาศัยอยู่ในอินเดีย และในจำนวนนี้มีผู้ลี้ภัยประมาณ 30,000 - 35,000 คน และเกือบ 15,000 คนเป็นนักเรียน และในแต่ละวันสถานทูตต้องติดต่อกับกลุ่มตอลิบานในกรุงคาบูล เรื่องเอกสารสำหรับชาวอัฟกัน รวมถึงใบสำคัญต่างๆ เช่น ทะเบียนสมรส, ใบหย่า และการออกสูติบัติและใบมรณะบัตร และอีกสิ่งสำคัญคือ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของประเทศอัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,000 คน และอินเดียได้ส่งความช่วยเหลือไปยังกรุงคาบูลภายหลังเกิดแผ่นดินไหว ทางสถานทูตจึงต้องประสานงานกับสำนักงานต่างประเทศในกรุงคาบูลเพื่อส่งสิ่งของช่วยเหลือไป

มามุนด์เซย์ พูดทิ้งท้ายว่า พวกเขากำลังทำงานเพื่อแผ่นดินเกิด เพื่อประชาธิปไตย และนี่คือราคาเพียงเล็กน้อยที่ต้องจ่าย