"อาชีพสายการบิน คือโดนผลกระทบหนักมาก แต่รู้สึกเป็นอาชีพที่เขา รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจหรืออาจจะลืม" บิว - สาริศา ฐิตะโชติการ เจ้าของร้าน Why Serious กล่าวกับ 'ดิโอเพนเนอร์'
เมื่อมีไวรัสโคโรนาระบาดไปทั่วโลก คนที่ทำอาชีพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ สาริศา หรือ บิว แอร์โฮสเตสของสายการบินไชน่าแอร์ไลน์สของไต้หวัน ถูกบริษัทเรียกไปเซ็นสัญญาให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือ leave without pay เธอจึงตัดสินใจมาออกร้านขายสายคล้องหน้ากากและเครื่องประดับพร้อมกับขายบนออนไลน์
เธอเล่าว่า เธอเคยทำงานออฟฟิศก่อนที่จะมาเป็นแอร์โฮสเตส แล้วพบว่าไม่เหมาะกับตัวเอง จึงไม่อยากกลับไปสมัครงานอีก และเธอก็ยังหวังว่าเมื่อมีวัคซีนและเปิดประเทศแล้ว เธอจะได้กลับไปทำงานในสายการบินอีก เธอจึงตัดสินใจลองทำอะไรใหม่ๆ โดยเริ่มจากการออกแบบกระเป๋าขายออนไลน์ แต่ก็ขายได้ไม่ดีอย่างที่หวัง
“เริ่มช่วงประมาณ ส.ค.ปีที่แล้ว ก็เริ่มทำกระเป๋า เสร็จแล้วเราก็อยากออกหน้าร้าน เหมือนออนไลน์มันเงียบๆ อยากออกขายหน้าร้านดู ตอนแรกไปขาย ก็ขายเป็นกระเป๋าอย่างเดียวเลย เต็มโต๊ะ เงียบกริบ ไม่มีลูกค้าเลย เราก็เลยรู้สึกว่า เราต้องหาอะไรที่ราคามันถูกแล้วคนเข้าถึงได้”
เมื่อกระเป๋าขายไม่ดี บิวลองมองหาสินค้าที่จะราคาย่อมเยา เข้าถึงคนได้ง่าย และพบว่าสายคล้องหน้ากากเพิ่งจะเริ่มมีในไทย จึงไปรับมาขาย ปรากฎว่าวันแรกขายได้จนหมด จากนั้นก็รับมาขายเพิ่มอีก จนลองมาศึกษาดูแล้วพบว่าสามารถทำเองได้ จึงเลือกที่จะทำเอง เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนแบบและอะไหบ่ได้ตามชอบ อีกทั้งทำให้ลดต้นทุนได้ และควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้นอีกด้วย
โดยร้านของเธอมีจุดเด่นตรงที่มีจี้ให้เลือกเยอะและไม่เหมือนใคร ตอบโจทย์คนที่ต้องการสายคล้องหน้ากากเป็นไอเท็มแฟชั่น
::: ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล :::
บิวเปิดเผยว่า ตัวเธอเคยใช้สิทธิในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพียง 1 ครั้ง และไม่เคยได้รับสิทธิจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลเลย เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ก็ไม่เคยลงทะเบียนทัน
ขณะที่โครงการ “เราชนะ” ที่เป็นโครงการช่วยลดค่าครองชีพกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเธอ แต่เธอก็ไม่ได้สิทธินั้น เพราะรัฐใช้ฐานข้อมูลจากปี 2562
“ก็แอบตะหงิดใจนิดนึงว่าทำไมเขายึดจากฐานปี 62 ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่คนที่ตกงานมันคือในปี 63 หรือ 64 รู้สึกว่ามันเป็นเกณฑ์ที่แปลกๆ อยู่เหมือนกันเนอะในการวัดว่าจะช่วยคนคนหนึ่ง”
“อาชีพอย่างเรา อาชีพสายการบิน คือโดนผลกระทบหนักมาก แต่รู้สึกเป็นอาชีพที่เขา-รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจ หรืออาจจะลืม เผลอลืมหรือตกหล่นไป คือเหมือนเป็นกลุ่มที่เขาคิดว่ายังมีเงินที่จะอยู่ต่อได้มั้ง แต่มันก็มีหลายๆ คนที่เขามีภาระ เหมือนรายได้เขาเยอะมาแต่ก่อน เขาก็มีภาระที่เขาต้องจ่ายเยอะในแต่ละเดือนเหมือนกัน แต่สุดท้ายเขามาโดนตัดไป แล้วก็ไม่มีมาตรการอะไรรองรับเลย”
บางคนอาจมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา คนทำงานสายการบินเป็นคนที่มีรายได้สูงมาตลอด น่าจะมีเงินเก็บหรือไม่เดือดร้อนมากนัก แต่บิวมองว่า ภาระของแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้เคยมีเงินเดือนสูง แต่พอไม่มีงานแล้ว เงินเก็บก็ไม่เพียงพอกับภาระที่มีอยู่
“มีพี่ผู้หญิงเขาเป็นแอร์ แฟนเป็นนักบิน แล้วส่งลูกเรียนนานาชาติ ผ่อนบ้านกัน แล้วก็จบทั้งคู่ แล้วทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากจะไปต่อรองกับ อย่างกู้บ้านก็ต้องไปต่อรองกับธนาคารเอง ตัวเราเองก็เป็นคนผ่อนบ้าน ก็รู้สึกว่ารัฐไม่ได้เข้ามาดูอะไรตรงนี้เลย โดยส่วนตัวที่ผ่อนบ้านเองเนี่ย ตอนนี้ดอกเบี้ยก็แสนกว่าบาทแล้ว ที่ขอผ่อนผันมา เขาก็มีจดหมายมา ก็หลายแสนแล้ว แค่ดอกเบี้ยที่เราไปขอผ่อนผัน ก็ไม่เคยได้มาตรการอะไรเยียวยาตรงนี้เลย”
Blockdit: https://www.blockdit.com/articles/602bc5c7ba755a0bbba29b45